xs
xsm
sm
md
lg

8 ขั้นตอนรับมือขณะเกิดแผ่นดินไหว (ชมคลิป)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย..สิรวุฒิ รวีไชยวัฒน์

อุบัติภัยอย่างการเกิดแผ่นดินไหวสำหรับคนไทยแล้ว ดูเหมือนจะเป็นเรื่องไกลตัวไปสักนิด เพราะเมื่อเกิดแผ่นดินไหวทีไรมักจะมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่ประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่า หรืออินโดนีเซีย ซึ่งแรงสั่นสะเทือนส่งผลกระทบบ้างมาถึงประเทศไทย ซึ่งก็ไม่ถือว่ามากนัก หรือหากเกิดก็เกิดขึ้นบางจุด เช่น ภาคเหนือตอนบน หรือภาคตะวันตก แต่ก็เป็นเพียงการสั่นสะเทือนที่ไม่รุนแรงมากนัก เมื่อเทียบกับที่อื่นๆ
ผู้คนในห้างเซ็นทรัลเฟสติวัล เชียงใหม่ แตกตื่นออกมาอยู่ด้านนอกอาคาร หลังจากเหตุแผ่นดินไหว (ภาพจากทวิตเตอร์ @borilux) (แฟ้มภาพ)
และรูปการณ์เช่นนี้เองที่นำมาซึ่งความประมาท เพราะคนไทยมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว ไม่จำเป็นต้องเตรียมตัวอะไรมากนัก แต่ใช่ว่าประเทศไทยจะไม่มีวันเกิดแผ่นดินไหวเสียเมื่อไร

ก็ในเมื่อประเทศไทยยังมีแนวรอยเลื่อนมีพลังอยู่อีกหลายจุด ที่ไม่รู้ว่าเมื่อไรจะเป็นชนวนเหตุให้เกิดแผ่นดินไหวขึ้นมา ทั้งรอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ รอยเลื่อนแม่ยม รอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ รวมไปถึงรอยเลื่อนพะเยา ซึ่งเจ้ารอยเลื่อนพะเยานี้เองที่นักวิชาการคาดกันว่าเป็นสาเหตุให้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.3 ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่ อ.พาน จ.เชียงราย เมื่อวันที่ 5 พ.ค. ที่ผ่านมา



ดังนั้น การให้ความรู้เรื่องต่างๆ เกี่ยวกับการเกิดเหตุแผ่นดินไหว และการปฏิบัติตัวเพื่อรับมือและมีชีวิตรอดเมื่อเกิดเหตุขึ้นจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเมื่อถึงเวลาเกิดเหตุจริงๆ อาจส่งผลให้ปฏิบัติตัวไม่ถูกจนเกิดความโกลาหลขึ้นได้ ซึ่ง นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แนะนำว่า สิ่งแรกที่ต้องทำคือการเตรียมสติ เตรียมพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ ไม่ตื่นตระหนก จากนั้นพิจารณาหาข้อมูลดูว่าจุดที่เราอยู่นั้นเป็นจุดเสี่ยงหรือไม่ ซึ่งจุดเสี่ยงที่น่าเป็นห่วงที่สุดก็คือการอยู่บนตึกสูง สิ่งที่ต้องทำคือการออกไปยังพื้นที่โล่ง จึงจะเป็นทางที่ปลอดภัยกว่า เพราะจะมีหน่วยป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยให้การดูแล

"บทเรียนจากการเกิดแผ่นดินไหวคือ เราต้องมีการซักซ้อมเหตุแผ่นดินไหว โดยเฉพาะบริเวณที่มีโอกาสเกิดขึ้นมากคือภาคเหนือ และภาคตะวันตก ตามแนวรอยเลื่อนที่มีโอกาสเกิดแผ่นดินไหว ซึ่งการซักซ้อมอพยพไปยังที่ปลอดภัย จุดใดคือที่ปลอดภัย และต้องไปอย่างไรตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญ"

นอกจากคำแนะนำเบื้องต้นนี้ รองปลัด สธ. ยังมอบเอกสารขั้นตอนการปฏิบัติตัวรับมือแผ่นดินไหวไว้ให้ด้วย เพื่อเป็นความรู้ให้แก่ประชาชนทั่วไป ซึ่งองค์ความรู้นี้จัดทำโดยงานป้องกันควบคุมโรค สำนักงานสาะารณสุขจังหวัดพะเยา โดยการปฏิบัติตัวเพื่อรับมือแผ่นดินไหวสามารถทำได้ ดังนี้

ช่วงก่อนการเกิดแผ่นดินไหว
1. ควรมีไฟฉายพร้อมถ่านไฟฉาย และกระเป๋ายาเตรียมไว้ในบ้าน และให้ทุกคนทราบว่าอยู่ที่ไหน
2. ศึกษาการปฐมพยาบาลเบื้องต้น
3. ควรมีเครื่องมือดับเพลิงไว้ในบ้าน เช่น เครื่องดับเพลิง ถุงทราย เป็นต้น
4. ควรทราบตำแหน่งของวาล์วปิดน้ำ วาล์วปิดก๊าซ สะพานไฟฟ้า สำหรับตัดกระแสไฟฟ้า
5. อย่าวางสิ่งของหนักบนชั้นหรือหิ้งสูงๆ เมื่อแผ่นดินไหวอาจจะตกลงมาเป็นอันตรายได้
6. ผูกเครื่องใช้หนักๆ ให้แน่นกับพื้นผนังบ้าน
7. ควรมีการวางแผนเรื่องจุดนัดหมาย ในกรณีที่ต้องพลัดพรากจากกัน เพื่อมารวมตัวอีกครั้งในภายหลัง
และ 8. สร้างอาคารบ้านเรือนให้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่กำหนด สำหรับพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหว

ช่วงระหว่างเกิดแผ่นดินไหว
1. อย่าตื่นตกใจ พยายามควบคุมสติอยู่อย่างสงบ ถ้าอยู่ในบ้านก็ให้อยู่ในบ้าน หากอยู่นอกบ้านก็ให้อยู่นอกบ้าน เพราะการบาดเจ็บส่วนใหญ่เกิดจากการวิ่งเข้าออกจากบ้าน
2. ถ้าอยู่ในบ้านให้ยืนหรือหมอบอยู่ในส่วนของบ้านที่มีโครงสร้างแข็งแรง ที่สามารถรับน้ำหนักได้มาก และให้อยู่ห่างจากประตู ระเบียง และหน้าต่าง
3. หากอยู่ในอาคารสูง ควรตั้งสติให้มั่น และรีบออกจากอาคารโดยเร็ว หนีให้ห่างจากสิ่งที่จะล้มทับได้
4. ถ้าอยู่ในที่โล่งแจ้งให้อยู่ห่างจากเสาไฟฟ้าและสิ่งห้อยแขวนต่างๆ ที่ปลอดภัยภายนอกคือที่โล่งแจ้ง
5. อย่าใช้เทียน ไม้ขีดไฟ หรือสิ่งที่ทำให้เกิดเปลวหรือประกายไฟ เพราะอาจมีแก๊สรั่วอยู่บริเวณนั้น
6. ถ้ากำลังขับรถอยู่ ให้หยุดรถและอยู่ภายในรถ จนกระทั่งการสั่นสะเทือนจะหยุด
7. ห้ามใช้ลิฟต์โดยเด็ดขาดขณะเกิดแผ่นดินไหว
8. หากอยู่ชายหาดให้อยู่ห่างจากชายฝั่ง เพราะอาจเกิดคลื่นขนาดยักษ์ซัดเข้าหาฝั่งได้

ช่วงหลังเกิดแผ่นดินไหว
1. ควรตรวจตัวเองและคนข้างเคียงว่าได้รับบาดเจ็บหรือไม่ ให้ทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้นก่อน
2. ควรรีบออกจากอาคารที่เสียหายทันที เพราะหากเกิดแผ่นดินไหวตามมาอีก อาคารอาจพังทลายได้
3. ใส่รองเท้าหุ้มส้นเสมอ เพราะอาจมีเศษแก้วหรือวัสดุแหลมคมอื่นๆ และสิ่งหักพังแทงเท้า
4. ตรวจสายไฟ ท่อน้ำ ท่อแก๊ส ถ้าแก๊สรั่วให้ปิดวาล์วถังแก๊ส ยกสะพานไฟ อย่าจุดไม้ขีดไฟ หรือก่อไฟจนกว่าจะแน่ใจว่าไม่มีแก๊สรั่ว
5. ตรวจสอบว่า แก๊สรั่ว ด้วยการดมกลิ่นเท่านั้น ถ้าได้กลิ่นให้เปิดประตูหน้าต่างทุกบาน
6. ให้ออกจากบริเวณที่สายไฟขาด และวัสดุสายไฟพาดพิง
7. เปิดวิทยุฟังคำแนะนำฉุกเฉิน อย่าใช้โทรศัพท์นอกจากจำเป็นจริงๆ เนื่องจากอาจเกิดการแย่งช่องสัญญาณกัน ผู้ที่จำเป็นเร่งด่วนต้องการขอความช่วยเหลืออาจโทรศัพท์ไม่ติดได้ จึงขอให้ใช้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น
8. สำรวจดูความเสียหายของท่อส้วม และท่อน้ำทิ้งก่อนใช้
9. อย่าเป็นไทยมุงหรือเข้าไปในเขตที่มีความเสียหายสูงหรืออาคาร
และ 10.อ ย่าเผยแพร่ข่าวลือ

สำหรับการปฐมพยาบาลอาการบาดเจ็บจากเหตุแผ่นดินไหวนั้น นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) แนะนำว่า ส่วนใหญ่จะได้รับบาดเจ็บจากการถูกของแข็งตกกระทบ และอันตรายจากเศษแก้ว และเศษกระเบื้องที่แตกกระจาย ดังนั้น หากมีบาดแผลฉีกขาดจากการถูกของมีคมบาดให้รีบทำการห้ามเลือด โดยใช้ผ้าสะอาดหรือผ้าก๊อซปิดบาดแผลไว้ และควรสังเกตการเสียเลือดเพิ่มถ้าเลือดยังออกไม่หยุดให้ใช้ผ้ายืดพันพันทับอีกรอบ และในกรณีที่เกิดบาดแผลในบริเวณแขนหรือขาที่ไม่มีอาการกระดูกหักร่วมด้วยให้ยกส่วนนั้นขึ้นสูง

ส่วนกรณีที่ได้รับของแข็งตกกระทบที่ศีรษะให้ทำการห้ามเลือด โดยวิธีปิดแผลโดยตรงถ้าเลือดออกมากให้ใช้ผ้ายืดพันรัดและควรสังเกตอาการทางสมองควบคู่ไปด้วย เช่น ซึม พูดคุยสับสน ระดับความรู้สึกตัวลดลง ปวดศีรษะมาก อาเจียนพุ่ง

ส่วนแผลจากกระดูกหักกรณีที่ไม่มีบาดแผลเลือดออกให้ประคบด้วยน้ำแข็งบริเวณที่ปวดเพื่อลดอาหารปวดบวมจากนั้นให้ดามกระดูกโดยยึดตรึงส่วนที่หักให้อยู่นิ่งมากที่สุด ส่วนกรณีกระดูกหักและมีแผลเปิดจนเห็นกระดูกโผล่ห้ามดันกระดูกกลับเข้าที่เด็ดขาดให้ทำการห้ามเลือดเท่านั้น และหากพบว่าผู้ป่วยมีอาการบาดเจ็บรุนแรงให้รีบโทรแจ้งสายด่วน 1669 เพื่อขอความช่วยเหลืองทางการแพทย์




กำลังโหลดความคิดเห็น