xs
xsm
sm
md
lg

รู้ทัน รับมือ เหตุ “แผ่นดินไหว” ใกล้ตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อเหตุการณ์แผ่นดินไหวกลายเป็นเรื่องใกล้ตัวของคนไทยไปทุกทีแล้ว อย่างล่าสุดที่เกิดเหตุแผ่นดินไหวที่จังหวัดเชียงราย ขนาด 6.2 ตามมาตราแมกนิจูด โดย มีศูนย์กลางที่ อ.พาน จ.เชียงราย ใต้พื้นดิน 10 กิโลเมตร แรงสั่นสะเทือนรู้สึกได้ถึงจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ตลอดจนอาคารสูงบางแห่งในกรุงเทพฯ

นอกจากนั้น จากการศึกษาของกรมทรัพยากรธรณีสำรวจพบรอยเลื่อนมีพลังในไทยทั้งหมด 14 รอยเลื่อนซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคเหนือ และภาคใต้ โดยมีทิศการวางตัวและเคลื่อนที่ 3 แนวคือ 1.กลุ่มรอยเลื่อนที่วางตัวในแนวทิศตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ 2.กลุ่มรอยเลื่อนที่วางตัวในทิศตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ และ 3.กลุ่มรอยเลื่อนที่วางตัวอยู่ในทิศเหนือ-ใต้ ครอบคลุม 22 จังหวัดของไทย

ดังนั้น เราจึงควรเตรียมพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ทางธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต
ภาพความเสียหายหลังเกิดแผ่นดินไหว ซึ่งมีจุดศูนย์กลางที่ อ.พาน จ.เชียงราย วันที่ 5 พ.ค.57
กันไว้ก่อน ปลอดภัยกว่า

สิ่งแรกที่ตอนนี้เราควรจะเร่งมือทำแต่เนิ่นๆ คือ เรื่องของการตรวจสอบความปลอดภัยของที่พักอาศัย อาคารสำนักงาน ทั้งภายนอกและภายในก่อน เพื่อแก้ไขพื้นที่บางจุดที่ไม่ปลอดภัย และสามารถทำอันตรายได้ในขณะที่กำลังเกิดแผ่นดินไหว

การตรวจสอบความปลอดภัยภายนอกของบ้าน อย่างกำแพงรั้วต้องดูว่ามั่นคงแข็งแรงดีอยู่ไหม เริ่มเอน เริ่มรอยร้าวแล้วหรือเปล่า หลังคาบ้านเราเริ่มชำรุดหรือยัง มีจุดไหนที่เราคิดว่ายังไม่ปลอดภัยก็รีบซ่อมแซมเสียก่อน ส่วนคนที่ชอบวางกระถางต้นไม้ วางของไว้บนขอบระเบียงบ้านก็เปลี่ยนมาวางด้านล่างแทน เพื่อความปลอดภัยในชีวิต

เครื่องใช้ไฟฟ้า เฟอร์นิเจอร์ ที่อยู่ในบ้าน อะไรที่อยู่ชิดติดผนัง ก็ตอกยึดให้แน่นหนา เวลาเกิดแผ่นดินไหวจะได้ไม่ไถลมาล้มทับเราให้เจ็บตัว ส่วนข้าวของที่วางไว้ตามโต๊ะ ตามตู้ ก็เก็บให้เป็นระเบียบ และใช้หลัก “ของหนักวางไว้ที่ต่ำ ถ้าเป็นของเบาวางไว้ที่สูง” ถ้าบ้านใครมีชั้นวางหนังสือ ก็ให้เอาลวด เชือก หรือยางมาผูกกั้นไว้ป้องกันหนังสือกระเด็นกระดอนออกมา อะไรที่เกะกะขวางทางอยู่ตามทางเดิน หรือบันได กรุณาเก็บให้เรียบร้อย และจะดีที่สุดถ้าเก็บให้หมด ให้ทางเดินเข้า-ออกว่างโล่ง ส่วนบ้านไหนที่ยังมีงบเหลือก็อาจติดฟิล์มที่กระจกเผื่อไว้เวลาตอนกระจกแตกจะได้ไม่เสียหายมาก

บางคนที่พักอาศัยอยู่ในคอนโด อพาร์ตเมนท์ ถึงแม้ไม่ต้องไปตรวจสอบความปลอดภัยให้วุ่นวายมากนัก แต่ก็ใช่ว่าจะนิ่งนอนใจได้ ต้องเตรียมความพร้อมยามฉุกเฉิน เตรียมหาอุปกรณ์สำหรับงัด อย่างเช่นชะแลง กันไว้ในกรณีที่เปิดประตูเปิดออกไปไม่ได้ และเตรียมตุนเสบียงอาหารและน้ำไว้ด้วย สำหรับกรณีที่ไม่สามารถใช้น้ำ ใช้ไฟได้

อาคารสำนักงานต่างๆ ก็ต้องเตรียมความพร้อมด้วยเช่นกัน เพราะหากเกิดแผ่นดินไหวขณะเวลาทำงานจะเป็นเรื่องที่ลำบากมาก ดังนั้นจึงต้องตรวจสอบความแข็งแรงของตัวอาคารว่าสามารถรับแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวได้แค่ไหน จัดทำป้ายบอกทางออกฉุกเฉิน ทางหนีออกจากอาคาร จัดทำระบบเตือนภัยเมื่อเกิดเหตุแผ่นดินไหว การฝึกซ้อมการหนีภัย และต้องมีแผนกู้ภัย มาตรการรักษาความปลอดภัยแก่พนักงานเตรียมไว้รับมือด้วย

รับมืออย่างไร? เมื่อเกิดแผ่นดินไหว

ก่อนจะเกิดแผ่นดินไหว ไม่มีใคร หรืออะไรบอกเราล่วงหน้าได้ ดังนั้นสิ่งที่จำเป็นที่สุดคือต้องมีสติ สูดลมหายใจเข้าลึกๆ ไม่ต้องตื่นตระหนก แล้วนึกถึงข้อปฏิบัติดังกล่าวนี้

อยู่ในบ้าน ที่พักอาศัย ให้หลบใต้โต๊ะ หรือสิ่งที่สามารถป้องกันไม่ให้เราบาดเจ็บจากสิ่งของที่อาจตกหล่นลงมา อย่าจุดเตาแก๊ส แต่ถ้าหากจุดอยู่ก่อนแล้วให้รีบปิดโดยทันที

ขณะอยู่ในตึกสูง อาคารสำนักงานต่างๆ ห้างสรรพสินค้า ให้ออกห่างจากหน้าต่าง อย่าใช้ลิฟท์เป็นอันขาด ใช้วิธีเดินออกไปตามทางหนีไฟ หากติดอยู่ภายในลิฟท์ให้รีบกดปุ่มฉุกเฉินและโทรขอความช่วยเหลือ ถ้ามีเจ้าหน้าที่ประจำการอยู่ภายในอาคารให้ปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด

ขับรถอยู่ ต้องลดความเร็วและจอดข้างทาง แต่ไม่ต้องออกมาจากตัวรถ ปิดกระจก เปิดวิทยุเพื่อติดตามฟังข่าว ห้ามดับเครื่องยนต์ และที่สำคัญห้ามล็อครถอย่างเด็ดขาด

อยู่บนรถเมล์ รถไฟฟ้า ให้หาที่ยึดเกาะไว้เพื่อจะได้ไม่ล้มไปทับคนอื่นๆ ระวังสิ่งของที่อาจตกลงมาโดนศีรษะได้ ทำตามคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ และอย่าลงจากรถจนกว่าจะมีประกาศ

อยู่ในย่านชุมชน พื้นที่อยู่อาศัย ตามตรอกซอกซอยให้รีบเดินออกมายังพื้นที่ที่เปิดโล่ง เพื่อป้องกันตัวเองจากแผ่นหลังคา แผ่นป้ายที่อาจตกลงมา และยืนให้ห่างจากกำแพงหรือสิ่งอื่นๆที่คิดว่าสามารถจะหล่นและล้มลงมาได้

ต้องทำอย่างไร? หลังเหตุการณ์ผ่านไปแล้ว

เมื่อมั่นใจว่า แผ่นดินหยุดสั่นไหวแล้ว เราถึงควรจัดการความเสียหายต่างๆที่เกิดขึ้น รวมถึงดูแลตนเองด้วยว่าได้รับบาดเจ็บ มีบาดแผล จากสิ่งของที่หล่นใส่หรือเปล่า ก่อนจะช่วยเหลือดูแลครอบครัว เพื่อนบ้าน ต่อไป

พึงระลึกไว้เสมอว่า แผ่นดินไหวอาจไม่ได้เกิดครั้งเดียว แต่อาจมีอาฟเตอร์ช็อคสั่นประสาทเล็กๆ ตามมาด้วย ดังนั้นเมื่อเหตุแผ่นดินไหวคลี่คลายไปแล้วก็ควรติดตามข่าวสารอย่างต่อเนื่องจนแน่ชัดแล้วว่าเหตุการณ์กลับเข้าสู่ปกติจริงๆ เพื่อความปลอดภัยในชีวิตของเราเอง

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย
- ปกติคนเราสามารถมีชีวิตรอดอยู่ได้ 72 ชม เมื่อติดใต้ซากปรักหักพัง
- หากคิดว่า มีความเป็นไปได้ที่บ้านจะถล่มให้รีบอพยพไปยังที่ปลอดภัยทันที
- หากติดอยู่ในอาคารที่เกิดเพลิงไหม้ ให้ก้มต่ำที่สุด ปิดปากและจมูกด้วยผ้า
- เสบียงและอุปกรณ์ยามฉุกเฉินที่จำเป็น ได้แก่ น้ำดื่ม (3 ลิตร ต่อ 1 คน 1 วัน) อาหารสำเร็จรูป หรือของกินที่สามารถทานได้เลยอย่างเช่น ขนมปังกรอบ ไฟฉายและถ่าน วิทยุ ผ้าห่มหรือผ้าเช็ดตัว

ตามมา Follow Instagram และ Facebook Fanpage ของ "ASTV ผู้จัดการ Live" กันได้ที่นี่!!


กำลังโหลดความคิดเห็น