xs
xsm
sm
md
lg

ศธ.ย้ำ “ผู้นำ” เปลี่ยนการศึกษาก้าวเร็วกว่าโลกปัจจุบัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศธ.ฝาก “ผู้นำ” เปลี่ยนการศึกษาก้าวเร็วกว่าโลกปัจจุบัน ด้าน หมอประเวศ ขอผู้นำตามธรรมชาติ “ปฏิบัติเป็น” เห็นผล

สถาบันพัฒนาครู คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดโครงการผู้นำเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษา (Leadership for Education Change ; LED) รุ่นที่ 2 โดยมีเป้าหมายในการสร้างผู้นำรุ่นใหม่ด้านการศึกษา ที่มีกระบวนทัศน์ ทักษะ คุณธรรม จริยธรรม และศักยภาพในการทำงาน แบบรวมหมู่พร้อมเรียนรู้ร่วมกับผู้อื่นและภาคีเครือข่ายในการสร้างสรรค์พัฒนาและเปลี่ยนแปลงการศึกษาเพื่อสุขภาวะเด็กและเยาวชนที่มีคุณภาพ ซึ่งมีบุคลากรด้านการศึกษา ทั้งจากองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม NGO’s และภาคสื่อสารมวลชนเข้ารับการพัฒนากว่า 35 คน โดยมี ดร.สุเทพ ชิตยพงษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธานเปิดงาน และได้รับเกียรติจาก ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส เป็นองค์ปาฐก เรื่อง “ผู้นำแบบรวมหมู่” ที่สถาบันพัฒนาครู คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา จ.นครปฐม

ศ.นพ.ประเวศ กล่าวตอนหนึ่งว่า “การสร้างผู้นำ” ควรเป็นระเบียบวาระของชาติที่จะสร้างผู้นำในเรื่องต่างๆ ขึ้นมาจำนวนมาก เพราะพูดกันมานานมากเรื่องการสร้างผู้นำ ทุกวันนี้เราพยายามพัฒนาเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ศีลธรรมแต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะขาดพลังพลเมืองที่มีคุณภาพ ดังนั้น การสร้างพลังพลเมืองที่มีคุณภาพก็ต้องการผู้นำ โดยเฉพาะด้านการศึกษาเป็นภาคที่ใหญ่มาก การที่จะมีผู้นำการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาจึงเป็นเรื่องที่ดีและมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยผู้นำที่ดีควรเป็น “ผู้นำตามธรรมชาติ” ที่เกิดจากการปฏิบัติจริง เป็นคนที่เห็นแก่ส่วนรวม สุจริต ฉลาด มีปัญญาและสื่อสารเก่ง เช่น ผู้นำชุมชนมีคุณลักษณะเด่นที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติจากการทำงานร่วมกัน ทั้งนี้ ผู้ที่ถูกคัดเลือกมาเป็นผู้นำเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาต้องมีแง่มุมความเข้าใจต่อการเป็นผู้นำอย่าไปนิยามความหมายที่เป็นการตีกรอบที่แคบ ยึดติด แต่จงดูจากของจริงในการปฏิบัติ

“การศึกษาไทยกว่า 100 ปีที่ผ่านมา นำวิชาเป็นตัวตั้ง อาศัยการท่องจำ ไม่ได้นำการปฏิบัติเป็นตัวตั้ง จึงไม่เกิดผู้นำ เพราะการเรียนแบบท่องวิชาก็จะไม่รู้ว่าใครเป็นผู้นำ แต่เมื่อเกิดการทำงานร่วมกันเราก็จะเห็นว่าใครคือผู้นำ ดังนั้น จุดสำคัญอยู่ที่การปฏิบัตินี่คือหลักของพระพุทธศาสนา อีกทั้ง การศึกษาไม่ได้จำกัดที่ครู โรงเรียนอีกต่อไป เพราะเรื่องการเรียนรู้เป็นเรื่องของชีวิต การศึกษาจะต้องไม่แยกออกจากชีวิต การรวมตัวกันของภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคธุรกิจ ผู้บริหาร ครู มาสนับสนุนส่งเสริมเรื่องการจัดการศึกษานี่คือผู้นำแบบรวมหมู่ที่มาร่วมกันทำเรื่องดีๆ ถักทอกันทางสังคม ทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ ฉะนั้น ผู้นำตามธรรมชาติที่ผ่านการพิสูจน์ตนเองจากการทำงานร่วมกันจึงมีคุณภาพสูงมาก แต่จะทำอย่างไรให้ผู้นำที่จะเกิดขึ้นในชุมชนมีการต่อยอดแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยนำกระบวนการเรียนรู้ด้านการศึกษาไปเชื่อมโยงกับการพัฒนา และจัดตั้งผู้นำท้องถิ่น หากทำได้สำเร็จ จะเปลี่ยนแปลงเรื่องการศึกษาที่เน้นการท่องวิชา มาเป็นการศึกษาที่นำชีวิตเป็นตัวตั้ง” ศ.นพ.ประเวศ กล่าว

ดร.สุเทพ ชิตยพงษ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า ผู้นำเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาคือผู้ที่มีความสำคัญมากต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของประเทศชาติในปัจจุบัน เพราะขณะนี้ โลกกำลังเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งทุกอย่าง ดังนั้น จะต้องมองให้ไกลกว่าที่เป็นอยู่ ต้องตามโลกให้ทัน และไปไกลกว่าโลกปัจจุบัน การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 20 ที่ผ่านมาก้าวไม่ทันโลก เพราะเกิดการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด หลักสูตรเปลี่ยน นโยบายเปลี่ยน ฉะนั้น ทุกคนที่มีบทบาท ทั้งเขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหาร ครู อาจารย์ องค์กร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือกันในพื้นที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่รู้เท่าทัน ทั้งเรื่องนโยบายของ ศธ. การปฏิรูปการเรียนรู้ การพัฒนาบุคลากร คุณภาพการศึกษา การให้โอกาส ความเสมอภาค สุขภาพอนามัย ฯ ให้ลงไปถึงโรงเรียนให้มากที่สุด ซึ่งทุกคนต้องเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในทุกเรื่อง โดยเฉพาะการจัดการศึกษาให้ประสบความสำเร็จ เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ

“ผมพูดเสมอว่าถ้าท้องถิ่น หน่วยงานต่างๆ เข้ามาสนับสนุน การจัดการศึกษาของโรงเรียน เพื่อทำให้นักเรียน เป็นคนดีอยู่ในสังคมได้ ชุมชน สังคมก็จะมีความสุข ดังนั้น บทบาทของผู้บริหาร ครู อาจารย์ เด็กนักเรียน ต้องเปลี่ยนแปลง แต่คนที่จะเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงได้ จะต้องเป็น “ผู้ที่นำ” และ “สร้างภาวะ” การเปลี่ยนแปลงการศึกษาในศตวรรษที่ 21 พร้อมทั้งสร้างเครือข่ายความร่วมมือช่วยพัฒนาการศึกษาที่จะทำให้ท้องถิ่น สถานศึกษา เจริญงอกงาม” ดร.สุเทพ กล่าว

ด้าน ดร.เบญจลักษณ์ น้ำฟ้า ที่ปรึกษาด้านวิชาการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวถึงประสบการณ์ตนเอง ซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวที่เป็นแบบอย่างเรื่องความเป็นผู้นำในอาชีพครู โดยจุดเริ่มต้นของการเป็นครูมีแรงบันดาลใจจากพ่อและเป้าหมายการพัฒนาการศึกษาให้ผู้เรียน จากความเชื่อว่าต้องปรับการสอนตามความต้องการของผู้เรียน เพื่อให้ผู้เรียนรู้จักสิ่งที่จะไปเผชิญเมื่อเรียนจบ และปลูกจิตวิญญาณความรับผิดชอบของการเป็นครูแก่ผู้นำเหล่านี้ด้วย ดังนั้น เมื่อพบปัญหาควรวิเคราะห์และมองปัญหาให้ออกว่าควรแก้ไขตรงจุดไหน แล้วลงมือแก้ไขให้ตรงจุดถึงจะสามารถเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาได้สมบูรณ์ เช่น ปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ส่วนหนึ่งมาจากครูไม่ใส่ใจจึงอยากให้ผู้บริหารกระจายการทำงานให้ครูได้เข้าถึงตัวนักเรียนเพื่อให้เด็กสามารถนำไปพัฒนาตัวเองได้ ฉะนั้น ครูต้องคิดนอกกรอบทุ่มเทการสอนนักเรียน จัดตารางสอนให้แน่นด้วยคุณภาพจัดการทุกอย่างให้ลงตัว และมีความกล้าพอที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลง


ศ.นพ.ประเวศ วะสี
ดร.เบญจลักษณ์ น้ำฟ้า
กำลังโหลดความคิดเห็น