xs
xsm
sm
md
lg

ถึงเวลาปฏิรูปเรื่องภาวะผู้นำได้แล้ว !!/สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
ข่าวที่สร้างความฮือฮาต่อสังคมไทยอย่างมาก เพราะเป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นกับสังคมไทย
ก็คือเรื่องที่นายช็อง ฮง วอน นายกรัฐมนตรีเกาหลีใต้ ประกาศลาออกจากตำแหน่ง เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อกรณีที่รัฐบาลทำงานล่าช้าในเหตุการณ์เรือเฟอร์รี่ล่ม ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและผู้สูญหายจำนวนมาก และกลายเป็นประเด็นที่ถูกเชื่อมโยงมาถึงผู้นำในบ้านเรา
เราต้องยอมรับว่าประเทศไทยมีปัญหาเรื่องวิกฤตภาวะผู้นำ แทบจะในทุกระดับทุกหน่วยงานและองค์กรด้วย ทั้งที่เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก
ปัจจุบันเด็กและเยาวชนไทยส่วนใหญ่ใช้ชีวิตไหลไปตามกระแสค่านิยมสังคม ไม่กล้าแสดงความคิดเห็นในเรื่องที่แตกต่างจากคนส่วนใหญ่ ไม่กล้ายืนหยัดในสิ่งที่ถูกต้อง ขาดการมีส่วนร่วม และสิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ เด็กไทยรุ่นใหม่จำนวนมากไม่ต้องการเป็นผู้นำ เนื่องจากเคยชินกับการเป็นผู้ตามมากกว่า ซึ่งส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากการเลี้ยงดูของครอบครัวแบบประคบประหงมหรือสอนให้เชื่อฟังเป็นหลัก ในขณะที่ระบบการศึกษาก็สร้างเด็กให้คิดตามมากกว่าคิดสร้างสรรค์ และหลักสูตรที่ใช้ในโรงเรียนก็ขาดเนื้อหาที่สอนให้เด็กมีภาวะผู้นำแบบรูปธรรม
ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยต้องเอาจริงเอาจังเรื่องการสร้างผู้นำรุ่นใหม่ !!
เพราะภาวะผู้นำ เป็นรากฐานสำคัญที่นำไปสู่ความสำเร็จในชีวิตแทบจะทุกด้าน ครอบครัว การทำงาน และสังคมไทยก็ต้องการคนรุ่นใหม่ที่มีภาวะผู้นำเพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ
ปัจจุบันพ่อแม่จำนวนไม่น้อยที่มีความเข้าใจว่า ผู้นำ (leader) เป็นพรสวรรค์ที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด แต่ในความเป็นจริงทุกคนสามารถที่จะพัฒนาภาวะผู้นำ (leadership) ของตนเองได้ เพราะการพัฒนาภาวะผู้นำนั้นเป็นกระบวนการต่อเนื่องที่ต้องสั่งสมชีวิต ประสบการณ์ ความรู้ความเข้าใจ รวมไปถึงการถูกหล่อหลอมจากสภาพแวดล้อม และการฝึกฝนทักษะในด้านต่างๆ เป็นระยะเวลานาน
และคนที่ทำหน้าที่เหล่านี้ตั้งแต่ต้นทางได้ดีที่สุดก็คือพ่อแม่ ผู้ปกครอง ซึ่งสามารถสร้างภาวะผู้นำให้ลูกได้ตั้งแต่เล็ก
หนึ่ง ต้องสร้างมุมมองของการเป็นผู้นำที่ดี พ่อแม่ควรสอนมุมมองที่ถูกต้องเหมาะสมในการเป็นผู้นำให้ลูกได้เข้าใจ โดยอาจยกตัวอย่างจากข่าวสารบ้านเมือง บุคคลสำคัญ ภาพยนตร์ หนังสือ หรือบุคคลใกล้ชิดที่รู้จัก ฯลฯ และชี้ให้ลูกได้เห็นตัวอย่างการเป็นผู้นำที่ดีบ่อยๆ ปลูกฝังตั้งแต่เล็ก
สอง ต้องฝึกความรับผิดชอบให้ลูกตั้งแต่เล็ก พ่อแม่ควรฝึกให้ลูกรับผิดชอบสิ่งต่างๆ ตามวัยของลูกตั้งแต่เล็ก เริ่มจากเรื่องง่ายๆ และยากขึ้นเรื่อยๆ โดยเริ่มจากรับผิดชอบตัวเอง จากนั้นก็มอบหมายให้รับผิดชอบภายในบ้าน และขยายไปสู่รับผิดชอบต่อเรื่องอื่นๆ ที่ใหญ่ขึ้นสิ่งสำคัญต้องให้ลูกได้เรียนรู้ความหมายของคำว่ารับผิดชอบด้วย คือ ต้องรับผิด และรับชอบ มิใช่รับชอบอย่างเดียว แต่ไม่ยอมรับผิด เรียกว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการเป็นผู้นำที่ดี
สาม ต้องฝึกให้รับฟังผู้อื่น ยอมรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง และสามารถที่จะหาทางออก หรือมีข้อเสนอแนะที่จะทำให้การอยู่ร่วมกันของเพื่อนหรือของกลุ่ม ที่มีความคิดเห็นแตกต่างให้สามารถทำงานร่วมกัน หรือมีจุดกึ่งกลางที่จะทำงานร่วมกันได้
สี่ ต้องเรียนรู้บทบาททั้งการเป็นผู้นำและผู้ตาม ผู้นำไม่ใช่เฉพาะผู้ที่มีตำแหน่งนำหน้าเท่านั้น แต่ควรฝึกให้ลูกได้เรียนรู้ว่า ทุกคนสามารถสลับบทบาทกันได้ อาจยกสถานการณ์ในครอบครัว และส่งบทบาทให้ลูกได้มีโอกาสเป็นผู้นำ และในโอกาสต่อไปก็ให้เป็นผู้ตาม
ห้า ต้องฝึกให้รู้จักเสียสละ ผู้นำไม่ใช่ผู้ที่คอยใช้อำนาจสั่งให้คนทำตามใจตนเอง แต่ผู้นำคือผู้ที่คอยรับใช้ผู้อื่น ด้วยใจเสียสละ ภาวะความเป็นผู้นำขั้นสูงต้องมีเรื่องคุณธรรม จริยธรรมด้วย เมื่อรู้ว่าไม่สามารถจัดการปัญหาหรือแก้ไขปัญหา หรือตัวเองทำผิดพลาด ก็ควรต้องเสียสละด้วยการลาออกจากการเป็นผู้นำ เพื่อให้เพื่อนหรือกลุ่มได้มีโอกาสคัดเลือกผู้นำคนใหม่
หก  ต้องเป็นแบบอย่างที่ดี ในเมื่อจะสอนลูกให้มีภาวะผู้นำที่ดีก็ต้องปรับเปลี่ยนตัวเองให้ได้ซะก่อน เพราะการกระทำของพ่อแม่คือการสอนให้ลูกได้เรียนรู้ทางตรง
    ประการสุดท้าย การเป็นผู้นำที่ดี ต้องเหนื่อยกว่าผู้อื่น เพราะในความเป็นจริงแล้วการเป็นผู้นำ เท่ากับเป็นการฝึกฝนพัฒนาทักษะชีวิต ซึ่งท้ายสุดจะส่งผลให้กลายเป็นลักษณะนิสัยที่ดีติดตัวไปในระยะยาวไม่ว่าจะเป็นความมุ่งมั่นเอาจริงเอาจัง อดทนพากเพียรพยายาม ความรับผิดชอบในเรื่องต่างๆ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของคนที่ประสบความสำเร็จชีวิต
ท่ามกลางภาวะวิกฤตผู้นำ เป็นเรื่องที่คนเป็นพ่อแม่ต้องเร่งสร้างสิ่งเหล่านี้ตั้งแต่ลูกยังเล็ก
ถึงเวลาแล้วที่สังคมไทยต้องปฏิรูปเรื่องภาวะผู้นำกันบ้างแล้ว !!


กำลังโหลดความคิดเห็น