xs
xsm
sm
md
lg

ปลูกผมด้วยหุ่นยนต์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย...ผศ.นพ.รัฐพล ตวงทอง ภาควิชาตจวิทยา

แต่เดิมการผ่าตัดปลูกผมนั้น ต้องใช้บุคลากรเป็นจำนวนมาก และใช้เวลานานในการผ่าตัด ทำให้มีผู้ป่วยที่รอรับบริการอยู่เป็นจำนวนมาก

สำหรับการปลูกถ่ายเส้นผมที่ใช้กันมีอยู่ 2 วิธี คือ

1. วิธีมาตรฐาน (Strip harvesting follicular unit transplantation) ตัดหนังศีรษะออกเป็นแผ่น แล้วมาหั่นข้างนอกโดยใช้กล้องจุลทรรศน์ขยาย เพื่อให้ออกมาเป็นทีละกอผม (Follicular unit)

2. วิธีนี้ใช้เครื่องมือทำการเจาะ เรียกว่า FUE (Follicular unit extraction) โดยใช้หัวเจาะเล็ก ขนาดเส้นผ่า ศูนย์กลางประมาณ 1 มิลลิเมตร เจาะ และดึงกอผมออกมาทีละกอ (follicular unit)

และล่าสุด ได้มีการนำนวัตกรรมหุ่นยนต์เข้ามาช่วยปลูกถ่ายเส้นผม ข้อดีคือ มีความแม่นยำ รวดเร็วในการเจาะกอผมมากขึ้น จึงทำให้ใช้เวลาในการผ่าตัดและจำนวนบุคลากรทางการแพทย์น้อยลง ทั้งมีความปลอดภัย และลดผลแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้นตามมา

หุ่นยนต์แขนกล ประกอบด้วย กล้องสแกนองศาของรากผม มีหัวเจาะสำหรับเจาะโดยประมวลผลจากคอมพิวเตอร์ ช่วยให้แขนกลเข้าเจาะที่รากผมได้อย่างแม่นยำ มีประสิทธิภาพกว่าการใช้มือมนุษย์ ซึ่งอาจมีโอกาสพลาดได้ 3-20 เปอร์เซ็นต์ (Transection Rate) เมื่อเทียบกับการใช้หุ่นยนต์เจาะ Transection Rate โอกาสพลาดจะเหลือประมาณ 2-10 เปอร์เซ็นต์ หมายถึงมีโอกาสตัดขาดน้อย ไม่ทำให้เส้นผมเสีย จากนั้นนำกอผม ซึ่งมีเซลล์ต้นกำเนิดเส้นผม (Follicular stem cell) ออกมาทำการปลูกถ่ายบนหนังศีรษะ ซึ่งการเจาะกอผมเพื่อปลูกถ่ายได้เร็วขึ้น จะทำให้การผ่าตัดได้ผลดี เพราะรากผมที่นำออกมาจะมีช่วงอายุไม่เกิน 8 ชั่วโมง หากปลูกถ่ายได้ช้า เซลล์รากผมจะตาย ทำให้ประสิทธิภาพการปลูกถ่ายเส้นผมลดลง

อย่างไรก็ดี แม้จะมีการนำหุ่นยนต์มาใช้ปลูกผม แต่แพทย์ก็ยังมีหน้าที่ออกแบบวาดรอยผมว่า จะปลูกผมบริเวณใดและควบคุมเครื่องในการเจาะรู เพื่อฝังเส้นผมลงไปบนหนังศีรษะให้กับผู้ป่วย ซึ่งต้องอาศัยความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เพื่อให้ได้ผลการปลูกที่สวยงาม และหมดปัญหาเรื่องเส้นผมบนหนังศีรษะ

หลังการผ่าตัดปลูกผมแล้ว แผลจะหายเอง แต่ควรระวังอย่าให้โดนน้ำ จากนั้นจะมีเส้นผมที่หลุดร่วง และเริ่มเกิดเป็นเส้นผมแบบถาวรในช่วงเวลาประมาณ 3 เดือน และจะงอกเต็มที่ประมาณ 12-18 เดือน

------------------------------

พบกิจกรรมดีๆ ที่ศิริราช

ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ขอเชิญพ่อแม่ผู้ปกครองเด็กกลุ่มอาการดาวน์ร่วมงานพบปะสังสรรค์เด็กกลุ่มอาการดาวน์ ครั้งที่ 22 ในวันพฤหัสบดีที่ 8 พฤษภาคมนี้ เวลา 09.30 - 15.00 น. ณ ห้องจุฬาภรณ์ ตึกสยามินทร์ ชั้น 2 โรงพยาบาลศิริราช สอบถาม โทร. 0-2419-8414

ศูนย์เบาหวานศิริราช ร่วมกับ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ขอเชิญผู้สนใจร่วมอบรมโครงการค่ายเบาหวานสำหรับผู้เป็นเบาหวาน ชนิดที่ 2 วันที่ 16 พฤษภาคมนี้ ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ สอบถาม โทร. 0-2419-9568-9




กำลังโหลดความคิดเห็น