ศิริราชเปิดศูนย์ผ่าตัด SiTEC หวังฝึกแพทย์มีประสบการณ์ก่อนผ่าตัดคนไข้จริง เพิ่มความปลอดภัย เผยอาจารย์ใหญ่แบบแช่แข็งและแบบนุ่ม ลดการใช้ฟอร์มาลิน ได้ศพที่เหมือนมนุษย์จริงๆ เล็งผลิตเพิ่มปี 58 อีกอย่างละ 40 ร่าง
วันนี้ (24 เม.ย.) เมื่อเวลา 10.30 น. ที่ชั้น 4 อาคารศรีสวรินทิรา ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวระหว่างเป็นประธานเปิดศูนย์ฝึกอบรมทักษะหัตถการทางการแพทย์ศิริราช (Siriraj Training and Education Center for Clinical Skills: SiTEC) ว่า ศิริราชจัดตั้งศูนย์ SiTEC เพื่อเป็นศูนย์อบรมผ่าตัดและหัตถการทางการแพทย์ชั้นสูงในสาขาวิชาต่างๆ บนร่างมนุษย์ตามกายวิภาคจริงของผู้มีจิตกุศลร่างกายเป็นวิทยาทาน หรือที่เรียกว่าอาจารย์ใหญ่ สำหรับแพทย์ประจำบ้าน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง รวมถึงอาจารย์แพทย์ภายในและภายนอกคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เพื่อให้แพทย์มีประสบการณ์จริง เพราะที่ผ่านมามักจะทำหัตถการครั้งแรกในคนไข้ ซึ่งเราคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก จึงใช้ร่างอาจารย์ใหญ่แบบศพนุ่ม ซึ่งมีกายวิภาคเหมือนคนปกติมากที่สุด จะช่วยฝึกให้แพทย์มีความชำนาญในทุกเรื่อง
ศ.พญ.สุวรรณี สุรเศรณีวงศ์ ประธานศูนย์ SiTEC กล่าวว่า ศูนย์ SiTEC เป็นศูนย์ฝึกหัตถการผ่าตัดบนร่างอาจารย์ใหญ่ ทั้งศพแช่แข็ง และศพนุ่ม เพื่อฝึกอบรมให้แก่อาจารย์แพทย์ แพทย์ประจำบ้าน แพทย์ประจำบ้านต่อยอด รวมถึงให้บริการวิชาการทั้งภายในและภายนอกคณะฯ ทั้งนี้ ศิริราชได้ปรับปรุงพื้นที่ขนาด 1,000 ตารางเมตร ที่ชั้น 4 อาคารศรีสวรินทิรา โดยได้รบงบประมาณจากเงินศิริราชมูลนิธิ จำนวน 24.5 ล้านบาท โดยปรับปรุงพื้นที่ตั้งแต่ ก.ย. 2556 - เม.ย. 2557 ระยะเวลากว่า 6 เดือน ซึ่งภายในศูนย์ฯ ประกอบด้วยห้องฝึกผ่าตัดรวม 20 เตียง แบ่งเป็นห้องฝึกผ่าตัด 8 เตียง 2 ห้อง ห้องฝึกผ่าตัด 2 เตียง อีก 2 ห้อง มีห้องบรรยายขนาด 50 ที่นั่ง ห้องจัดเก็บร่างอาจารย์ใหญ่ พร้อมตู้เย็นอุณหภูมิ 0 องศาและลบ 20 องศาเซลเซียส ห้องเตรียมร่างอาจารย์ใหญ่ พร้อมเตียงผ่าศพ และระบบโสตทัศนูปกรณ์ภายในศูนย์ฯ เพื่อถ่ายทอดการฝึกอบรมและสาธิตการผ่าตัด โดยสามารถคอนเฟอเรนซ์ไปยังสถาบันอื่นๆ และต่างประเทศได้
ศ.พญ.สุวรรณี กล่าวอีกว่า สำหรับอุปกรณ์และเครื่องมือแพทย์ ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากงบประมาณแผ่นดินกว่า 60 ล้านบาท และศิริราชมูลริธิ 36 ล้านบาท จัดหาอุปกรณ์ผ่าตัดต่างๆ เช่น เครื่องผ่าตัดด้วยวิธีการส่องกล้อง ชุด Training box และเครื่อง Simulators สำหรับฝึกผ่าตัดทางศัลยศาสตร์สาขาต่างๆ ชุดหุ่นจำลองฝึกทักษะ การใส่สายสวนเพื่อการรักษาโรคหลอดเลือดสมองเสมือนจริง ห้องฝึกผ่าตัดจุลศัลยกรรม 10 โต๊ะ เป็นต้น นอกจากนี้ ศูนย์ฯ ยังได้รับความร่วมมือจากภาควิชากายวิภาคศาสตร์ ที่พัฒนาอาจารย์ใหญ่ชนิดศพนุ่ม ซึ่งทีมวิจัยได้เดินทางไปศึกษาดูงานจากอังกฤษและสวิตเซอร์แลนด์ โดยได้ปรับสูตรน้ำยาและกระบวนการเตรียมร่างให้เหมาะสมกับสภาพเมืองไทย จนมีความสมบูรณ์เสมือนจริงมากยิ่งขึ้น
ด้าน นพ.ปกรณ์ แสงฉาย อาจารย์ประจำภาควิชากายวิภาคศาสตร์ กล่าวว่า ภาควิชาฯสามารถพัฒนาร่างอาจารย์ใหญ่ได้ครั้งแรกเมื่อ พ.ย.2555 จนถึงปัจจุบันสามารถผลิตได้จำนวน 25 ร่าง ซึ่งมีการนำออกมาใช้แล้วจำนวน 4 ร่าง ซึ่งในปี 2558 เราจะผลิตเพิ่มให้ได้อีก 40 ร่าง โดยวางแผนการผลิตคือ จากผู้แสดงความจำนงขอบริจาคร่างเป็นอาจารย์ใหญ่มีประมาณ 2 พันรายต่อปี แต่สามารถผลิตได้เพียงปีละ 300 ร่าง โดย 120 ร่างจะนำมาใช้ในการเรียนการสอนกายวิภาคศาสตร์ อีก 100 ร่าง ผลิตแล้วส่งออกไปยังสถาบันการแพทย์อื่นหรือโรงเรียนแพทย์ที่ผลิตอาจารย์ใหญ่เองไม่ได้ ส่วนอีกประมาณ 80 ร่างจะนำมาผลิตอาจารย์ใหญ่แบบแช่แข็งและแบบนุ่มอย่างละครึ่งคือประมาณ 40 ร่าง ซึ่งสาเหตุที่หันมาผลิตอาจารย์ใหญ่แบบแช่แข็งและแบบนุ่มคือต้องการลดการใช้ฟอร์มาลีน ซึ่งอาจเป็นสารก่อมะเร็ง และทำให้ผู้ช้ร่างอาจารย์ใหญ่เกิดอาการระคายเคืองจมูก โดยอาจารย์ใหญ่แบบแช่แข็งไม่มีการใช้ฟอร์มาลีนเลย โดยนำร่างอาจารย์ใหญ่ไปแช่แข็งในตู้แช่ที่อุณหภูมิ -20 องศาเซลเซียส ส่วนอาจารย์ใหญ่แบบนุ่มใช้ฟอร์มาลีนเพียง 2% ต่างจากแบบเดิมที่ใช้ฟอร์มาลีนถึง 10%
“ อาจารย์ใหญ่แบบเดิมจะฉีดน้ำยาที่มีส่วนผสมของฟอร์มาลินประมาณ 10% จากนั้นนำไปลงบ่อดองประมาณ 2 ปีจึงนำมาใช้ได้ ข้อดีคือค่าใช้จ่ายต่อร่างต่ำสุด เก็บไว้ได้นานตลอดปีการศึกษาหรือถึง 1 ปีกว่า แต่ข้อเสียคือร่างแข็ง ผิวหนัง ข้อต่อ เส้นเอ็น กล้ามเนื้อไม่ยืดหยุ่น จึงคิดผลิตอาจารย์ใหญ่แบบแช่แข็งและแบบนุ่มตามมา โดยอาจารย์ใหญ่แบบแช่แข็ง เมื่อเสียผู้บริจาคเสียชีวิตแล้วจะต้องตรวจเลือดก่อน 3 อย่างคือ เอชไอวี ไวรัสตับอักเสบบี และซี หากผลเป็นลบก็จะนำไปแช่แข็งทันที ในอุณหภูมิ 320 องศา เมื่อแช่แข็งเลือดก็จะแข็งตัวหมด ก่อนนำมาใช้ต้องนำมาละลายก่อน 3 วัน เลือดก็จะละลายเป็นของเหลวเหมือนเดิม ทำให้ศพเหมือนมนุษย์มากที่สุด แต่การเก็บรักษาไม่นานคือประมาณ 3 เดือนหลังจากนำมาใช้ครั้งแรก และแบบศพนุ่มหลังฉดน้ำยาเข้าร่างที่มีฟอร์มาลิน 2% จะนำไปแช่ในแท็งก์ประมาณ 3 เดือนจึงจะใช้ได้ แต่ข้อดีคือสามารถเก็บรักษาได้นานกว่า 2 ปีหลังจากนำออกมาใช้ครั้งแรก” นพ.ปกรณ์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พิธีเปิดศูนย์ SiTEC ได้มีการแสดงสาธิตการผ่าตัดอาจารย์ใหญ่แบบนุ่มและแบบแช่แข็งด้วย