xs
xsm
sm
md
lg

“จาตุรนต์” หนุน สพฐ.ใช้แบบเรียนเร็วใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“อ๋อย” หนุน สพฐ. ใช้แบบเรียนเร็วใหม่แก้ปัญหาอ่านออกเขียนไม่ได้

นายจาตุรนต์ ฉายแสง รักษาการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวถึงกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เตรียมนำแบบเรียนเร็วใหม่ ระดับต้น ระดับกลาง และปลาย ของหลวงดรุณกิจวิทูร และนายฉันท์ ขำวิไล มาใช้เป็นแบบเรียนสำหรับเด็กช่วงชั้นที่ 1 ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาปีที่ 1, 2 และ 3 ซึ่งเป็นแบบเรียนฝึกสะกดคำและได้รับอนุญาตให้ใช้เป็นแบบเรียนในโรงเรียนมาแล้วตั้งแต่ราวปี 2477 โดยการนำแบบเรียนดังกล่าวมาใช้เพื่อให้เด็กอ่านออก เขียนได้ เนื่องจากปัจจุบันโรงเรียนไม่เน้นการสอนแบบแจกคำแล้ว แต่เน้นให้เด็กท่องจำเป็นคำๆ ทำให้เมื่อเจอศัพท์ใหม่ จึงไม่สามารถอ่านประโยคนั้นได้ ว่า การนำแบบเรียนเร็วใหม่ กลับมาใช้เป็นผลจากที่ สพฐ. ได้ไปสแกนการอ่าน ออก เขียนได้ของเด็กทั่วประเทศ และพบว่าเด็ก ป.3 และ ป.6 อ่านหนังสือไม่ออกจำนวนมาก และอยู่ในช่วงปรับปรุงถึง 200,000 กว่าคน ทำให้เขตพื้นที่ฯ และโรงเรียนพยายามหาวิธีการปรับการสอนภาษาไทย ซึ่งมีทั้งการสอนแบบเข้มข้น การแยกเด็กออกมาสอนต่างหาก การสอนพิเศษเพิ่มเติม ขณะเดียวกันยังพบปัญหาว่าหลักสูตรมีกลุ่มสาระวิชามากเกินไป ต่อไปคงต้องมาพิจารณาทบทวนลดกลุ่มสาระที่สอนสำหรับเด็กเล็ก เพื่อให้มีเวลาสำหรับเรียนภาษาไทย หรือวิชาอื่นเช่น คณิตศาสตร์ เพิ่มมากขึ้น

“ในระยะ 20 ปีที่ผ่านมาได้มีการเปลี่ยนวิธีการสอนจากการสอนให้สะกดคำ และแจกลูก มาเป็นจำเป็นคำๆ ซึ่งต่อมาครูก็ค้นพบว่า วิธีการสอนให้เด็กจำ ทำให้เด็กอ่านสะกดไม่เป็น จึงย้อนเอาวิธีการสอนให้สะกดมาใช้ ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าที่ผ่านมาหลักสูตรมีความโน้มเอียงไปอย่างไร จึงไม่สอนให้เด็กสะกดคำ ทั้งที่ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ ต้องเรียนแบบสะกด ดังนั้นการที่ สพฐ. นำการเรียนแบบสะกดมาใช้จึงเป็นเรื่องที่ควรส่งเสริม ขณะเดียวกันการแก้ปัญหาเรื่องการเรียนการสอนภาษาไทย ยังมีมากกว่านี้ ทั้งการสอนให้เด็กสนใจ คิดเป็น แต่งประโยชน์เป็น รวมถึงต้องโยงไปถึงการทดสอบวัดผลภาษาไทย การกำหนดเนื้อหาให้สอดคล้องกับการเรียนภาษาแม่ และการวัดความรู้หรือสมรรถนะภาษาไทยในฐานะที่เป็นภาษาแม่ด้วย การนำแบบเรียนเร็วใหม่กลับมาใช้ดูเหมือนเป็นการย้อนยุค แต่ความจริงไม่ใช่เพราะเป็นเรื่องเทคนิค ความรู้พื้นฐานที่ทุกคนต้องเรียน” นายจาตุรนต์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น