ฟุ้งปี 56 พัฒนาทักษะฝีมือลูกจ้างกว่า 4.5 ล้านคน ทะลุเป้าที่วางไว้แต่ละปีแค่กว่า 3.2 ล้านคน เผยสถานประกอบขนาดใหญ่ยังจัดอบรมลูกจ้างต่ำกว่าเกณฑ์ ชี้ต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนพัฒนาฝีมือแรงงานกว่า 57 ล้านบาททดแทน ยันไม่ได้ต้องการเงินแต่อยากเห็นการพัฒนาฝีมือแรงงาน พร้อมสั่ง สพภ. และ ศพจ. ลงพื้นที่สร้างความเข้าใจถึงประโยชน์
นายนคร ศิลปอาชา อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กพร. มีนโยบายส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานโดยแนวทางการดำเนินการส่วนหนึ่งสนับสนุนให้สถานประกอบการดำเนินการพัฒนาฝีมือตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 โดยในปี 2556 มีสถานประกอบการที่ดำเนินการจัดอบรมพัฒนาฝีมือแรงงานได้ตามเกณฑ์จำนวน 3,212 แห่ง และลูกจ้างจำนวนกว่า 4.5 ล้านคน ซึ่งสูงกว่าที่ กพร. ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะสนับสนุนให้สถานประกอบการพัฒนาฝีมือแรงงานให้ได้ปีละไม่ต่ำกว่า 3.2 ล้านคน นอกจากนี้ มีสถานประกอบการที่ไม่จัดฝึกอบรมให้แก่ลูกจ้างหรือจัดให้มีการฝึกอบรมน้อยกว่าสัดส่วนร้อยละ 50 ของลูกจ้างทั้งหมด เพราะฉะนั้นจะต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนพัฒนาฝีมือแรงงานกว่า 57 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นสถานประกอบการขนาดใหญ่ในจังหวัดต่างๆ เช่น สมุทรปราการ ชลบุรี ระยอง ทำให้ในปีนี้กองทุนฯมีเงินสะสมและทรัพย์สินรวมมูลค่า 1,000 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้เป็นเงินสะสมประมาณ 600 ล้านบาท
“การสนับสนุนให้สถานประกอบการดำเนินการพัฒนาฝีมือลูกจ้างตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมพัฒนาฝีมือแรงงานในปีที่ผ่านมาของ กพร. ถือว่าประสบความสำเร็จเพราะสูงกว่าเป้าหมายที่วางไว้ ส่วนการที่สถานประกอบการที่จัดอบรมพัฒนาฝีมือลูกจ้างไม่ถึงร้อยละ 50 ของลูกจ้างทั้งหมด ทำให้ต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนฯ นั้น กพร. ไม่ได้ต้องการเงินสมทบเข้ากองทุนฯ แต่อยากเห็นการที่สถานประกอบการเร่งพัฒนาฝีมือลูกจ้างเพราะเป็นประโยชน์ต่อสถานประกอบการและแรงงานมากกว่า จึงได้สั่งการให้สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานภาค (สพภ.) และศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัด (ศพจ.) ให้ลงพื้นที่ไปสร้างความรู้ความเข้าใจให้สถานประกอบการในพื้นที่ได้เห็นถึงประโยชน์ของการพัฒนาทักษะฝีมือลูกจ้าง หากไม่มีงบพัฒนาฝีมือก็สามารถกู้เงินกองทุนฯ กับ กพร. ได้ และสามารถนำค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมพัฒนาฝีมือลูกจ้างทั้งหมดมาขอลดหย่อนภาษีได้ถึง 2 เท่าของค่าใช้จ่ายทั้งหมด” อธิบดี กพร. กล่าว