xs
xsm
sm
md
lg

โยนแรงงานไทยกลับประเทศ 52 ราย ติดโรคเพียบ-ใช้สารเสพติด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศตรวจสุขภาพไม่ผ่าน 52 ราย พบไต้หวัน-ตะวันออกกลาง-เกาหลีใต้มากสุด ส่วนใหญ่ป่วยเป็นวัณโรค ไวรัสตับอักเสบ ซิฟิลิส ความดันโลหิตสูง เอดส์ มีอาการทางจิต พบสารเสพติดในร่างกาย ด้าน กกจ.เดินหน้าปรับปรุงกฎหมายเข้มมาตรฐาน รพ.บริการตรวจ พร้อมเพิ่มตรวจหาสารเสพติดในร่างกาย ชี้ไม่เข้าข่ายละเมิดสิทธิส่วนบุคคลตามรัฐธรรมนูญ

นายวินัย ลู่วิโรจน์ รองอธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กกจ.ได้กำหนดให้แรงงานไทยที่จะเดินทางไปทำงานต่างประเทศ จะต้องผ่านตรวจสุขภาพก่อนเดินทางโดยจะต้องไม่ป่วยเป็นโรคที่ประเทศจะไปทำงานกำหนด ซึ่งปัจจุบันมีสถานพยาบาลที่ให้บริการตรวจสุขภาพแรงงานไทยโดยกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ให้การรับรองและแจ้งมายัง กกจ.ทั้งหมด 83 แห่ง และในจำนวนนี้มีสถานพยาบาลที่แรงงานไทยไปใช้บริการตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ 47 แห่ง ซึ่งผลการตรวจสุขภาพของแรงงานไทยก่อนเดินทางไปทำงานต่างประเทศในปี 2556 พบว่า มีแรงงานไทยผ่านการตรวจ 39,916 คน และไม่ผ่านการตรวจเป็นชาย 1,814 คน และหญิง 343 คน ส่วนใหญ่ป่วยเป็นโรคปอด วัณโรคปอด ไวรัสตับอักเสบ ซิฟิลิส ความดันโลหิตสูง ทำให้ไม่สามารถเดินทางไปทำงานต่างประเทศได้เพราะคุณสมบัติไม่ผ่านตามเกณฑ์ที่กำหนด
 
รองอธิบดี กกจ.กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มแรงงานไทยซึ่งเดินทางไปทำงานต่างประเทศเรียบร้อยแล้วแต่ถูกส่งตัวกลับ เนื่องจากไม่ผ่านการตรวจสุขภาพจากประเทศที่เดินทางไปทำงาน ซึ่งในช่วงตั้งแต่เดือน ต.ค.2555-ก.ย.2556 พบว่า มีแรงงานไทยจำนวน 52 คน ที่ถูกส่งกลับจากต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศไต้หวันมากที่สุด รองลงมาประเทศแถบตะวันออกกลางและเกาหลีใต้ ส่วนใหญ่ตรวจพบว่าเป็นวัณโรคปอด ไวรัสตับอักเสบเอ บี ซี ซิฟิลิส ความดันโลหิตสูง เอชไอวี มีอาการทางจิต และพบสารเสพติดในร่างกาย ทำให้กองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานต่างประเทศต้องจ่ายเงินช่วยเหลือไปกว่า 1.1 ล้านบาท อีกทั้งแรงงานไทยกลุ่มนี้ก็ได้เสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปแล้ว แต่กลับไม่ได้ทำงาน
 
“กกจ.จะแก้ปัญหาในเรื่องนี้โดยจะปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวกับสถานพยาบาลที่จะให้บริการตรวจสุขภาพแรงงานไทย โดยจะไม่ยึดเรื่องของขนาดสถานพยาบาลว่ามีกี่เตียง แต่จะเน้นเรื่องศักยภาพและมาตรฐานการตรวจให้เข้มข้นมากขึ้น รวมทั้งจะเพิ่มในเรื่องการให้ตรวจหาสารเสพติดด้วยโดย กกจ.ได้ตรวจสอบในแง่กฎหมายแล้วพบว่าไม่เป็นการละเมิดสิทธิบุคคลตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ แต่ กกจ.จะต้องแก้ไขกฎหมายเรื่องการตรวจสุขภาพแรงงานไทยที่จะเดินทางไปทำงานต่างประเทศให้เรียบร้อยก่อนคาดว่าคงใช้เวลาภายใน 1-2 เดือน เพราะเรื่องที่สามารถดำเนินการได้ในระดับกรม หลังจากนั้น จะประสานไปยังกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ขอให้ตรวจสอบมาตรฐานและศักยภาพสถานพยาบาลที่จะให้บริการตรวจสุขภาพแรงงานไทยตามกฎหมายที่ได้ปรับปรุง”นายวินัย กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น