xs
xsm
sm
md
lg

บริจาคเลือดตนเองก่อนผ่าตัด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อ.พญ. เจนจิรา กิตติวรภัทร

ภาควิชาเวชศาสตร์การธนาคารเลือด



การเข้ารับการผ่าตัด นับเป็นการรักษาที่ต้องมีการเตรียมตัวเป็นอย่างดี ซึ่งการเตรียมเลือดเพื่อใช้ในการผ่าตัดเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ต้องคำนึงถึง โดยเฉพาะการบริจาคเลือดให้ตนเอง

​บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ท่านผู้อ่านเข้าใจในความสำคัญ ประโยชน์ ตลอดจนข้อจำกัดของการบริจาคเลือดสำหรับตนเองเพื่อเตรียมในกรณีที่จะต้องใช้ก่อนผ่าตัด

เราจะเก็บเลือดตนเองไว้ใช้เมื่อใด

การเจาะเก็บเลือดไว้ใช้ จะทำต่อเมื่อแพทย์ผู้ทำการผ่าตัดมีคำสั่งและแพทย์ธนาคารเลือดเห็นชอบ รวมทั้งตัวผู้ป่วยให้ความยินยอม ซึ่งมักจะทำในกรณีต่อไปนี้

1. เป็นการผ่าตัดที่มีเวลาเตรียมผู้ป่วย เนื่องจากต้องให้เวลาในการพักฟื้นหลังการบริจาคเลือดอย่างน้อย 3 วันก่อนการผ่าตัด

2. เป็นการผ่าตัดที่คาดว่าผู้ป่วยจะเสียเลือดมาก มักเป็นการผ่าตัดใหญ่ เช่น การผ่าตัดโรคกระดูกสันหลัง การผ่าตัดหลอดเลือด หรือในอวัยวะที่มีเลือดมาเลี้ยงมาก เช่น ต่อมไทรอยด์ เป็นต้น

3. กรณีที่ผู้ป่วยเป็นผู้ที่มีหมู่เลือดหายากหรือไม่สามารถหาผู้บริจาคที่มีเลือดเข้ากันได้

ข้อดีและข้อจำกัดของการใช้เลือดตนเอง

การได้รับเลือดนับเป็นการรักษาที่มีทั้งประโยชน์และมีความเสี่ยง ที่แม้จะพยายามป้องกันเต็มที่แต่ยังมีโอกาสเกิดขึ้นได้ การใช้เลือดของตนเองมีข้อดีในการลดความเสี่ยงนั้นๆ ไปได้บ้าง เช่น ลดโอกาสติดเชื้อบางชนิด ได้แก่ เชื้อไวรัสตับอักเสบ โรคซิฟิลิสและโรคเอดส์ รวมทั้งลดการสร้างสารต่อต้านต่อเลือดผู้อื่น

เนื่องจากการคัดเลือกผู้บริจาคจะต่างจากการบริจาคเลือดโดยทั่วไป เพราะมุ่งคำนึงถึงผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริจาค ซึ่งคือตัวผู้ป่วยเองเป็นหลัก โดยมีเกณฑ์ดังนี้

1. ต้องมีคำสั่งการรักษาจากแพทย์เจ้าของไข้ และผ่านความเห็นชอบของแพทย์ธนาคารเลือด

2. ระดับความเข้มข้นเลือดแดง (Hemoglobin level)≥ 11 กรัม/ดล.หรือ ฮีมาโตคริต ≥ 33%

3. กำหนดให้ความถี่ของการบริจาคเลือดแต่ละถุงต้องห่างกันอย่างน้อย 7 วัน และการบริจาคครั้งสุดท้ายต้องห่างจากการผ่าตัดหรือหัตถการอย่างน้อย 72 ชั่วโมง

4. หากท่านเป็นโรคที่อาจมีอันตรายจากการเจาะเก็บเลือด เช่น โรคหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจอุดตัน หรือโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะบางชนิด ทางธนาคารเลือดจะคำนึงถึงความปลอดภัยของท่านเป็นหลัก จึงต้องงดการบริจาคเลือด

5. ผู้ป่วยต้องไม่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อในกระแสเลือดขณะบริจาคเลือด

6. เกณฑ์อื่นๆ พิจารณาตามเกณฑ์คัดเลือกผู้บริจาคเลือดตามปกติ

​จากนั้นธนาคารเลือดจะดำเนินการตรวจหมู่เลือดและการติดเชื้อตามขั้นตอนปกติ และจะแจ้งให้แพทย์เจ้าของไข้ทราบ หากตรวจพบสิ่งผิดปกติ โดยที่เลือดถุงนี้จะไม่จ่ายให้กับผู้ป่วยรายอื่นเด็ดขาด และถ้าเจ้าตัวไม่ใช้ เลือดจะถูกทำลายเมื่อหมดอายุ หรือบริหารจัดการตามนโยบายของธนาคารเลือดแต่ละแห่ง

----------------

พบกิจกรรมดีๆ ที่ศิริราช

สถานวิทยามะเร็งศิริราช และภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล ขอเชิญประชาชนทั่วไปร่วมงาน “มะเร็งกับมนุษย์” ในนิทรรศการสัปดาห์วันมะเร็งโลก วันที่ 4-7 ก.พ. 57 เวลา 09.00-15.00 น.ณ โถงอาคาร ๑๐๐ ปี สมเด็จพระศรีนครินทร์ รพ.ศิริราช สอบถาม โทร. 0 2419 4471-2, 0 2419 6793


กำลังโหลดความคิดเห็น