xs
xsm
sm
md
lg

ย้าย “คลินิกชายรักชาย” ไป รพ.เวชศาสตร์ฯ ตรวจเอดส์ฟรี ไม่เปิดเผยชื่อจริง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“คลินิกชุมชนสีลม” ย้ายบ้านใหม่ไปชั้น 12 รพ.เวชศาสตร์เขตร้อน ม.มหิดล ให้บริการปรึกษา ตรวจเลือด และรักษาการติดเชื้อเอชไอวีของกลุ่มชายรักชาย แบบไม่คิดค่าบริการและไม่เปิดเผยชื่อจริง พร้อมเดินหน้าวิจัยอีก 3 โครงการ
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังเปิดคลินิกชุมชนสีลม@ทรอปเมด ร่วมกับศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐฯ และ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อพัฒนารูปแบบคลินิกสำหรับการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ให้บริการปรึกษา ตรวจเลือด และรักษา โดยไม่คิดค่าบริการและไม่เปิดเผยชื่อจริง ว่า กลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายมีอัตราการติดเชื้อเอชไอวีเพิ่มขึ้น ซึ่งศูนย์ความร่วมมือ ไทย-สหรัฐฯ ด้านสาธารณสุข (ทียูซี) ได้สำรวจความชุกของการติดเชื้อเอชไอวีในกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายในกรุงเทพมหานคร พบอัตราการติดเชื้อสูง ร้อยละ 17 ในปี 2546 และมีแนวโน้มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 31 ในปี 2553 และในช่วงเวลาเดียวกันพบความชุกของการติดเชื้อซิฟิลิสสูงขึ้นจากร้อยละ 5.0 เป็นร้อยละ 12.5 ส่วนการติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่สูงขึ้นจาก 2.8 คนต่อประชากร 100 คนต่อปี เป็น 7.9 คนต่อประชากร 100 คนต่อปี

นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า การเพิ่มขึ้นของการติดเชื้อดังกล่าว เป็นผลจากการมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ป้องกันทางทวารหนัก ซึ่งเป็นช่องทางหลักของการถ่ายทอดเชื้อในกลุ่มนี้ ทียูซีจึงได้จัดตั้ง “คลินิกชุมชนสีลม” ขึ้น ณ โรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน ถนนสีลม ต่อมา ก.ย. 2554 คลินิกชุมชนสีลมได้เริ่มดำเนินงานโครงการความร่วมมือระหว่าง ทียูซี และ คร.ใน มิ.ย. 2556 รพ.กรุงเทพคริสเตียน จะทำการรื้อถอนอาคารที่คลินิกตั้งอยู่เพื่อสร้างอาคารใหม่ทดแทน คร.และทียูซีจึงได้เห็นชอบขอใช้สถานที่ ม.มหิดล คือ อาคารราชนครินทร์ ชั้น 12 โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน ดำเนินการคลินิกชุมชนสีลม โดยใช้ชื่อ “คลินิกชุมชนสีลม@ทรอปเมด” โดยเปิดอย่างเป็นทางการวันที่ 4 ธ.ค.นี้ และจะเปิดให้บริการในเวลากลางคืน ทุกวันอังคาร-เสาร์ ตั้งแต่เวลา 16.00-22.00 น. โดยไม่คิดค่าบริการและไม่เปิดเผยชื่อจริง

นอกจากคลินิกชุมชนสีลม@ทรอปเมด จะให้บริการให้คำปรึกษา ตรวจเลือด และรักษา โรคติดเชื้อเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์แล้ว ยังมีการดำเนินโครงการวิจัยด้านการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีที่คลินิก
แห่งนี้ 3 โครงการ คือ 1.โครงการศึกษาวิจัยแบบติดตามด้านการติดเชื้อเอชไอวี โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และการปฏิบัติการด้านการป้องกันโรคต่างๆ ในกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย 2.โครงการวิจัยการให้คำปรึกษาเรื่องการใช้ยารักษาก่อนการสัมผัสเชื้อ สำหรับผู้ที่กินยาเป็นระยะๆ ในแง่มุมเกี่ยวกับพฤติกรรม และ 3.โครงการวิจัยทางคลินิก ระยะที่ 2 แบบสุ่มเลือกลำดับ เปิดกลุ่มทดลอง เพื่อวิจัยเพิ่มเติม เรื่องความปลอดภัย และการยอมรับยาเอ็มทริซิทาบีน/ทีโนโฟเวียร์ชนิดเม็ดสำหรับกิน และยาทีโนโฟเวียร์ 1% ชนิดเจล สูตรลดปริมาณกลีเซอรีนสำหรับสอดทวารหนัก” อธิบดี คร.กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น