xs
xsm
sm
md
lg

เด็กไทยแชมป์ใช้เน็ต-มือถือในเอเชีย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
เด็กไทยครองแชมป์ใช้เน็ต-มือถือต่อวันสูงสุดในเอเชีย อึ้ง! ผลวิจัยพบเด็กติดเน็ตขนาดสมองส่วนหน้าเล็ก ด้าน วธ.ล้อมคอกทำคู่มือภูมิคุ้มกันวางโมเดลแก้ปัญหาพฤติกรรมเบี่ยงเบน

นายปรีชา กันธิยะ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) เป็นประธานเปิดตัวโครงการสร้างยุทธศาสตร์สร้างภูมิคุ้มกันของสังคมในมิติวัฒนธรรม (Cultural Vaccine) กล่าวว่า ปัจจุบันโทรศัพท์มือถือนับว่ามีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของคนไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนใช้โทรศัพท์มือถือในการเล่นเกม เข้าอินเทอร์เน็ต และที่กำลังเป็นที่นิยม คือ การแชตผ่านไลน์ ทวิตเตอร์ รวมถึงเฟซบุ๊ก ที่เข้าถึงได้ง่ายเสี่ยงต่อการมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม อีกทั้งเด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ไม่มีวุฒิภาวะเท่าทันสื่อถูกล่อลวงกระทำชำเราเป็นข่าวรายวัน ขณะที่ผู้ปกครองไม่มีเวลาดูแลลูกหลาน รวมถึงสำรวจการใช้โทรศัพท์อย่างใกล้ชิด ทำปัจจุบันเด็กรุ่นใหม่ติดโทรศัพท์ และมีพฤติกรรมเบี่ยงเบนเป็นจำนวนมาก

อย่างไรก็ตาม จากปัญหาดังกล่าว วธ.ร่วมกับสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต ชมรมจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นแห่งประเทศไทย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และ มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย จัดทำคู่มือขับเคลื่อนการสร้างภูมิคุ้มกันของสังคมในมิติวัฒนธรรม ประกอบด้วยการ รู้เท่าทันสื่อ ได้แก่ การรู้เท่าทันสื่อและสารสนเทศ โฆษณา ละคร/ภาพยนตร์ ข่าว เพลง อินเทอร์เน็ต เกม โทรศัพท์มือถือ และโซเซียลมีเดีย โดยแนะนำการใช้สื่อ รวมถึงภัยร้าย เช่น อันตรายจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า โรคติดมือถือ จึงมอบหมายให้ สวจ.และเครือข่ายวัฒนธรรมจัดทำโมเดลวัฒนธรรมโดยน้อมนำพระราชเสาวนีย์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในการใช้หลักคุณธรรมมาใข้ในการจัดทำแผนงานของแต่ละชุมชนทั่วประเทศ

ทั้งนี้ ผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เมื่อปี 2554 คนไทยเริ่มใช้เทคโนโลยีอายุ 6 ปีขึ้นไป โดยเยาวชนอายุ 15-24 ปีใช้อินเทอร์เน็ตร้อยละ 51.9 และร้อยละ 42.2 ใช้โทรศัพท์มือถือเล่นเกม และที่น่าสนใจเยาวชนไทยใช้อินเทอร์เน็ตผ่านคอมพิวเตอร์และมือถือสูงถึง 3.1 ชั่วโมงต่อวันครองแชมป์อันดับ 1 ในเอเชีย การติดอินเทอร์เน็ตติดทั้งสังคมออนไลน์ เกม พนันออนไลน์ ติดเว็บลามก จากการวิจัย เยาวชนที่ติดอินเทอร์เน็ตมีขนาดสมองส่วนหน้าเล็กและมีการเชื่อมโยงของเซลล์ประสาทของสมองส่วนหน้าลดลง ขาดทักษะการอยู่ร่วมกับผู้อื่น เพราะฉะนั้นผู้ปกครองควรรู้เท่าทันสื่ออย่างรอบด้าน ขณะเดียวกันตรวจสอบการใช้อินเทอร์เน็ตของลูกหลานด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น