ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - สาธารณสุขเชียงใหม่จัดกิจกรรมรณรงค์ปลอดลูกน้ำยุงลาย “Getting to Zero” ผนึกทุกภาคส่วนร่วมป้องกัน “โรคไข้เลือดออก” ตั้งแต่เนิ่นๆ หลังพบทั้งปี 56 ที่ผ่านมามีผู้ป่วยกว่า 1.1 หมื่นคน สูงที่สุดในรอบ 10 ปี ขณะที่ปีนี้มีผู้ป่วยแล้ว 25 ราย
วันนี้ (20 มี.ค.) ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ นายไพศาล ธัญญาวินิชกุล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานเปิดงานรณรงค์สร้างเชียงใหม่ให้ปลอดลูกน้ำยุงลาย ป้องกันภัยร้ายไข้เลือดออก จังหวัดเชียงใหม่ ดัชนีลูกน้ำยุงลายต้องเป็น 0 “Getting to Zero” เพื่อสร้างความร่วมมือในการควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออก ทั้งภายในภายนอกเขตเทศบาลนครเชียงใหม่สู่ความร่วมมือในวงกว้างต่อไป
รวมทั้งเพื่อสร้างเครือข่ายระหว่างองค์กรที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและพัฒนาความร่วมมือในการป้องกันโรคไข้เลือดออก และเพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์รูปแบบการสร้างเมืองเชียงใหม่ให้ปลอดลูกน้ำยุงลาย ป้องกันภัยร้ายไข้เลือดออก
โดยนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่กล่าวว่า จากการเฝ้าระวังและการวิเคราะห์ทางระบาดวิทยาของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ พบว่าในปี 2556 ที่ผ่านมานี้เป็นปีที่มีการแพร่ระบาดมากและรุนแรง
โดยทั้งปี 2556 พบผู้ป่วยจำนวนทั้งสิ้น 11,470 ราย ซึ่งสูงสุดในรอบ 10 ปี คิดเป็นอัตราป่วย 635.64 ต่อแสนประชากร เสียชีวิตจำนวน 8 ราย โดยพบผู้ป่วยสูงสุดที่อำเภอแม่อายจำนวน 997 ราย คิดเป็นอัตราป่วยต่อแสนประชากรเท่ากับ 1,233.21
รองลงมาได้แก่อำเภอหางดง แม่แตง แม่ริม และเมือง คิดเป็นอัตราป่วยต่อแสนประชากรเท่ากับ 984.61, 953.32, 790.11 และ 786.55 ตามลำดับ
สำหรับปี 2557 ตั้งแต่ 1 มกราคม 2557-11 มีนาคม 2557 พบผู้ป่วยไข้เลือดออกแล้วจำนวน 25 ราย กระจายไปจำนวน 14 อำเภอ ยังไม่มีผู้ป่วยเสียชีวิต
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกในปัจจุบันพบว่ามีการแพร่ระบาดเกิดขึ้นได้เกือบทุกพื้นที่และทุกเวลา ไม่เพียงเฉพาะในฤดูฝนเท่านั้น ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการรณรงค์ป้องกันควบคุมไข้เลือดออกตั้งแต่ต้นปี
ทั้งนี้ การดำเนินการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกที่สำคัญคือ การสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนให้มีการสำรวจและทำลายไม่ให้มีแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายเกิดขึ้นภายในหมู่บ้าน ชุมชน โรงเรียน วัด บริษัท ห้างร้าน สถานที่เอกชน และที่สาธารณะ โดยการสร้างและพัฒนามาตรการทางสังคม หรือการรณรงค์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชน องค์กรทั้งภาครัฐ เอกชน โรงเรียน วัด ตื่นตัวในการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออก