xs
xsm
sm
md
lg

O-NET คำตอบปลายเหตุ ตัวร้ายสร้างภาวะกดดัน ฟันธง!! ลงทุนจัดการศึกษาเด็กปฐมวัยได้กำไร 7 เท่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผลการทดสอบการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือ O-NET ของนักเรียนชั้น ป.6 และ ม.3 ประจำปีการศึกษา 2556 เกือบทุกวิชาคะแนนเฉลี่ยต่ำกว่าครึ่ง อย่าไปตกใจและซ้ำเติมเด็กนักเรียน ครู หรือสถานศึกษาว่าจัดการศึกษากันอย่างไร จึงมีผลออกมาต่ำอย่างต่อเนื่องทุกครั้ง น่าจะได้คิดกันเสียทีว่า O-NET ไม่ใช่คำตอบ

ขณะนี้เราจะรอรัฐบาลกลางมาปฏิรูปการศึกษาไม่ได้แล้ว อีกทั้งกระทรวงศึกษาธิการยังบ้ากับคะแนน O-NET จะเอาเรื่องผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษามาวัดเด็กเพียงอย่างเดียวนั้นไม่สามารถวัดได้เลย เพราะเด็กที่อยู่โรงเรียนพื้นที่ห่างไกล หรือเด็กที่ขาดโอกาสทางการศึกษา แม้ว่าจะไม่เก่งด้านวิชาการ แต่มีทักษะชีวิตที่ดี มีงานทำ ยกตัวอย่างคะแนนโอเน็ตที่ออกมานั้นสะท้อนสภาพปัญหาที่แท้จริงอย่างหนึ่ง คือ ศธ.ให้ความสำคัญกับเรื่องคะแนนมาก ส่งผลให้ครูและนักเรียน รวมถึงครอบครัวมีความกดดัน ต่อไปเด็กก็จะไปกวดวิชามากขึ้น ครูจะมุ่งแต่ติววิชาการเพียงอย่างเดียว ไม่สอนทักษะชีวิต ระบบคุณธรรม จริยธรรม ก็หายไป" รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวตอนหนึ่งในการแถลงข่าวเปิดตัวโครงการต่อยอดการพัฒนานวัตกรรมสร้างสรรค์การเรียนรู้เพื่อสุขภาวะเด็กและเยาวชน จัดโดยสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมกับสำนักสุขภาวะเด็กเยาวชนและครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยคัดเลือกโรงเรียนระดับประถมศึกษาในทุกสังกัด ที่เคยทำผลงานดีเด่นในโครงการส่งเสริมนวัตกรรมสร้างสรรค์การเรียนรู้ครั้งที่ 1/2554 ได้ทำงานต่อยอด และเพิ่มประเด็นสุขภาวะที่ดีให้โรงเรียนเข้มแข็งยิ่งขึ้น

รศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวว่า นโยบายในการปฏิรูปการศึกษาในปัจจุบันเป็นการลงทุนที่สวนทางกับความเป็นจริง ทำให้เกิดปัญหาสังคมหลายประการ ซึ่งการลงทุนดังกล่าวเรามุ่งกับระดับอุดมศึกษามากเกินไปจนทำให้ละเลยการศึกษาขั้นปฐมวัย ส่งผลให้เกิดความเสียหาย คือสังคมไทยเสื่อมหนัก การเมืองรุนแรง โรงเรียนหลวม ครอบครัวตาย วัตถุนิยมล้น ศีลธรรมจาง ทั้งนี้ จากงานวิจัยของ ดร.ไกรยศ นั้น หากนำเงินมาลงทุนในระดับปฐมวัยนั้นจะได้กำไรคืนกลับสูงถึง 7 เท่า คือ ลงทุน 1 บาท ได้คืนมา 7 บาท ฉะนั้นการลงทุนดังกล่าวจะส่งผลที่ดีและต่อเนื่อง และการที่รัฐบาลนั้นปัดทิ้งเรื่องการลงทุนกับเด็กปฐมวัยทำให้ประเทศเสียโอกาส ดังนั้น ภาครัฐต้องเปลี่ยนวิธีการคิดใหม่ เพราะสมองเด็กจะเติบโตสมบูรณ์ทั้ง IQ และ EQ ในระดับปฐมวัยสูงถึง 80% หากขาดเงินอุดหนุนการเตรียมพร้อมเด็กในเรื่องการอ่านการเขียน เรื่องคุณธรรมและคุณลักษณะที่ดีนั้นก็จะไม่สมบูรณ์

ทั้งนี้ รศ.ดร.สมพงษ์ มองว่า ประเด็นสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไขโดยเร็วคือการลงทุนทางการศึกษากับเด็กปฐมวัยใน 3 ระบบ 1) การศึกษาในระบบ ซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ด้อยโอกาส 2) โรงเรียนพ่อ แม่ โดยต้องสอนพ่อแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยวัตถุ หรือพ่อแม่ที่ปล่อยลูกไว้เป็นภาระปู่ย่า ตายาย และ 3) โรงเรียนชุมชน ที่มีพื้นที่เสี่ยง มีอบายมุข ดังนั้น การลงทุนในช่วงปฐมวัยสามารถประกันอนาคตทางปัญญา และสุขภาวะแจ่มใสให้เด็กได้ ฉะนั้น เราต้องปรับแนวคิดที่จะแก้ไขวิกฤตให้คนในชาติเสียใหม่ คือ ต้องไม่มองขึ้นข้างบน แต่มองจากคนข้างล่าง โดยเฉพาะการศึกษาปฐมวัยที่อยู่ที่ท้องถิ่น ซึ่งมีการกระจายอำนาจที่ดีแล้ว เราจึงต้องเน้นเชิงคุณภาพให้ดียิ่งขึ้น ไม่เช่นนั้นจะเหมือนให้เด็กมาอยู่รวมกัน กินนอนเล่น แต่ไม่ได้เตรียมความพร้อมให้เติบโตได้จริง

ล่าสุดก็มีงานวิจัยในโครงการนำร่องเพื่อขยายโอกาสการศึกษาในช่วงปฐมวัยในทุกมลรัฐด้วยเงินภาษีบุหรี่ของประเทศสหรัฐอเมริกา ภายใต้นโยบายหลักของนายบารัค โอบามา โดยมีการอุดหนุนเงินทุนลงไปยังการศึกษาระดับปฐมวัยในระยะเวลาติดต่อกันกว่า 10 ปี (กันยายน 2556) โดยผลสรุปจากกรณีศึกษามากกว่า 100 กรณีพบข้อสรุปที่ตรงกันว่า การลงทุนในช่วงปฐมวัยสามารถประกันอนาคตทางปัญญาและสุขภาวะแจ่มใสให้เด็กได้ในทุกมลรัฐ และพบว่า โปรแกรมนี้ไม่เพียงช่วยให้เด็กมีพัฒนาการด้านทักษะในการตัดสินใจที่ดีขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่ทักษะในการตัดสินใจเพื่อเลือกให้ตนเองมีสุขภาพที่ดีขึ้นในอนาคตได้อย่างไรด้วย ซึ่งเชื่อมโยงกับการมีสุขภาพที่แข็งแรง” รศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว

ขณะที่ งานวิจัยของ ดร.ไกรยส ภัทราวาท สสค.เกี่ยวกับรายจ่ายด้านการศึกษาของประเทศไทย พบว่า จากการศึกษาในระดับประถมศึกษา รวมทั้งโรงเรียนขยายโอกาสในปี 2553 พบว่า งบประมาณการศึกษาต่อหัวที่รัฐบาลลงทุนต่อเด็กระดับมัธยมศึกษา และอาชีวศึกษานั้นสูงกว่าการลงทุนในระดับปฐมวัย โดยลงทุนระดับปฐมวัยเพียง 23,282 บาท ขณะที่ลงทุนในระดับมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษาจำนวน 26,332 บาทและ 24,933 บาทตามลำดับ

ส่วน ดร.อุบล เล่นวารี อดีตที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และที่ปรึกษาโครงการ กล่าวว่า โครงการนี้ดำเนินการ 3 เรื่องสำคัญคือ การส่งเสริมสมรรถนะการอ่าน การสนุกกับการเรียนรู้ และการสร้างคุณลักษณะที่ดี ซึ่งเป็นหัวใจในการจัดการเรียนการสอนในระดับประถมศึกษา ซึ่งโครงการมีการต่อยอดโดยเพิ่มประเด็นสุขภาวะเข้าไป ทำให้เด็กทั้งเก่งและดี มีความสุข ไม่ต้องเครียดกับ O-Net โครงการนี้จะเป็นตัวอย่างเพื่อให้โรงเรียนอื่นๆ มีการต่อยอดต่อไป

ด้านนางเพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว สสส. กล่าวว่า เราต้องเร่งสร้างสุขภาวะที่ดีให้แก่เด็ก โดยองค์ประกอบในการสร้างสุขภาวะให้แก่เด็กและเยาวชน คือ 1.การบริหารจัดการภายในโรงเรียน 2.สภาพแวดล้อมของโรงเรียน 3.การจัดการเรียนการสอน และ 4.การมีส่วนร่วมของทุกคนที่อยู่ในโรงเรียน รวมไปถึงผู้ปกครองของเด็กด้วย ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของมูลนิธิโรเบิร์ต วู้ด จอห์นสัน ที่ชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างการศึกษาและสุขภาพที่ดีว่า ร้อยละ 77.2 ของผู้ใหญ่ที่มีการศึกษา ต่ำกว่า ม.6 จะมีสุขภาพที่ไม่ค่อยดีนัก และมีเพียงร้อยละ 29.8 ที่ระบุว่า เด็กที่จบวิทยาลัยมีสุขภาพดี ดังนั้น แม้ว่ารัฐบาล หรือนโยบายจะเปลี่ยนไปสิ่งสำคัญที่ควรคงอยู่คือการทำงานกับพื้นที่จากล่างขึ้นมาโดยครูคือคนสำคัญที่จะทำให้เกิดการขับเคลื่อน หากทำได้ 30-40% ในแต่ละจังหวัดก็จะเกิดแรงกระเพื่อม ซึ่งจะเป็นผลกระทบที่สะท้อนภาพได้ชัดขึ้น

1 ในโรงเรียนที่ทำผลงานดีเด่นในโครงการส่งเสริมนวัตกรรมสร้างสรรค์การเรียนรู้ครั้งที่ 1/2554 โรงเรียนบ้านห่างหลวง อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ที่ นายสมพงษ์ แสนสำโรง เคยเป็นผู้อำนวยการโรงเรียน ก่อนที่จะมารับตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านแม่อ่างขาง อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่

โดย นายสมพงษ์ เล่าว่า อดีตตนเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านห่างหลวง และได้เข้าร่วมโครงการส่งเสริมนวัตกรรมสร้างสรรค์การเรียนรู้ระดับประถมศึกษา ครั้งที่ 1 จากการสร้างนวัตกรรม “มัลติพอยท์” คือ การใช้คอมพิวเตอร์ 1 เครื่องต่อกับเมาส์ 40 อัน เนื่องจากโรงเรียนอยู่บนดอยไม่มีไฟฟ้าต้องใช้โซลาร์เซลล์แทนส่งผลให้เด็กนักเรียนเข้าไม่ถึงเทคโนโลยี เมื่อโรงเรียนนำนวัตกรรมดังกล่าวมาใช้โดยการนำสาระการเรียนรู้ตามหลักสูตร ที่เน้นเรื่องของการส่งเสริมการอ่านภาษาไทยให้ชัดเจนถูกต้องเป็นหลัก เพราะเป็นเด็กชนเผ่า มาจัดทำเป็นเป็นโปรแกรมพาวเวอร์พ้อยท์ ให้เด็กได้ร่วมตอบคำถาม ได้ลากเส้น เติมคำ ซึ่งสามารถทดสอบเด็กได้เป็นรายบุคคล ทั้งนี้เมื่อรูปแบบการเรียนการสอนเปลี่ยนไป การตอบสนองของผู้เรียน การอ่าน การเขียน การออกเสียงชัดเจนทำให้เด็กมีความสุข สนุกในการเรียนรู้ ส่งผลให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น และเมื่อตนย้ายไปเป็น ผอ.ร.ร.บ้านแม่อ่างขางก็นำไปใช้ด้วยเช่นกัน

นวัตกรรมมัลติพอยท์ได้ขยายเครือข่ายไปยัง สพป.เชียงใหม่ เขต 1 และเขต 2 เกือบทุก ร.ร.รวมถึง กศน.ด้วย เพราะมีความเหมาะสมต่อการนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล โดยเฉพาะ ร.ร.ขนาดเล็กที่มีครูไม่เพียงพอ และด้วยความห่างไกล หากได้รับการสนับสนุนเรื่องสุขภาวะเพิ่มเติมเข้าไปก็จะช่วยต่อยอดให้เด็กสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เป็นการบูรณาการผนวกทั้งสาระการเรียนรู้และการมีสุขภาวะที่ดีลงไปด้วย ทั้งนี้ จะมีการต่อยอดจัดสอนทวิภาษา คือ ภาษาถิ่น และภาษาไทย ผ่านนวัตกรรมมัลติพอยท์ เพื่อให้เด็กได้อ่านได้ออกเสียงภาษาไทยได้ถูกต้อง คาดว่าปี 2558 ภาคเรียนที่ 1 จะสามารถนำไปใช้ได้” นายสมพงษ์ กล่าว

นับเวลาถอยหลังโค้งสุดท้ายเปิดประตูสู่อาเซียน เชื่อว่าทุกคนอยากเห็นระบบการศึกษาไทยเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนา และเตรียมความพร้อมด้านกำลังคนของชาติให้มีคุณภาพ และเป็นกลไกช่วยเสริมสร้างสันติสุข ความร่วมมือในชาติและในภูมิภาคอาเซียนที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต ดังนั้น ทิศทางและแนวโน้มการปฏิรูประบบการศึกษาควรมุ่งส่งเสริมให้เด็กคิดวิเคราะห์เป็น ผลิต และพัฒนาครูที่มีคุณภาพสูงสู่พื้นที่ยากลำบาก พร้อมเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนด้อยโอกาสทุกประเภทมีการศึกษา เพื่อสร้างอนาคตที่มั่นคงให้แก่ประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียนได้อย่างยั่งยืนสืบไป


กำลังโหลดความคิดเห็น