xs
xsm
sm
md
lg

ส.จิตรพรรณ ลั่นไม่วางมือสถูปพระเจ้าอุทุมพร ชี้โครงการฯกับพิสูจน์พระบรมอัฐิเรื่องคนละส่วน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ส.จิตรพรรณ ลั่นเดินหน้าต่อโครงการอนุสรณ์สถาน มหาเถระพระเจ้าอุทมพร ตั้งเป้าเกิดความร่วมมือระหว่างไทย-พม่า ในทุกระดับ ระบุต้องแยกระหว่างเรื่องโครงการฯกับการพิสูจน์พระบรมอัฐิซึ่งเป็นเรื่องทางประวัติศาสตร์คนละส่วนกัน หวั่นการระงับโครงการส่งผลกระทบโบราณสถานได้รับความเสียหาย น้ำท่วม หญ้าขึ้นรกขาดการดูแล พร้อมเผยพบหลักฐานใหม่ พระพุทธรูปปางสมาธิศิลปะอยุธยา14องค์ นอกองค์เจดีย์โซน B สันนิษฐานน่าจะเป็นที่ตั้งวัดอยุธยาในสมัยก่อน

วันนี้ (20 มี.ค.) เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 20 มี.ค. ที่อาษาเซ็นเตอร์ ชั้น 5 อาคารสยามดิสคัฟเวอรี่ สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับสมาคมมิตรภาพพม่า-ไทย จิตรพรรณ ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ แถลงเปิดตัวโครงการอนุสรณ์สถานมหาเถระพระเจ้าอุทมพร (สมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 4 หรือขุนหลวงหาวัด) กษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ที่สุลานล้านช้าง เมืองอมรปุระ สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่าโดยมี นายมิคกี้ ฮาร์ท นายกสมาคมจิตพรรณ นายวิจิตร ชินาลัย ผู้อำนวยการโครงการอนุสรณ์สถานฯ นายสุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา ที่ปรึกษาสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ นางปองขวัญ สุขวัฒนา ลาซูส อุปนายกสมาคมสถาปนิกสยามฯ และรอง ผอ.ฝ่ายข้อมูลข่าวสารโครงการอนุสรณ์สถานฯ ร่วมแถลงข่าว

โดย นายวิจิตร กล่าวว่า ก่อนหน้านี้สมาคมจิตรพรรณ มีกำหนดการแถลงข่าวเปิดตัวโครงการดังกล่าว แต่เนื่องจากทางรัฐบาลกลางของพม่าสั่งให้ระงับโครงการ หลังจากสั่งให้กรมโบราณคดี พิพิธภัณฑ์ และหอสมุดกระทรวงวัฒนธรรมของพม่ามาดูพื้นที่ และพบว่าบริเวณดังกล่าวเป็นโครงการที่ใหญ่และมีความสำคัญ จึงมีความเห็นว่าให้ชะลอโครงการไว้ก่อน เพื่อเข้าไปตรวจสอบว่าจะต้องขึ้นทะเบียนเป็นเขตพื้นที่โบราณสถานก่อนหรือไม่ ยืนยันว่าทางสมาคมสถาปนิกสยามฯจะดำเนินการโครงการนี้ต่อไป และจะต้องยกสถานภาพให้เป็นโครงการระหว่างรัฐบาลไทยกับพม่าเพราะเป็นโครงการที่ดี ที่จะเก็บรักษาพื้นที่ไว้เป็นประวัติศาสตร์ที่ทุกภาคส่วนควรมีส่วนร่วมในการดูแลพื้นที่ให้ยั่งยืน ไม่ว่าโครงการนี้จะดำเนินการภายใต้โครงสร้างใด เปลี่ยนจากรัฐบาลท้องถิ่นไปร่วมกับเอกชน หรือรัฐบาลพม่าร่วมกับท้องถิ่นร่วมกับเอกชน โดยมีผู้สนับสนุนงบประมาณจากฝ่ายไทย จะเป็นภาครัฐหรือเอกชนและจากการสนับสนุนทางวิชาการจากรัฐบาลไทย ภายใต้การดำเนินงานของกรมศิลปากรในการขุดค้นทางโบราณคดี อย่างไรก็ตาม ในฐานะคณะทำงานซึ่งได้ดำเนินการมาเป็นเวลา 1 ปี เต็มเห็นถึงผลกระทบของโครงการ ทั้งเวลาและความเสื่อมโทรมของโบราณสถาน ดังนั้น เมื่อมีการระงับไม่ให้ทำการใด และหากยังไม่มีความชัดเจนพื้นที่สุสานล้านช้างที่ได้รับการพัฒนาเป็น โครงการอนุสรณ์สถานฯ ก็จะกลายเป็นที่รกร้างและจะมีวัชพืชมาปกคลุม เป็นการสูญเสียทรัพย์สินที่ได้รับบริจาคมา

“ทางสมาคมฯ ยืนยันที่จะเดินหน้าต่อ เพราะเราทำไปครึ่งหนึ่งแล้ว ส่วนเรื่องที่จะศึกษาว่าพระบรมอัฐิที่ขุดพบ ใช่ของพระเจ้าอุทุมพรหรือไม่นั้น ไม่ใช่หน้าที่ของสมาคมฯ เป็นหน้าที่ของนักประวัติศาสตร์ เพราะหากเราเขียนเองข้อมูลอาจคลาดเคลื่อนได้ เพราะสถูปอยู่ในพม่า จริงๆ แล้วโครงการอนุสรณ์สถานฯจะอยู่ที่ไหนก็ได้ แต่ถ้าอยู่ที่เมืองมัณฑะเลย์จะดีที่สุด ดังนั้น แม้จะยังไม่มีความชัดเจนเรื่องหลักฐาน ซึ่งขึ้นกับการตีความของแต่ละฝ่าย ก็อยากให้แยกโครงการอนุสรณ์สถานฯ กับการพิสูจน์พระบรมอัฐิให้เป็นคนละส่วนกัน ถ้ามีความคิดเห็นแตกต่างก็ควรจะหารือกัน จะเอาผู้เชี่ยวชาญทั้งสองฝ่ายมาคุยกันก็ได้ ส่วนใครไม่เชื่อก็ไม่เป็นไร” นายวิจิตร กล่าว

ด้าน นายสุเมธ กล่าวว่า โครงการอนุสรณ์สถานฯ เป็นโครงการที่มีความสำคัญกับชาวไทยและชาวพม่า ในการร่วมค้นหาประวัติศาสตร์ที่เชื่อมโยงความสัมพันธ์ของสองประเทศ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์มีส่วนร่วมสนับสนุนโครงการตั้งแต่เดือน ต.ค.2556 ด้วยหวังว่าจะเป็นการอนุรักษ์แหล่งโบราณคดีและการสร้างอนุสรณ์สถานพระมหาเถระพระเจ้าอุทุมพร โดยคณะทำงานเลือกเอาวันที่ 15 มี.ค.57 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 1 ปี ที่คณะทำงานได้นำพระบรมอัฐิที่พบขึ้นมาจากองค์เจดีย์ เพื่อมาทำการบวงสร้างขอขมาเป็นการจัดงานที่ยิ่งใหญ่ของพม่า โดยจะประกอบพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่กลางองค์พระเจดีย์ตามประเพณีของพม่า โดยเชิญชาวพม่าและชาวไทยใหญ่ รวมถึงสื่อมวลชนเข้าร่วมพิธี แต่น่าเสียดายว่าในวันที่ 15 มี.ค.ที่ผ่านมา ทางรัฐบาลมัณฑะเลย์ได้รับแจ้งจากกระทรวงวัฒนธรรมของพม่าว่าให้ระงับการดำเนินการ จึงต้องหยุดทุกอย่างไว้ นอกจากนี้ ยังหวังที่จะเห็นความร่วมมือในระดับรัฐบาลกับรัฐบาล หรือจีทูจี โดยผ่านทางกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองประเทศ

การสร้างอนุสรณ์สถานครั้งนี้ ขอให้แยกประเด็นการสร้างอนุสรณ์สถานที่จัดทำขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์มหาเถระพระเจ้าอุทุมพร แต่มิได้เกี่ยวข้องกับการพิสูจน์ทางประวัติศาสตร์ของพระบรมอัฐิ เพราะเป็นการดำเนินการคนละส่วน รวมทั้งอยากเสนอให้กรมศิลปากรไปจัดสร้างอนุสรณ์สถานของพระเจ้าอุทุมพร ที่วัดประดู่ทรงธรรม จ.พระนครศรีอยุธยา อันเป็นสถานที่ทรงผนวชเมื่อครั้งทรงประทับอยู่ในไทยถึง 29 ปี และอยากให้ดำเนินการแบบรัฐต่อรัฐ เพื่อให้เกิดความร่วมมือระดับรัฐบาล เป็นโครงการที่ยิ่งใหญ่สมพระเกียรติ อย่างไรก็ตาม ในขณะที่โครงการนี้ถูกระงับ ผมก็เป็นห่วงการดูแลโบราณสถานในช่วงหน้าฝน น้ำอาจเข้ามาท่วมโบราณสถานเสียหาย หรือมีหญ้าปกคลุม ทำให้การดำเนินงานที่ผ่านมาอาจสูญเสียไปโดยเปล่าประโยชน์” นายสุเมธ กล่าว

ขณะที่ นายมิคกี้ ฮาร์ท กล่าวว่า ตนและคณะพยายามรักษาพื้นที่แห่งนี้ หลังจากที่รัฐบาลมัณฑะเลย์ต้องการจะพัฒนาพื้นที่แห่งนี้ เพื่อรองรับการเป็นเมืองท่องเที่ยวในอนาคต โดยได้รวบรวมหลักฐานเกี่ยวกับการขุดค้นต่างๆ โดยเฉพาะการขุดค้นพบตัวเจดีย์พุทธบูชา ส่งผลทำให้ทางการมัณฑะเลย์เข้ามาสนับสนุนการโครงการ ทำให้สามารถขุดค้นนับตั้งแต่เดือน ก.พ.ปี 56 ซึ่งในส่วนของนักวิชาการพม่าเองก็เชื่อกันว่า เจดีย์ที่พบเป็นสถูปของพระเจ้าอุทุมพร และได้กำหนดพื้นที่ขุดค้นไว้ในโซน A บนเนื้อที่กว่า 2.5 ไร่ จากนั้นเมื่อวันที่ 2 มี.ค.ที่ผ่านมา คณะยังได้ขุดค้นพบหลักฐานใหม่ คือ พบพระพุทธรูปศิลปะอยุธยา จำนวน 14 องค์ ที่นอกบริเวณองค์เจดีย์บนเนื้อที่ประมาณ 7.5 ไร่ หรือโซน B ซึ่งพระพุทธรูปที่พบทำให้สันนิษฐานได้ว่าพื้นที่รอบๆ นี้น่าจะเป็นที่ตั้งของวัดอยุธยาในสมัยก่อน และพื้นที่โซน B นี้ เป็นโครงการที่ขอจากรัฐบาลมัณฑะเลย์ในการจัดทำโครงการอุทยานประวัติศาสตร์

“หลักฐานดังกล่าวนีเป็นหลักฐานใหม่และได้นำเสนอในส่วนของสื่อพม่าแล้ว แต่ยังไม่ได้นำเสนอในประเทศไทย จึงนำภาพและข้อมูลที่ค้นพบมาให้สื่อมวลชนได้รับทราบในครั้งนี้ด้วย อย่างไรก็ตาม เรื่องที่ทางการรัฐบาลกลางพม่า สั่งให้ระงับโครงการนั้น เป็นเพราะว่า รมว.วัฒนธรรมของเมืองเนปิดอว์ได้ลงพื้นที่และเห็นว่า โครงการดังกล่าวมีความสำคัญเป็นศาสนสถานต้องรักษาพื้นที่แห่งนี้ไว้ และอยากให้ระงับโครงการเพื่อศึกษาโครงการและยกระดับการจัดสร้างอนุสรณ์ให้ ยิ่งใหญ่ขึ้น ซึ่งตนก็กังวลว่า หากระงับโครงการและไม่รู้วัดอยุธยาที่พบนั้น ทางรัฐบาลมัณฑะเลย์อาจไม่อนุมัติการขอพื้นที่โซน B ซึ่งจะทำให้เสียโอกาสการขุดค้นดังกล่าว
 

กำลังโหลดความคิดเห็น