ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - ป้ายภาพ “เจ้าครองนครเชียงใหม่” ยังติดหราหน้าคุกเก่ากลางเมือง แค่เก็บกวาดตัดหญ้าทิ้งหลังผู้ว่าฯ สั่งเร่งแก้ไขด่วน ขณะที่จังหวัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาเดินหน้าปรับปรุงทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ (เดิม) วงเงิน 150 ล้านบาท กำหนดแผนทุบรื้อถอนแล้วให้ศิลปากรขุดค้นเก็บหลักฐานทางประวัติศาสตร์ก่อนทำสิ่งก่อสร้าง แต่ต้องเร่งทำทีโออาร์ และจัดซื้อจัดจ้างให้เสร็จทัน 31 มี.ค.นี้
จากกรณีมีการนำภาพกษัตริย์และเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ในอดีตติดตั้งไว้ที่บริเวณหน้าทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ (เดิม) กลางเมืองเชียงใหม่ จนเกิดกระแสวิจารณ์ถึงความเหมาะสม เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติบางส่วนเข้าใจผิดคิดว่าเป็นภาพของนักโทษที่เคยต้องโทษอยู่ทัณฑสถานดังกล่าว ซึ่งในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา นายวิเชียร พุฒิวิญญู ผู้ว่าราชการจังหวัด ได้สั่งการให้ทำการตรวจสอบข้อเท็จจริง และปรับปรุงให้เหมาะสม โดยอาจจะรื้อถอนหรือติดตั้งป้ายอธิบาย และปรับภูมิทัศน์ให้เหมาะสม รวมทั้งจะมีการขอคำปรึกษาจากพระเทพวรสิทธิจารย์ เจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยสุเทพ ว่าเห็นสมควรจะให้ดำเนินการอย่างไรต่อไปนั้น
วันนี้ (10 ก.พ.) รายงานข่าวแจ้งว่า จากการสำรวจพบภาพของกษัตริย์และเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ยังคงติดตั้งไว้อยู่ที่จุดเดิม ไม่ได้เคลื่อนย้ายออกไป และยังไม่ติดตั้งป้ายอธิบายความเพิ่มเติม มีเพียงการตัดหญ้าที่เคยขึ้นรกในบริเวณดังกล่าวออกไป ขณะที่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติยังคงมีการเดินท่องเที่ยวชมเมืองผ่านไปมาในบริเวณนั้นอยู่ตลอด หลายรายพยายามที่จะเดินเข้าไปเที่ยวชมภายในทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ (เดิม) ด้วยความสนใจ เพราะเห็นมีการติดป้ายไว้ข้างหน้าเขียนเป็นภาษาไทยว่า “คุ้มหลวง หอคำ” และภาษาอังกฤษว่า “Gold Palace” รวมทั้งมีการเขียนภาษาจีนไว้ด้วย จึงเข้าใจว่าเป็นที่ท่องเที่ยวที่เปิดให้เข้าชมได้ แต่ก็ไม่สามารถเข้าชมได้ โดยไม่ได้มีคำอธิบายใดๆ
ขณะที่นายอรรถชา กัมปนาทแสนยากร ปลัดอำเภอเมือง เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางจังหวัดเชียงใหม่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้เป็นหน่วยงานรับผิดชอบพัฒนาพื้นที่ด้วยงบประมาณ 150 ล้านบาท ซึ่งเป็นของปีงบประมาณ 2556 แต่การดำเนินการล่าช้าเนื่องจากติดปัญหาอุปสรรคหลายด้าน รวมทั้งมีขั้นตอนของการระดมความคิดเห็นเพื่อหาข้อสรุปเกี่ยวกับแนวทางในการพัฒนาจากทุกภาคส่วนด้วย จนต้องมีการขยายเวลาการใช้งบประมาณออกไป 6 เดือน สิ้นสุดภายใน 31 มีนาคมนี้ ซึ่งทางจังหวัดได้ตั้งคณะกรรมการพัฒนาข่วงหลวงเวียงแก้วรับผิดชอบแล้ว โดยมีตนเป็นกรรมการด้วย
ทั้งนี้ จากการประชุมหารือร่วมกันของคณะกรรมการช่วงที่ผ่านมานั้น ได้ข้อสรุปการพัฒนาพื้นที่เป็น 3 ส่วนหลัก ได้แก่ การทุบ การขุด และการสร้าง กล่าวคือขั้นตอนแรกจะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างของทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ (เดิม) ออกไป จากนั้นจะทำการขุดค้นและเก็บหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เพราะพื้นที่แห่งนี้ที่เคยเป็นที่ตั้งของคุ้มหลวงมาก่อน อายุกว่า 700 ปีนับตั้งแต่สร้างเมืองเชียงใหม่ ซึ่งการขุดค้นโดยกรมศิลปากร เมื่อแล้วเสร็จจึงจะก่อสร้างต่อไป โดยที่การจัดทำรายละเอียดข้อกำหนดของผู้ว่าจ้าง (ทีโออาร์) และการจัดซื้อจัดจ้างต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 มีนาคมนี้ ด้วยเหตุผลเรื่องการเบิกจ่ายงบประมาณ
สำหรับแนวทางการพัฒนาพื้นที่นั้น ตามแผนจะมีประมาณ 35 ไร่ เป็นพื้นที่ของทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ (เดิม) รวมกับพื้นที่ของโรงงานยาสูบที่อยู่ติดกัน และที่ราชพัสดุ ที่จะหมดสัญญาเช่าในปี 2558 ซึ่งการออกแบบและรายละเอียดต่างๆ ในทีโออาร์จะครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด โดยความคิดเห็นส่วนตัวปล้วมองว่าควรจะเปิดให้เป็นพื้นที่โล่ง 75-80% สร้างสิ่งปลูกสร้างเท่าที่จำเป็นและเหมาะสม ควรเน้นการบอกเล่าประวัติศาสตร์ความเป็นมาของเมืองเชียงใหม่ที่ยาวนานกว่า 700 ปี ผ่านหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ขุดค้นพบในบริเวณดังกล่าว ควบคู่ไปกับการพัฒนาให้เป็นพื้นที่สีเขียวที่ทุกคนสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ แต่ทั้งนี้จะต้องมีการรับฟังความเห็นและหาข้อสรุปร่วมกันจากฝ่ายที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง