xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่ายชุมชนเมืองเชียงใหม่ยื่นผู้ว่าฯ ทวง “ข่วงหลวง-เวียงแก้ว” จี้ยึดหลักวิชาการเก็บหลักฐาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - เครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าฯ ทวงถามความชัดเจนการพัฒนา “ข่วงหลวง-เวียงแก้ว” จี้ทำตามหลักวิชาการ ขุดค้นเก็บบันทึกหลักฐานทางประวัติศาสตร์ให้ครบถ้วนก่อนพัฒนาเป็นพื้นที่สีเขียว บอกเล่าประวัติศาสตร์เมือง

วันนี้ (4 ก.พ.) ที่มหาวิทยาลัยพายัพ จ.เชียงใหม่ เครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่ นำโดยนางเสาวคนธ์ ศรีบุญเรือง ยื่นหนังสือต่อนายวิเชียร พุฒิวิญญู ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อทวงถามความคืบหน้า และความชัดเจนเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์พื้นที่ข่วงหลวง-เวียงแก้ว หรือพื้นที่สาธารณะกลางเมืองเชียงใหม่ ที่เคยเป็นทัณฑสถานหญิงเดิม

โดยหนังสือระบุว่า เมื่อต้นปีที่ผ่านมามีการเปิดสภาพลเมือง ครั้งที่ 2 วาระข่วงหลวง-เวียงแก้ว ณ พุทธสถาน อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เพื่อให้ประชาชน หน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบการใช้ประโยชน์พื้นที่กลางเมืองเชียงใหม่หารือถึงแนวทางการใช้ประโยชน์ โดยมีนักวิชาการให้ข้อมูลเพื่อพิจารณา และผู้ว่าราชการจังหวัด มอบหมายให้นายอดิศร กำเนิดศิริ รองผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นผู้แทนให้ข้อมูล และรับฟังข้อเสนอจากประชาชน

ต่อมาสำนักงานจังหวัดเชียงใหม่ได้สนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในโครงการประชาสัมพันธ์และรับฟังความคิดเห็นแนวคิดการพัฒนาข่วงหลวง-เวียงแก้ว โดยสำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งมีกระบวนการรับฟังอย่างกว้างขวาง และสภาพลเมืองได้นำข้อเสนอการใช้ประโยชน์มอบแก่สำนักบริการวิชาการ ซึ่งได้มีข้อสรุปคือ

1. ด้านการรื้อถอนมีความเห็นหลักที่ไม่สอดคล้องกัน 2 ความเห็น คือ กลุ่มแรกให้รื้ออาคารและสิ่งก่อสร้างออกทั้งหมด อีกกลุ่มควรเก็บอาคารคุกไว้บางอาคาร ทว่าทั้งสองความเห็นต่างมีความเห็นร่วมกันคือ ควรทำการขุดค้น หรือเก็บหลักฐานทางประวัติศาสตร์ก่อน

2. ด้านการขุดค้นทางโบราณคดี ส่วนใหญ่เห็นว่าควรใช้เทคโนโลยีช่วยในการสำรวจระยะแรก และควรให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมประวัติศาสตร์ครั้งนี้ด้วย

3. การจัดสรรพื้นที่เพื่อปรับพื้นที่ให้เป็นพื้นที่สีเขียวที่มีลาน หรือข่วงสาธารณะ ใช้ทำกิจกรรมได้หลากหลาย ใช้พื้นที่ได้ทุกเพศทุกวัย ทุกศาสนา เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ออกกำลังกาย แหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรม ระบบนิเวศกลางเมืองด้วยการปลูกต้นไม้ที่เป็นไม้พื้นถิ่นไว้รอบๆ เพื่อให้เกิดความร่มรื่น ใช้พื้นที่บางส่วนเป็นพิพิธภัณฑ์บอกเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญของเมืองเชียงใหม่ ซึ่งความเห็นนี้สอดคล้องกับการศึกษาของคณะทำงานรับฟังความคิดเห็นต่อการพัฒนาข่วงหลวง-เวียงแก้ว เมื่อปี 2551

4. ด้านการมีส่วนร่วมของชุมชน ให้ชุมชนมีส่วนร่วมเป็นคณะกรรมการ หรือคณะทำงานภาคประชาชน ร่วมกับหน่วยงานหลักตั้งแต่เริ่มดำเนินการ และการดำเนินการใดๆ ควรทำเพื่อการใช้ประโยชน์ของคนเชียงใหม่เป็นหลัก มิใช่นักท่องเที่ยว

5. การประกวดแบบข่วงหลวง-เวียงแก้ว พร้อมแนวคิดการบริหารจัดการ โดยนำผลสรุปจากการสำรวจความคิดเห็นที่ได้จากการศึกษามากำหนดเป็นกรอบแนวคิดในการออกแบบ และให้ประชาชนมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นร่วมกับคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ รวมทั้งศิลปินแห่งชาติในสาขาที่เกี่ยวข้อง

6. จัดทำสื่อกลางเพื่อการสื่อสารและประชาสัมพันธ์การดำเนินการ “ข่วงหลวง-เวียงแก้ว” เพื่อเป็นการติดตามความคืบหน้า ผลักดัน และสนับสนุนให้การพัฒนาพื้นที่ทัณฑสถานหญิงดำเนินต่อไปตามแนวทางที่ได้รับฟังความคิดเห็นของประชาชนมา

ทั้งนี้ คณะทำงานสภาพลเมือง พลเมืองผู้สนใจเรื่องการพัฒนาพื้นที่ขอให้ทางจังหวัดชี้แจงแนวทางและขั้นตอนการดำเนินงานพัฒนาพื้นที่ทัณฑสถานหญิงเดิมให้สาธารณะทราบ เนื่องจากขณะนี้มีกระแสข่าวว่าการดำเนินงานของสำนักงานจังหวัดไม่มีความชัดเจนว่าจะทำตามข้อเสนอที่สอดคล้องกับสำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัย ทำหรือไม่ ชุมชนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจึงขอให้สำนักงานจังหวัดชี้แจงความคืบหน้าให้ประชาชนรับทราบ รวมทั้งรับฟังข้อคิดเห็นของประชาชน โดยขอให้การชี้แจงเป็นในรูปแบบการจัดประชุมเพื่อหารือร่วมกัน

ด้านผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่กล่าวว่า ขณะนี้เรื่องยังอยู่ระหว่างการจัดทำ TOR โดยยืนยันว่าการดำเนินการทุกอย่างจะเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแน่นอน และพร้อมที่จะดำเนินการให้เป็นไปตามความต้องการของประชาชนชาวเชียงใหม่

รายงานข่าวแจ้งว่า การเข้ายื่นหนังสือครั้งนี้ของเครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่ สืบเนื่องมาจากการดำเนินการเกี่ยวกับการปรับปรุงพัฒนาพื้นที่ข่วงหลวง-เวียงแก้ว ไม่มีความชัดเจน และไม่มีความคืบหน้าใดๆ ให้เห็นเป็นรูปธรรม ล่าสุดพบว่ามีการนำพระบรมสาทิสลักษณ์บูรพกษัตริย์ล้านนา ขึ้นป้ายติดตั้งไว้บริเวณหน้าข่วงหลวง-เวียงแก้ว ซึ่งเป็นทัณฑสถานเดิมโดยไม่มีคำอธิบายใดๆ ทำให้หลายคนโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นรูปของผู้ที่เคยต้องโทษ


กำลังโหลดความคิดเห็น