xs
xsm
sm
md
lg

เตือนหนุ่มๆ ฟาดอาหารไขมันสูงเสี่ยง “มะเร็งต่อมลูกหมาก”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สาวๆ ทั้งหลายมีสารพัดโรคมะเร็งให้กังวลมากพอแล้ว ทั้งมะเร็งรังไข่ มะเร็งปากมดลูก เพราะเป็นอวัยวะที่ผู้ชายไม่มี สำหรับคุณผู้ชายที่ต้องกังวลก็ต้องเป็นอวัยวะที่ผู้หญิงไม่มีเช่นกัน อ๊ะๆ! อย่าเพิ่งคิดลึกไปถึงอวัยวะอย่างมังกรผงาดโลกเด็ดขาด แต่เป็นอวัยวะในระบบสืบพันธุ์ที่ไม่ใกล้ไม่ไกลกันต่างหาก นั่นก็คือ ต่อมลูกหมาก

ศ.นพ.สุชาย สุนทราภา ศัลยแพทย์ด้านระบบทางเดินปัสสาวะ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า ต่อมลูกหมาก (Prostate gland) เป็นอวัยวะหนึ่งของระบบสืบพันธุ์ชายที่มีหน้าที่ในการผลิตส่วนประกอบของน้ำอสุจิ และหล่อเลี้ยงตัวอสุจิ ต่อมลูกหมากอยู่ภายในช่องเชิงกรานใต้ต่อกระเพาะปัสสาวะและอยู่หน้าลำไส้ตรงหรือทวารหนัก และล้อมรอบท่อปัสสาวะส่วนต้น

สำหรับมะเร็งต่อมลูกหมากเกิดจากการแบ่งตัวผิดปกติของเซลล์เยื่อบุผิวของต่อมลูกหมาก ทำให้มีขนาดใหญ่ขึ้นและลุกลามไปยังอวัยวะข้างเคียง เช่น กะรเพาะปัสสาวะ ถุงเก็บน้ำอสุจิ ท่อปัสสาวะ เป็นต้น จนเกิดภาวะการอุดกั้นทางเดินปัสสาวะตำแหน่งต่างๆ เกิดการคั่งค้างของปัสสาวะ ทำให้ไม่สามารถระบายของเสียออกจากร่างกายได้ จึงเสี่ยงทำให้เกิดภาวะไตวายตามมาได้อีก ถ้ามะเร็งต่อมลูกหมากกระจายไปทั่วตัวในระยะท้ายก็จะทำให้เสียชีวิตได้

สำหรับผู้ชายที่มีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก ศ.นพ.สุชาย บอกว่า คือผู้ชายที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ซึ่งเมื่อมีอายุสูงขึ้นอัตราเสี่ยงในการเป็นก็มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ชายที่อายุน้อยกว่า 50 ปีก็มีโอกาสเป็นได้แต่น้อย นอกจากนี้ พบว่าชายที่มีบุคคลในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมากก็จะมีอัตราเสี่ยงสูงเช่นกัน รวมถึงผู้ชายที่นิยมบริโภคอาหารที่มีไขมันสูงก็มีอัตราเสี่ยงสูงมากขึ้น ซึ่งพบมากในประเทศตะวันตกที่นิยมกินอาหารไขมันสูง ดังนั้น ชายที่อายุ 50 ปีขึ้นไป ควรตรวจต่อมลูกหมากปีละครั้ง

อาการของมะเร็งต่อมลูกหมากนั้น ในระยะแรกจะยังไม่แสดงอาการใด เมื่อมะเร็งลุกลามมากขึ้นมีการอุดตันของทางเดินปัสสาวะ อาจจะทำให้มีอาการปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะลำบาก ต้องเบ่งปัสสาวะมากขึ้น ปัสสาวะเป็นเลือด ถ้าเป็นมากจะปัสสาวะไม่ออก หรือเกิดการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ แต่อาการปัสสาวะผิดปกติเช่นนี้อาจจะเหมือนกับโรคต่อมลูกหมากโตแบบธรรมดาได้ จึงจำเป็นต้องพบแพทย์เพื่อตรวจให้แน่ชัด สำหรับระยะลุกลาม จะลามไปถึงกระดูกจะมีอาการปวดบริเวณกระดูกสันหลัง บริเวรกระดูกเชิงกราน หรือปวดบริเวณซี่โครง นอกจากนั้น จะมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร และเกิดภาวะซีด หรือมีกระดูกหักง่ายขึ้น ผู้ป่วยบางรายเป็นอัมพาตจากกระดูกสันหลังหักทับเส้นประสาทได้

การจะตรวจเช็กว่าเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากหรือไม่ ศ.นพ.สุชาย ระบุว่า การตรวจสามารถทำได้โดยการเจาะเลือดหาสารบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมาก หรือ PSA ซึ่งผู้เป็นมะเร็งต่อมลูกหมากค่า PSA ในเลือดจะสูงกว่าปกติ และตรวจทางทวารหนัก โดยแพทย์จะสอดนิ้วเข้าไปคลำต่อมลูกหมากผ่านรูทวารหนัก ถ้าเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากจะคลำได้ลักษณะก้อนแข็ง อย่างไรก็ตาม หากการตรวจทั้งสองอย่างผิดปกติ ผู้ป่วยควรได้รับการตัดชิ้นเนื้อตรวจทางพยาธิวิทยาเพื่อยืนยัน โดยการผ่านเข็มผ่านทางเครื่องอัลตราซาวนด์ของต่อมลูกหมาก ซึ่งทำได้โดยใช้ยาเฉพาะที่

ในแง่การรักษานั้น ศ.นพ.สุชาย กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับระยะของผู้ป่วย ถ้ามาพบแพทย์ช่วงระยะเริ่มต้นผลการรักษาจะดี มีโอกาสหายได้ หากมาในระยะท้าย การรักษาจะช่วยให้มีชีวิตยืนยาวขึ้นแต่ไม่หายขาด ซึ่งหากเป็นระยะที่ 1 และ 2 รักษาโดยการผ่าตัดเอาต่อมลูกหมากออกทั้งหมด เป็นการรักษาที่ได้ผลวิธีหนึ่ง มีโอกาสหายขาดได้ วิธีนี้มักจะทำในผู้ป่วยอายุไม่เกิน 70 ปี แต่ถ้ามากกว่า 70 ปีขึ้นไป แพทย์จะดูสภาวะอื่นๆ ของผู้ป่วยแล้วใช้ดุลยพินิจในการรักษาให้เหมาะสม ผลข้างเคียงของการผ่าตัดคือ ผู้ป่วยอาจจะสูญเสียความสามารถในการแข็งตัวของอวัยวะเพศหลังผ่าตัด บางรายอาจจะมีปัญหาในการกลั้นปัสสาวะ

อีกวิธีหนึ่งคือการฉายรังสี หรือฝังแร่ในต่อมลูกหมาก โดยใช้รังสีไปทำลายเซลล์มะเร็งของต่อมลูกหมาก ผลข้างเคียงคือ จะเกิดการระคายเคืองของเยื่อบุผิวของกระเพาะปัสสาวะ หรือเยื่อบุผิวของลำไส้ตรง จะทำให้มีปัสสาวะเป็นเลือดเป็นครั้งคราว ปัสสาวะลำบาก หรือมีอุจจาระเป็นเลือด อุจจาระลำบากได้

ศ.นพ.สุชาย กล่าวว่า หากมะเร็งลุกลามระยะ 3 ต้องใช้การรักษาผสมผสาน ทั้งการผ่าตัดต่อมลูกหมากออกจนหมด หรือฉายแสงร่วมกับการรักษาโดยการลดฮอร์โมนเพศชาย คือ การตัดลูกอัณฑะออกทั้ง 2 ข้าง หรือการฉีดยา LHRH agonist เพื่อยับยั้งการสร้างฮอร์โมนเทสโตสเตอร์โรนจากลูกอัณฑะได้ นอกจากนั้น ยังมีการให้ยา anti-androgen ร่วมด้วย เพื่อยับยั้งฮอร์โมนแอนโดรเจนจากต่อมหมวกไต ส่วนระยะที่ 4 คือระยะที่มะเร็งกระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองหรือกระดูกแล้ว การรักษาที่นิยมคือ การลดฮอร์โมนเพศชายตามที่ได้ระบุไป

หลังการรักษา แพทย์จะนัดติดตามผลการรักษาโดยการเจาะเลือด PSA เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงของระดับ PSA ถ้าต่ำคือการรักษาได้ผลดี ถ้าสูงขึ้นแสดงว่าโรคกำเริบ ดังนั้น ผู้ป่วยต้องมารับการตรวจทุกครั้งที่แพทย์นัด


กำลังโหลดความคิดเห็น