เอเจนซี - นักวิจัยโคลนนิ่ง ประสบความสำเร็จให้กำเนิดหมูโดยไม่ต้องปฏิสนธิเชื้อฯ หลายฝ่ายเห็นทั้งคุณและโทษ หวั่นประยุกต์ใช้กับวงการอาหาร อีกหนึ่งก้าวย่างหลังสำเร็จในการพัฒนาหมูเรืองแสง สว่างในที่มืด
สื่อจีนรายงาน (25 ก.พ.) ว่า ฟาร์มหมูแห่งหนึ่ง ในคุนหมิง ยูนนาน ประสบความสำเร็จในการโคลนนิ่งตัวอ่อนหมูผ่านรูปแบบการผสมพันธุ์โดยวิธีสืบพันธุ์ไม่ต้องอาศัยเพศ พาร์ทีโนจินิซิส (parthenogenesis) อันหมายถึง การเพิ่มจำนวนของสิ่งมีชีวิตที่ไข่สามารถเจริญเป็นตัวอ่อนโดยไม่ต้องปฏิสนธิกับสเปิร์ม ซึ่งแม้จะเป็นเรื่องเสี่ยงทางการทดลองวิทยาศาสตร์ แต่นับเป็นความคืบหน้าอีกครั้งหนึ่งของการค้นคว้าวิจัยฯ ด้านนี้
รายงานข่าวอ้างข้อมูลจากเว็บไซต์ cyol.com ระบุถึง ความสำเร็จของวิธีการโคลนนิ่งโดยไม่ต้องปฏิสนธิกับสเปิร์มนี้ เป็นเรื่องยากมากในหมู่สัตว์ที่มีกระดูกสันหลัง และยิ่งยากมากขึ้นในหมู่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ในขณะที่ สถาบันจีโนมิกส์ กรุงปักกิ่ง (Beijing Genomics Institute) ได้โคลนนิ่งหมูราว 500 ตัวต่อปี เพื่อทดสอบตัวยาชนิดใหม่ๆ ความคืบหน้าล่าสุดนี้ จะทำให้มีการค้นคว้าการเพาะดีเอ็นเอของผู้บริจาค เพื่อให้กำเนิดตัวอ่อนจากไข่ที่ไม่ได้ผ่านการผสมเชื้อฯ
คณะนักวิจัยจาก ฟาร์มหมูยูนนาน ได้เริ่มกระบวนการเพาะตัวอ่อนโดยไม่ผ่านการปฏิสนธิเชื้อนี้ในเซลล์สืบพันธุ์เพศหญิง เมื่อวันพุธที่ 19 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และนับเป็นการให้กำเนิดหมูตัวแรกของโลกที่เกิดจากการโคลนนิ่ง โดยไม่ต้องใส่เชื้อเข้าไปผสมพันธุ์ เชื่อว่าความก้าวหน้านี้เป็นก้าวสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับวงการแพทย์และวิทยาศาสตร์ ที่ใช้ประโยชน์จากการวิจัยพัฒนาระบบสืบพันธุ์ โรคทางพันธุกรรม ฯลฯ ในอนาคต โดยหวังว่า ฟาร์มวิจัยฯ แห่งนี้ จะไม่พยายามผลักดันการทดลองนี้ไปใช้กับผลิตภัณฑ์ ในรูปแบบของ อาหารดัดแปลงพันธุกรรม ซึ่งยังเป็นเรื่องที่มีข้อถกเถียงกันอย่างมาก
ทั้งนี้ เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยการเกษตรแห่งภาคใต้จีน (South China Agriculture University) มณฑลก่วงตง (กวางตุ้ง) สถาบันวิจัยฯ อีกแห่งของจีน เพิ่งประกาศความสำเร็จในการพัฒนาหมูมหัศจรรย์ สามารถเปล่งแสงสว่างในที่มืด จากการนำโปรตีนฟลูออเรสเซนต์ จากปลา กับดีเอ็นเอของแมงกระพรุน ฉีดเข้าในตัวอ่อนของหมู และว่ามีจุดประสงค์พัฒนายาราคาถูก ที่มีประสิทธิภาพ สำหรับมนุษย์ โดยนำยีนส์พิเศษของสัตว์สายพันธุ์หนึ่ง ใส่ในสัตว์ขนาดใหญ่กว่า