จากสถิติโรคมะเร็งของกระทรวงสาธารณสุขเมื่อปี 2552 พบว่า คนไทยป่วยเป็นโรคมะเร็งเพิ่มขึ้น 23% และมะเร็งเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ของประชากรไทย สำหรับในเพศชาย มะเร็งต่อมลูกหมากได้เลื่อนขึ้นจากอันดับ 9 มาเป็นอันดับ 4 ของมะเร็งที่พบบ่อยที่สุด สะท้อนให้เห็นว่า อุบัติการณ์ของโรคมะเร็งต่อมลูกหมากมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในเกณฑ์ที่น่าตกใจมาก!!
• ต่อมลูกหมากคืออะไร
ต่อมลูกหมากเป็นอวัยวะหนึ่งของระบบสืบพันธุ์ของผู้ชาย อยู่บริเวณคอของกระเพาะปัสสาวะต่อกับท่อปัสสาวะ หากมองด้านข้างจะเห็นกระเพาะปัสสาวะอยู่เหนือต่อมลูกหมาก และจะเห็นต่อมลูกหมากห่อหุ้มรอบท่อทางเดินปัสสาวะส่วนต้น
โดยท่อปัสสาวะเป็นทางเดินร่วมของทั้งน้ำปัสสาวะและน้ำอสุจิในเพศชาย ต่อมลูกหมากจึงเกี่ยวข้องกับทั้งระบบทางเดินปัสสาวะและระบบสืบพันธุ์ ส่วนทางด้านหลังของต่อมลูกหมากเป็นลำไส้ตรง ซึ่งเป็นลำไส้ใหญ่ส่วนสุดท้าย ก่อนถึงทวารหนัก
เนื่องจากต่อมลูกหมากอยู่ใกล้ชิดกับอวัยวะของระบบต่างๆ หลายระบบ โรคของต่อมลูกหมากจึงอาจก่อให้เกิดอาการหรือความผิดปกติของอวัยวะที่อยู่ใกล้เคียงได้
• หน้าที่ของต่อมลูกหมาก
ต่อมลูกหมากเปรียบเสมือนโรงงานผลิตน้ำอสุจิ มีหน้าที่สร้างน้ำเมือกหล่อเลี้ยงเชื้ออสุจิที่เรียกว่า semen
• อาการมะเร็งต่อมลูกหมาก
- ในระยะแรกมะเร็งต่อมลูกหมากจะไม่มีอาการใดๆ บางครั้งพบว่ามีอาการซ้ำซ้อนกับโรคต่อมลูกหมากโต
- ปัสสาวะบ่อย โดยเฉพาะเวลากลางคืน
- ปัสสาวะลำบากในตอนเริ่ม
- ปัสสาวะไม่พุ่ง
- เวลาปัสสาวะจะปวด
- ในกรณีที่มะเร็งต่อมลูกหมากลุกลามไปกระดูก ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหลัง ปวดตามข้อ
• สาเหตุและปัจจัยเสี่ยง
แม้จะยังไม่ทราบแน่นอนว่าสาเหตุเกิดจากอะไร แต่การวิจัยพบว่าปัจจัยเสี่ยงมาจาก
อายุ โดยมักพบในผู้ป่วยอายุ 50 ปีขึ้นไป โดยเฉลี่ยมักพบในผู้ป่วยอายุ 70 ปี
ประวัติครอบครัว ผู้ที่มีพ่อหรือพี่น้องเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากจะมีโอกาสเสี่ยงสูงกว่าคนทั่วไป
เชื้อชาติ มักพบในประเทศทางตะวันตกมากกว่าเอเชีย
อาหาร มักพบว่าผู้ที่บริโภคมันจากสัตว์มาก มีโอกาสเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก มากกว่าผู้ที่นิยมบริโภคผักและผลไม้
• การวินิจฉัยโรค
เนื่องจากมะเร็งต่อมลูกหมากระยะแรกไม่มีอาการ ดังนั้น ผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป ควรไปพบแพทย์เพื่อเจาะเลือดหาค่าสารบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมากที่เรียกว่า Prostate Specific Antigen หรือเรียกสั้นๆว่า PSA และการตรวจคลำต่อมลูกหมากทางทวารหนักที่เรียกว่า DRE ถ้าการตรวจอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทั้งสองอย่างผิดปกติ ก็ทำการตัดเนื้อพิสูจน์
• การรักษา
การรักษาทำได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับระยะของโรค เช่น การผ่าตัด การฉายรังสี การใช้ฮอร์โมน เคมีบำบัด เป็นต้น แม้การผ่าตัดเป็นวิธีที่ดีที่สุด แต่การผ่าตัดแบบผ่าเปิดมักก่อให้เกิดอาการข้างเคียงของการผ่าตัด และมีความเสี่ยงที่จะเสียเลือดได้มาก
ในปัจจุบัน มีการผ่าตัดโดยใช้หุ่นยนต์ (Robotic Radical Prostatectomy) ซึ่งมีข้อดีหลายประการ ได้แก่
- ความแม่นยำในการผ่าตัดสูงเพราะศัลยแพทย์เห็นภาพ 3 มิติ
- ผู้ป่วยเสียเลือดน้อย โดยผู้ป่วยจะมีเลือดซึมออกมาในปัสสาวะหลังจากการผ่าตัดแล้ว ประมาณ 2.5 วันโดยเฉลี่ย (เทียบกับ 5-7 วันเมื่อใช้วิธีผ่าตัดเปิดหน้าท้องแบบเดิม)
- ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วกว่าและสามารถกลับไปใช้ชีวิตตามปกติได้เร็ว โดยพักรักษาตัวในโรงพยาบาลเฉลี่ยเพียง 3.8 วัน เทียบกับ 7-10 วันเมื่อผ่าตัดด้วยวิธีเดิม
- ระยะเวลาการใส่สายสวนปัสสาวะลดลงเหลือประมาณ 8.6 วัน เทียบกับ 14-20 วันจากการผ่าตัดแบบเปิด
- สามารถเก็บรักษาเส้นประสาทได้ดีกว่าการผ่าตัดแบบเปิด ทำให้ผู้ป่วยที่มีข้อบ่งชี้ในการเก็บเส้นประสาท มีความสัมพันธ์ทางเพศได้ตามปกติ
- สามารถเก็บรักษากล้ามเนื้อหูรูดของท่อปัสสาวะ ทำให้ลดความเสี่ยงต่ออาการปัสสาวะรั่ว
(จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ 153 กันยายน 2556 โดย โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล)