อึ้งภาพจิตรกรรมสมัยอยุธยาในพม่าแห่งเดียวถูกโบกปูนทับเสียหาย ชี้เป็นหลักฐานชัดว่ามีชาวอยุธยาอยู่ที่เมืองสะกายด้วย กรมศิลปากร เตรียมนำช่างไปบูรณะภาพจิตรกรรม
เมื่อเร็วๆ นี้ นายเอนก สีหามาตย์ อธิบดีกรมศิลปากร ได้นำคณะผู้เชี่ยวชาญทางโบราณคดี และประวัติศาสตร์ เดินทางไปยังเมืองมัณฑะเลย์ และเมืองสะกาย สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ตามโครงการศึกษาทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี เรื่อง ชาวอยุธยาในเมียนมาร์ นายเอนก เล่าว่า เมื่อปี 2555 กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ได้แจ้ง วธ.ว่า คณะกรรมการพัฒนาเมืองมัณฑะเลย์ มีแผนปรับสภาพพื้นที่สุสานลินซินกง ที่เมืองอมรปุระ ซึ่งเชื่อว่า มีสถูปบรรจุพระอัฐิสมเด็จเจ้าฟ้าอุทุมพร กษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ดังนั้น กต.ร่วมมือ วธ.โดยกรมศิลปากร มาศึกษาเรื่องของประวัติศาสตร์และโบราณคดีเรื่องราวของชาวอยุธยาในเมียนมาร์ เพื่อศึกษาความเป็นอยู่ ชุมชนของคนไทย ในมิติทางวัฒนธรรมระหว่าง 2 ประเทศ
ตนได้นำคณะมาที่โบสถ์วัดมหาเตงดอจี หมู่บ้านลินซิน ในเมืองสะกาย พบภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เขียนภาพปราสาทและลายเส้นสินเธาว์แบบหยักฟัน โดยใช้สีแดง สีขาว สีเขียว และสีดำ ที่สำคัญยังพบภาพจิตรกรรมฝาผนังเขียนลายรูปพระปรางค์มียอดนภศูล แสดงถึงหลักฐานของฝีมือช่างแบบอยุธยาตอนปลายอายุกว่า 200 ปี ที่สำคัญเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังเพียงแห่งเดียวที่ยังคงเหลือและบ่งชี้ถึงประวัติศาสตร์เกี่ยวกับชาวอยุธยาที่เคยอาศัยอยู่ในเมียนมาร์
ดร.ม.ร.ว.รุจยา อาภากร ผู้อำนวยการศูนย์โบราณคดีและวิจิตรศิลป์ (สปาฟา) องค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ซีมีโอ) ผู้ศึกษาภาพจิตรกรรมฝาหนังวัดมหาเตงดอจี กล่าวว่า เมื่อหลายปีก่อนตนได้มาศึกษาและถ่ายรูปภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดแห่งนี้ไว้ แต่วันนี้มีการนำปูนมาโบกทับภาพจิตรกรรมบริเวณด้านล่างลงมาทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม ทางกรมศิลปากรจะประสานกรมโบราณคดีของเมียนมาร์ เพื่อส่งนักโบราณคดีของไทยที่มีความเชี่ยวชาญเข้าไปทำการบูรณะและเก็บข้อมูลเกี่ยวกับภาพจิตรกรรมโดยเร็วที่สุด