เอเอฟพี - ประชาชนชาวพม่าหลายร้อยชีวิตที่ไร้ที่อยู่อาศัยจากเหตุความรุนแรงทางศาสนาที่ปะทุขึ้นครั้งล่าสุด ต้องไปพักอาศัยอยู่ในโรงเรียนในวันนี้ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในพื้นที่กล่าว หลังเกิดเหตุกลุ่มม็อบวางเพลิงเผาบ้านเรือน และร้านค้าของชาวมุสลิม
กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบราว 1,000 คน ได้ก่อเหตุความวุ่นวายไปทั่วทั้งหมู่บ้านในเมืองกันบาลู เขตสะกาย เมื่อเย็นวันเสาร์ (24) ที่รวมทั้งจุดไฟเผาทรัพย์สิน และโจมตีรถกู้ภัย บ้านเรือน และร้านค้าหลายสิบหลังถูกทำลายเสียหาย
“เพลิงลุกไหม้จนกระทั่งคืนวานนี้ แต่ตอนนี้ไฟมอดลงหมดแล้วหลังมีฝนตกลงมาอย่างหนัก” มี้นต์ นาย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย กล่าว และให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สถานการณ์ได้สงบลงแล้ว แต่มีชาย 160 คน และหญิง 158 คน ที่สูญเสียที่อยู่อาศัยของตัวเอง และต้องไปพักแรมชั่วคราวในโรงเรียน
“พวกเขาใช้ชีวิตอยู่อย่างสงบสุขมาเป็นเวลาหลายปี และนี่เป็นครั้งแรกพวกเขาต้องเผชิญกับเหตุความรุนแรง” มี้นต์ นาย กล่าว
การโจมตีต่อต้านชาวมุสลิม ได้เผยให้เห็นถึงความแตกร้าวที่หยั่งลึกในประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือพุทธ และกลายเป็นเงาบดบังการปฏิรูปการเมืองที่ได้รับคำชื่นชมอย่างกว้างขวางนับตั้งแต่การปกครองของทหารสิ้นสุดลงในปี 2554
ความรุนแรงครั้งล่าสุดนี้ นับเป็นเหตุต่อต้านมุสลิมครั้งแรกที่มีรายงานในเขตสะกาย ท่ามกลางสัญญาณว่าความไม่สงบนี้จะขยายเป็นวงกว้างต่อไป
หนังสือพิมพ์นิวไลท์ออฟเมียนมาร์ ของทางการพม่า รายงานว่า สถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติในเช้าวันจันทร์ (26) และเจ้าหน้าที่กำลังจัดเตรียมที่จะเปิดค่ายสำหรับผู้คนที่สูญเสียบ้าน อย่างไรก็ตาม ไม่มีรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ครั้งนี้
รายงานยังระบุว่า มีประชาชน 12 คน ถูกจับกุมตัวในความเกี่ยวข้องกับเหตุความไม่สงบที่เริ่มขึ้นหลังชายชาวมุสลิมถูกควบคุมตัวในข้อสงสัยว่าพยายามที่จะข่มขืนหญิงชาวพุทธในเย็นวันเสาร์
ฝูงชนประมาณ 150 คน และพระสงฆ์ 3 รูป รวมตัวกันที่สถานีตำรวจท้องถิ่นในวันเสาร์ เรียกร้องให้ส่งตัวชายต้องสงสัยคนดังกล่าวให้แก่พวกเขา แต่เมื่อเจ้าหน้าที่ปฏิเสธคำขอ กลุ่มม็อบได้เข้าโจมตีทรัพย์สินของชาวมุสลิมในพื้นที่ และกลุ่มคนได้ขยายตัวเพิ่มขึ้น และการโจมตีรุนแรงยิ่งขึ้นเมื่อเข้าสู่ช่วงกลางคืน
ความรุนแรงทางศาสนาในพม่า ทำให้มีผู้เสียชีวิตราว 250 คน และอีกมากกว่า 140,000 คน ต้องไร้ที่อยู่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม นับตั้งแต่การปะทะกันระหว่างชาวพุทธ และมุสลิมโรฮิงญาปะทุขึ้นในพื้นที่ภาคตะวันตกของประเทศเมื่อปีก่อน และในปีนี้ ความไม่สงบได้แผ่ลามเป็นวงกว้างโดยการโจมตีชาวมุสลิมในทั่วประเทศ.