xs
xsm
sm
md
lg

กพร.ปช.เดินหน้าตั้งสถาบันพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ฝึกภาษา เทคโนโลยี รองรับอนาคตขาดกำลังแรงงาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กพร.ปช.เดินหน้าตั้งสถาบันพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในแต่ละภาคเน้นพัฒนาแรงงานกลุ่มอุตสาหกรรมหลักประเดิมภาคเหนือเน้นท่องเที่ยว-โรงแรม ปั้นแรงงานมีทักษะภาษา ไอที การใช้เทคโนโลยี เครื่องจักรคล่อง รองรับกำลังแรงงานลดลง ขณะที่อุตสาหกรรมรถยนต์ปรับตัวเน้นรับแรงงาน ปวช.-ปวส.เพิ่มขึ้น

 
  นายนคร ศิลปอาชา อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน(กพร.) กระทรวงแรงงาน กล่าวในการสัมมนาแนวทางการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพจังหวัด (กพร.ปจ.) ที่โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค รัชดา กรุงเทพฯ เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า ตนได้สั่งการให้สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานภาค (สพภ.) และศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัด (ศพจ.) ร่วมมือกับ กพร.ปจ.ในการผลิตและพัฒนาฝีมือแรงงานในอุตสาหกรรมที่มีความต้องการแรงงานจำนวนมาก เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ ท่องเที่ยวและบริการ โลจิสติกส์ ก่อสร้าง และการค้าตามแนวชายแดน โดยจะพัฒนาฝีมือแรงงานที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเหล่านี้ รวมถึงรับเด็กที่จบชั้น ป.6 ม.3 และ ม.6 มาฝึกอบรมเป็นเวลา 3-6 เดือน เพื่อป้อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน
 
 
 
นายสมนึก พิมลเสถียร คณะกรรมการพัฒนาแรงงานและประสานงานการฝึกอาชีพแห่งชาติ (กพร.ปช.) กล่าวว่า การพัฒนาแรงงานตามแผนของ กพร.ปช.มุ่งพัฒนาให้กำลังแรงงานมีทักษะภาษาต่างประเทศและไอทีที่ใช้สื่อสารและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพรวมทั้งมีงานทำ มีการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อให้เป็นกำลังคนที่มีคุณภาพสามารถรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน(เอซี) และการที่ประเทศไทยจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว

 
นายถาวร ชลัษเฐียร ประธานอนุกรรมการพัฒนากรอบยุทธศาสตร์การพัฒนากำลังแรงงานในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ กล่าวว่า กพร.ปช.มีแผนงานที่จะจัดตั้งสถาบันพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ขึ้นในภาคต่างๆ โดยยึดตามการดำเนินธุรกิจและอุตสาหกรรมหลักของแต่ละพื้นที่เช่นภาคเหนือเป็นแหล่งธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรมก็จะจัดตั้งสถาบันเน้นพัฒนาแรงงานด้านท่องเที่ยวและโรงแรม ซึ่งขณะนี้ได้จัดตั้งสถาบันขึ้นมาแล้วที่ภาคเหนือและจะขยายสู่กลุ่มธุรกิจและอุตสาหกรรมหลักอื่นๆ ต่อไป โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ อาหารและท่องเที่ยวที่มีการเติบโตสูง แต่อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์การเติบโตหยุดชะงัก เพราะผลจากภัยน้ำท่วมและค่าจ่างวันละ 300 บาท ทำให้ต้องย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้าน
 
 
 
กพร.ปช.จะทำหน้าที่กำกับดูแลแผนงาน คุณภาพและมาตรฐานการพัฒนาฝีมือแรงงาน ขณะเดียวกัน กพร.จะต้องปรับบทบาทและแนวทางการพัฒนาฝีมือแรงงาน ควรให้ภาคเอกชนและสถานประกอบเข้ามาช่วยฝึกอบรมมากขึ้น และวิธีฝึกอบรมจากปัจจุบันครูฝึก 1 คน อบรมแรงงานได้เพียง 300 คน เป็นครูฝึกอบรมพัฒนาแรงงานเพื่อให้ไปเป็นครูฝึกถ่ายทอดความรู้แก่แรงงานอีกทอดหนึ่ง จะทำให้การพัฒนาฝีมือแรงงานทำได้รวดเร็ว และมีจำนวนมากขึ้น นอกจากนี้ จะต้องพัฒนาแรงงานไทยให้มีความรู้ทางด้านภาษาต่างประเทศและไอที มีทักษะในการใช้เทคโนโลยีและเครื่องจักรสมัยใหม่ เพราะเวลานี้ไทยมีกำลังแรงงานน้อยลงเรื่อยๆ เชื่อว่าอนาคตอุตสาหกรรมต่างๆ ในไทย จะต้องขยายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้าน” นายถาวร กล่าว
 
 
นายถาวร กล่าวด้วยว่า ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมได้วางแผนที่จะปรับสัดส่วนกำลังคนจากปัจจุบันใช้กำลังแรงงานวุฒิม.3 และ ม.6 55% จะลดลงเหลือ 35% และเพิ่มแรงงานระดับทักษะฝีมือที่มีวุฒิ ปวช., ปวส.จาก 35% เป็น 55% และวุฒิปริญญาตรีจาก 10% เพิ่มเป็น 15% เพื่อปรับตัวให้สามารถแข่งขันในเวทีเอซีและเวทีโลกได้ เนื่องจากในอนาคตอุตสาหกรรมยานยนต์ตั้งเป้าจะผลิตรถยนต์ให้ได้ 3.5 ล้าน ถึง 5 ล่านคันต่อปี จากปัจจุบันอยู่ที่ 2.5 ล้านคัน สร้างรายได้ให้ประเทศมูลค่า 2 ล้านล้านบาท


กำลังโหลดความคิดเห็น