xs
xsm
sm
md
lg

เข้าหน้าร้อนระวัง “ยุงลาย” หิวโซอาละวาดดูดเลือด เหตุจำศีลนาน เสี่ยงป่วยไข้เลือดออก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สธ.เตือนเข้าสู่หน้าร้อน “ยุงลาย” ดุ เหตุหิวโซหลังจำศีลฤดูหนาว อาวะอาดกินเลือดคนและวางไข่ เผยแค่เดือนกว่าๆ ป่วยแล้ว 1.4 พันราย ตาย 1 ราย กำชับ สสจ.รณรงค์ประชาชนกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย หลังพบยังเข้าใจผิดๆ ว่าเป็นหน้าที่ อสม.
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้ไทยกำลังเข้าสู่ฤดูร้อน อากาศอบอุ่นขึ้นจึงมีผลต่อการเพิ่มจำนวนยุงลาย ซึ่งเป็นตัวการแพร่เชื้อไข้เลือดออก เนื่องจากช่วงอากาศหนาวเย็นและสภาพอากาศแห้ง ทำให้ระบบไหลเวียนเลือดของยุงไม่ดี ไม่มีแรงบินออกไปหากินเลือดคน จึงใช้ชีวิตแบบจำศีล ไม่เอื้อต่อการแพร่พันธุ์ แต่เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นระบบไหลเวียนเลือดดีขึ้น ยุงลายจะรีบออกมากินเลือดคน ทำให้โรคไข้เลือดออกแพร่กระจายรวดเร็ว หากมีฝนตกจะยิ่งเพิ่มแหล่งวางไข่ยุงลาย จึงกำชับให้สำนักงานสาธารณสุขทุกจังหวัด (สสจ.) ทั่วประเทศ เร่งรณรงค์ประชาชนกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย โดยเฉพาะพื้นที่ที่พบผู้ป่วยในปีที่ผ่านมาให้ทำอย่างต่อเนื่องทุกสัปดาห์

นพ.ณรงค์ กล่าวอีกว่า แม้ปี 2557 ยังพบผู้ป่วยไข้เลือดออกอย่างต่อเนื่อง แต่นักวิชาการคาดการณ์ว่าสถานการณ์จะไม่รุนแรงเช่นปี 2556 ซึ่งพบผู้ป่วย 152,768 ราย เสียชีวิต 132 ราย สูงสุดในรอบ 20 ปี โดยปีนี้คาดว่าจำนวนผู้ป่วยอาจสูงถึง 80,000 - 100,000 ราย ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-17 ก.พ.พบผู้ป่วยไข้เลือดออกแล้ว 1,433 ราย เสียชีวิต 1 ราย ที่น่าห่วงคือประชาชนยังเข้าใจผิดว่า การควบคุมยุงลายเป็นหน้าที่ของ อสม.และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และเคยชินกับการมีลูกน้ำอยู่ในบ้าน จึงไม่คิดลงมือกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายด้วยตนเอง แต่รอให้เจ้าหน้าที่มาพ่นเคมีฆ่ายุงตามท่อระบายน้ำและแอ่งน้ำเสีย ซึ่งเป็นที่อยู่ของยุงรำคาญที่กัดคนกลางคืน ตรงนี้ต้องเร่งเปลี่ยนทัศนคติว่า บ้านตนเอง ครอบครัวตนเอง คนในครอบครัวต้องเป็นคนดูแลเอง เรียกว่า บ้านใครบ้านมัน

ด้าน นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า จากการวิเคราะห์ข้อมูลโรคไข้เลือดออกปี 2556 พบว่า วัยรุ่นอายุ 15-24 ปีป่วยมากที่สุดร้อยละ 29 รองลงมาคือกลุ่มเด็กอายุ 10-14 ปีร้อยละ 21 กลุ่มเด็กอายุ 5-9 ปีร้อยละ 14 และกลุ่มผู้ใหญ่อายุ 25-34 ปีร้อยละ 13 โดยปี 2557 วัยรุ่นยังเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง เนื่องจากวิถีชีวิตมีความเสี่ยงโดนยุงลายกัดเพิ่มมากขึ้น เช่น ทำกิจกรรมนอกห้องเรียน รวมกลุ่มเล่นเกมในร้านคอมพิวเตอร์ หรืออยู่สถานที่บันเทิงเป็นเวลานาน เป็นต้น ปีนี้ คร.จึงตั้งเป้าหมายการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในสถานที่สำคัญ 5 แห่ง หรือ 5 ร.คือ โรงเรือน โรงเรียน โรงพยาบาล โรงแรม/โรงงาน โรงธรรม และพัฒนาศักยภาพทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) ทุกระดับ เพื่อควบคุมโรคในพื้นที่ที่มีรายงานพบผู้ป่วยไข้เลือดออกใน 24 ชั่วโมง และทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย พ่นสารเคมีฆ่ายุงตัวเต็มวัยภายในบ้านและรอบบ้านผู้ป่วยรัศมี 100 เมตร และพ่นซ้ำใน 7 วัน เพื่อไม่ให้ยุงหลงเหลืออยู่

ที่น่าห่วงคือแม้บ้านจัดสรร ทาวน์เฮาส์ และคอนโดมีเนียมสมัยใหม่จะมีมุ้งลวดป้องกันยุงมิดชิด ไม่มีโอ่งเก็บน้ำในบ้าน แต่ยุงลายสามารถพัฒนาตัวและหาแหล่งวางไข่ได้ ที่ตรวจพบคือ ในคอห่าน ซิงค์น้ำ หรืออ่างล้างมือ ล้างหน้าทั่วๆ ไป หากพบมียุงบินในบ้านเป็นสัญญาณเตือนว่ามีแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในบ้านแน่นอน ขอให้นึกถึงซิงค์น้ำ และรีบกำจัดยุงลายโดยต้มน้ำให้เดือดและเทราดลงในซิงค์น้ำทุก 5-7 วัน เพื่อทำลายไข่ยุง นอกจากนี้ ยังพบในจานรองน้ำของเครื่องทำน้ำเย็นชนิดคว่ำถัง ซึ่งนิยมตามโรงเรียน โรงอาหารต่างๆ ซึ่งไข่ยุงลายอึด สามารถทนน้ำเย็น ทนหิมะได้เป็นเวลานาน โดยไข่จะสลบชั่วคราว หากอุณหภูมิเปลี่ยน ก็กลายเป็นตัวยุงได้เช่นกัน” อธิบดี คร.กล่าว

นพ.โสภณ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกันไข้เลือดออก วิธีที่ดีที่สุดคือการป้องกัน ขอให้ประชาชนทุกคน ทุกครัวเรือน ช่วยกันกำจัดลูกน้ำยุงลาย เจอปุ๊บต้องกำจัดปั๊บ อย่าปล่อยจนกลายเป็นตัวยุง ขัดล้างภาชนะนั้นเพื่อให้ไข่ยุงที่ติดอยู่หมดไป ดูแลบ้านไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ ติดมุ้งลวดที่ห้องนอน และป้องกันตัวเองไม่ให้ยุงกัด โดยสวมใส่เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว ใช้ยาทากันยุง นอนในมุ้ง หากป่วย มีอาการไข้สูงลอยทั้งผู้ใหญ่และเด็ก กินยาพาราเซตามอลลดไข้แล้วไข้ยังไม่ลด ไม่ไอ ไม่มีน้ำมูก ซึ่งต่างจากการเป็นหวัดที่จะมีน้ำมูกร่วมด้วย ร่วมกับคลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร อาจมีจุดเลือดออกที่ผิวหนัง ขอให้รีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษา หากเป็นไข้เลือดออกแล้ว ช่วงระยะไข้ลดลงในวันที่ 3-4 ของการป่วย หากผู้ป่วยมีอาการซึมลง กินอาหารดื่มน้ำไม่ได้ อาจเข้าสู่ภาวะช็อก ขอให้รีบพบแพทย์เพื่อรักษาอย่างทันท่วงที ป้องกันการเสียชีวิต


กำลังโหลดความคิดเห็น