xs
xsm
sm
md
lg

จี้ สธ.แจกโฟเลตฟรี “สาววัยทำงาน” ก่อนเจาะไข่แดงปั๊มลูก ช่วยลดเด็กพิการแต่กำเนิด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ไทยแชมป์แม่วัยใสของเอเชีย ลูกเสี่ยงพิการแต่กำเนิด แถมเจอปัญหาดาวน์ซินโดรม ด้านสาววัยทำงานเจอปัญหาไม่วางแผนการมีบุตร ได้รับโฟเลตน้อย ลูกเสี่ยงพิการเช่นกัน จี้ สธ.แจกโฟเลตฟรีแบบต่างประเทศ เผยมะกันแจกโฟเลตช่วยลดเด็กพิการแต่กำเนิดได้ 50-75%
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
วันนี้ (13 ก.พ.) ที่โรงแรมเดอะสุโกศล ศ.เกียรติคุณ พญ.พรสวรรค์ วสันต์ นายกสมาคมเพื่อเด็กพิการแต่กำเนิด (ประเทศไทย) ในฐานะแพทย์ด้านพันธุกรรมโรงพยาบาลศิริราช แถลงข่าวเรื่อง “รักไม่พร้อม: จุดเริ่มต้นความพิการแต่กำเนิด” ว่า ไทยมีปัญหาสถิติแม่วัยรุ่นสูงเป็นอันดับหนึ่งของเอเชีย ผลกระทบที่ตามมาคือความเสี่ยงคลอดก่อนกำหนด ทารกไม่สมบูรณ์ น้ำหนักตัวน้อย ซึ่งน้ำหนักเด็กแรกเกิดตามปกติจะต้องอยู่ระหว่าง 2,500-3,500 กรัม แต่เด็กที่เกิดจากแม่วัยใส โดยเฉพาะที่อายุน้อยมากๆ เด็กอาจมีน้ำหนักตัวต่ำกว่า 1,800 กรัม ซึ่งจะนำไปสู่การมีพัฒนาการที่ล่าช้าทั้งทางด้านร่างกายและสมอง

จากการให้การรักษามาตลอด แม่ที่มีอายุน้อยกว่า 14 ปี มักจะคลอดลูกออกมาเป็นดาวน์ซินโดรมล่าสุดเมื่อประมาณสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่า มีแม่อายุ 9 ขวบคลอดบุตรออกมาแล้วพบว่าเป็นดาวน์ซินโดรม ดังนั้น จึงอยากให้ระวังในเรื่องนี้ด้วย ไม่ใช่เฉพาะในแม่ที่อายุมากเท่านั้นที่จะพบบุตรมีอาการดาวน์ซินโดรม” ศ.เกียรติคุณ พญ.พรสวรรค์ กล่าว

ศ.เกียรติคุณ พญ.พรสวรรค์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ แม่อายุน้อยยังมีวุฒิภาวะในการเลี้ยงดูบุตรต่ำ ทำให้พบปัญหาทั้งการทำร้ายเด็ก ทำร้ายตัวเอง ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตทารกทั้งระยะสั้น ระยะยาว โดยเฉพาะปัญหาความพิการตั้งแต่กำเนิด ซึ่งเกิดได้จากหลายปัจจัย ทั้งพันธุกรรม การได้ยาระหว่างตั้งครรภ์ โภชนาการไม่เหมาะสม ฯลฯ ไม่เฉพาะแต่แม่วัยใสเท่านั้น เพราะยังพบอีกว่าร้อยละ 50 ของหญิงตั้งครรภ์ไม่มีการวางแผนและไม่มีความพร้อมในการมีบุตร ทำให้ไม่ได้รับโฟเลต ซึ่งที่จริงแล้วหญิงวัยเจริญพันธุ์ทุกคนควรได้รับโฟเลต เนื่องจากจากการทำวิจัยของประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่าการหว่านแจกโฟเลตให้กับหญิงวัยเจริญพันธุ์ทุกคนในสหรัฐอเมริกานั้น สามารถช่วยลดความพิการแต่กำเนิดได้ประมาณร้อยละ 50- 75 โดยเฉพาะความพิการจากโครโมโซม นอกจากนี้โฟเลตยังดีในกลุ่มผู้สูงอายุเพราะช่วยแก้ปัญหาอัลไซเมอร์ได้อีกด้วย

ศ.เกียรติคุณ พญ.พรสวรรค์ กล่าวว่า สำหรับในต่างประเทศ เช่น พม่า เนปาล ฟิลิปปินส์ และอินเดีย มีการเริ่มแจกโฟเลตให้กับนักเรียนหญิงชั้นมัธยมศึกษาทุกคนแล้ว ส่วนในจีนที่มีประชากรจำนวนมากก็มีการตื่นตัวและมีการแจกโฟเลตให้กับผู้หญิงทุกคนที่แต่งงาน นอกจากนี้ ในกลุ่มของผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ทุกคนนั้นควรรับประทานโฟเลต เพื่อป้องกันทารกพิการแต่กำเนิด โดยอัตราการบริโภคอยู่ที่สัปดาห์ละ 5 มิลลิกรัม ส่วนในหญิงตั้งครรภ์จะต้องได้รับโฟเลตมากกว่าปกติ 3 เท่า ส่วนไทยยังมีการตื่นตัวเรื่องนี้น้อย จึงอยากเรียกร้องให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้ความสำคัญกับการป้องกันโรคความพิการแต่กำเนิดมากขึ้น เช่น การรณรงค์ให้ความรู้ และการแจกโฟเลตฟรีในกลุ่มหญิงวัยเจริญพันธุ์

“ขณะนี้มีการตื่นตัวของโรงเรียนแพทย์ 8 แห่ง และเครือข่ายต่างๆ ในการจัดทำแผนเผยแพร่ความรู้ให้บุคลากรทางการแพทย์ สถานพยาบาล และประชาชน 5 กลุ่มโรคที่พบบ่อย คือ 1.อาการดาวน์ 2.หลอดประสาทไม่ปิด 3.โรคปากแหว่งเพดานโหว่ 4.แขนขาพิการแต่กำเนิด และ 5.กล้ามเนื้อเสื่อมพันธุกรรมดูเชนน์ นำร่องใน 22 จังหวัด เข้าสู่การสร้าง “อำเภอต้นแบบ” รวม 12 อำเภอ เพื่อให้ความรู้เรื่องการป้องกันความพิการแต่กำเนิด ซึ่งเริ่มดำเนินการมาแล้วประมาณ 3 ปี เช่น การให้โฟเลตแก่เด็กหญิงวัยเจริญพันธุ์ ตั้งแต่ในโรงเรียนมัธยม หรือตรวจคัดกรองในคู่สามีภรรยา เป็นต้น” ศ.เกียรติคุณ พญ.พรสวรรค์ กล่าว


รัฐบาลจีนตั้งจุดฉุกเฉินรองรับ “เด็กทารกป่วย-พิการ” ที่พ่อแม่จีนสมัยใหม่แอบทิ้งไว้ข้างถนน
รัฐบาลจีนตั้งจุดฉุกเฉินรองรับ “เด็กทารกป่วย-พิการ” ที่พ่อแม่จีนสมัยใหม่แอบทิ้งไว้ข้างถนน
ในยุคปัจจุบันที่ถึงแม้นโยบายมีบุตรคนเดียวที่ผ่อนคลาายลง แต่ถึงกระนั้น พ่อแม่ชาวจีนสมัยใหม่ยังคงแอบนำทารกแรกคลอดทิ้งไว้ในที่สาธารณะ เช่น ถังขยะ หรือบนรถไฟ ซึ่งกระแสทิ้งเด็กทารกเพศหญิงเช่นในอดีตได้เปลี่ยนเป็นการทิ้งทารกแรกคลอดที่พิการหรือป่วยแทน จากสาเหตุขาดระบบประกันสุขภาพที่ดีในจีน ทำให้รัฐบาลจีนต้องมีนโยบายรองรับเด็กทารกที่ทอดทิ้งนี้โดยการตั้งจุดฉุกเฉิน ซึ่งเรียกว่า “เกาะทารกปลอดภัย” เพื่อให้เด็กทารกถูกทิ้งในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม
กำลังโหลดความคิดเห็น