xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ร่อน จม.ถึงผู้ว่าฯ-ตำรวจเข้มห้ามขายเหล้าวันมาฆะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สถิติคนไทยจ่ายค่าเหล้าต่อหัวเดือนละ 509 บาท ทั้งที่มีผู้ไม่ดื่มและไม่เคยดื่มมากถึง 32 ล้านคน สธ.ร่อนจดหมายขอผู้ว่าราชการจังหวัดและตำรวจทั่วประเทศบังคับใช้กฎหมายจริงจัง ห้ามขายเหล้าวันมาฆบูชา

นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า วันที่ 14 ก.พ.เป็นวันมาฆบูชา ถือเป็นวันพระใหญ่ที่ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด ตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ซึ่งการดำเนินการการควบคุมนั้น สธ.ได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทั่วประเทศ และทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 77 จังหวัด ในฐานะประธานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับจังหวัด ขอให้เข้มงวด ปฏิบัติตามกฎหมาย ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด ทั้งขายส่งและขายปลีก รวมทั้งขอความร่วมมือตำรวจทั่วประเทศช่วยสอดส่องดูแลพื้นที่ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ไม่ให้มีการฝ่าฝืนกฎหมาย โดยเริ่มตั้งแต่หลังเที่ยงคืนของวันที่ 13 ก.พ.ถึงเวลา 24.00 น.ของวันที่ 14 ก.พ.โดยจะส่งเจ้าหน้าที่จากส่วนกลางออกสุ่มตรวจ หากพบฝ่าฝืนกฎหมายจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ด้าน นพ.สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า แม้วันที่ 14 ก.พ.นี้ จะตรงกับวันมาฆบูชา วันวาเลนไทน์ และครบรอบ 6 ปี พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เรียกว่าเป็นวันสำคัญทั้งศาสนา สุขภาพ และความรัก ซึ่งไม่ได้แปลว่าต้องเฉลิมฉลอง หรือการให้ของแทนใจกันและกัน แต่ขอให้ประชาชนและเยาวชนใช้ชีวิตด้วยความระมัดระวัง ด้วยการงดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันพระใหญ่ ใช้โอกาสนี้เข้าวัดทำบุญสร้างกุศล ไม่อุดหนุนน้ำเมา ไม่เข้าใกล้โรคเอดส์ โดยในเทศกาลวันมาฆบูชาปี 2556 พบการกระทำผิดขายเหล้าทั้งสิ้น 22 คดี แบ่งเป็นกล่าวโทษ 17 คดี และเปรียบเทียบปรับ 5 คดี

นพ.สมาน กล่าวอีกว่า ผลการสำรวจพฤติกรรมการดื่มสุราของคนไทย พ.ศ.2554 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ผู้ดื่มในแต่ละกลุ่มอายุ ได้แก่ 15-24 ปี 25-59 ปี และ 60 ปีขึ้นไป มีสถานที่ซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 3 อันดับแรกเหมือนกัน คือร้อยละ 75 ซื้อจากร้านขายของชำ รองลงมาคือร้านสะดวกซื้อ และร้านอาหาร ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จากร้านขายของชำมากที่สุด ร้อยละ 85 รองลงมาคือ ภาคใต้ ร้อยละ 74 ภาคเหนือ ร้อยละ 73 โดยผู้ดื่มร้อยละ 70 ดื่มในบ้านตนเอง บ้านเพื่อน มีค่าใช้จ่ายเรื่องนี้เฉลี่ยเดือนละ 509 บาทต่อคน โดยขณะนี้คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ยังคงเป็นนักดื่มจำนวนเกือบ 17 ล้านคน มีผู้ที่ไม่ดื่มและไม่เคยดื่มเลยในชีวิต จำนวน 32 ล้านกว่าคน


กำลังโหลดความคิดเห็น