xs
xsm
sm
md
lg

หมอแนะโหด! ฆ่าหนูทิ้งสถานเดียว เหตุโรคฉี่หนูในเมืองอันตรายกว่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สธ.เตือนโรคฉี่หนูในเมืองอันตราย เหตุมักไม่คิดว่าเป็นโรคฉี่หนู เพราะไม่มีประวัติการลุยน้ำ ย้ำไข้สูงทันทีทันใด ปวดน่อง ต้องรีบพบแพทย์ แนะทำความสะอาดบ้าน สำนักงาน อย่าให้เป็นแหล่งอาศัยของหนู หากพบเจอต้องกำจัด ฆ่าทิ้งเท่านั้น ระบุการขับไล่ป้องกันไม่ได้ แถมช่วยให้หนูแพร่พันธุ์เรื่อยๆ

นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ปัญหาหนึ่งของโรคเลปโตสไปโรซีส หรือโรคฉี่หนู คือ ส่วนใหญ่จะเข้าใจว่าพบได้เฉพาะในทุ่งนาหรือพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังเท่านั้น แต่ความเป็นจริงหนูบ้านหรือหนูตามอาคารสำนักงานต่างๆ ก็เป็นพาหะของโรคเช่นกัน โดยเชื้อโรคจะอยู่ในฉี่ของหนูที่ติดเชื้อได้นานหลายเดือน หากมีการติดเชื้อแพทย์อาจคิดไม่ถึงโรคนี้ เพราะไม่มีประวัติลุยน้ำมาก่อน สธ.ได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทั่วประเทศ ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ประชาชนดูแลความสะอาด อาคารสำนักงาน โต๊ะทำงาน โต๊ะอาหาร บ้านเรือน กำจัดขยะเศษอาหาร ไม่ให้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของหนู ถังขยะเปียกต้องมีฝาปิดป้องกันหนูลงไปกินอาหาร หากมีหนูควรใช้อุปกรณ์ดักหนูและกำจัดทิ้ง เพราะการใช้วิธีไล่หนูหนีจากบ้านเรือน สำนักงาน ไม่สามารถป้องกันได้ และจะทำให้หนูแพร่พันธุ์เพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ

นพ.ณรงค์กล่าวต่อว่า โดยทั่วไปเชื้อฉี่หนูจะเข้าสู่ร่างกายได้ 2 ทางคือ ปากจากการกินอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อน และทางแผล เยื่อบุในปากหรือตา หรือรอยผิวหนังถลอก รวมทั้งผิวหนังปกติที่แช่น้ำนานๆ เชื้อก็สามารถไชผ่านเข้าไปได้ หลังติดเชื้อประมาณ 10 วัน จะมีอาการป่วย ที่มีลักษณะเฉพาะต่างจากโรคอื่นๆ ได้แก่ มีไข้สูงทันทีทันใด ปวดศีรษะ ปวดตามกล้ามเนื้อมากโดยเฉพาะที่น่อง โคนขาทั้ง 2 ข้าง หากมีอาการดังกล่าวควรรีบพบแพทย์ แจ้งประวัติการลุยน้ำ ย่ำโคลน หรือการพบเห็นหนูในบ้านหรือสำนักงานให้แพทย์ทราบเพื่อให้การรักษาได้อย่างถูกต้อง ขณะนี้โรงพยาบาลทุกแห่งมียารักษาให้หายขาดได้

ที่น่าห่วงคือ ผู้ป่วยโรคฉี่หนูส่วนใหญ่จะเป็นเพศชายอยู่ในวัยทำงาน ซึ่งเป็นกำลังหลักในการหารายได้ของครอบครัว หากเป็นผู้สูบบุหรี่จะมีโอกาสเกิดอาการแทรกซ้อนที่ปอดได้ง่ายและมีอาการรุนแรง เสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูงกว่าผู้ที่ไม่สูบ อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีอาการไข้สูงทันทีทันใด ปวดศีรษะ ปวดตา กล้ามเนื้อ โดยเฉพาะน่อง จะต้องรีบไปพบแพทย์หลังมีอาการป่วยไม่เกิน 3 วัน อย่าซื้อยากินเอง” ปลัด สธ.กล่าว

ด้าน นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า สำนักระบาดวิทยาได้วิเคราะห์จำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคฉี่หนูพบว่า ในปีงบประมาณ 2551-2555 มีผู้เสียชีวิต 313 ราย ร้อยละ 70 เป็นเพศชาย ส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงาน ปี 2556 มีผู้ป่วย 3,005 ราย เสียชีวิต 31 ราย จังหวัดที่มีอัตราป่วยต่อแสนประชากรสูงสุด 5 อันดับแรก คือ ศรีษะเกษ 317 ราย สุรินทร์ 231 ราย บุรีรัมย์ 194 ราย นครศรีธรรมราช 148 ราย กาฬสินธุ์และขอนแก่นจังหวัดละ 125 ราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอัตราป่วยสูงสุด รองลงมาคือภาคใต้ มีผู้เสียชีวิตตลอดทั้งปี แต่มักจะสูงสุดในฤดูฝนช่วง ก.ค. และ ต.ค. เพราะมีการเพิ่มประชากรหนูมาก และเชื้อแพร่กระจายได้มากจากน้ำฝน ทั้งนี้ ม.ค. 2557 พบผู้ป่วยแล้ว 91 ราย เสียชีวิต 1 ราย

นพ.โสภณกล่าวอีกว่า จากการวิเคราะห์ข้อมูลผู้เสียชีวิตในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ช่วงเวลาเริ่มป่วยจนถึงเสียชีวิตเท่ากับ 5 วัน ขณะที่ในกลุ่มผู้ป่วยที่รอดชีวิตจากโรคฉี่หนู พบว่าเป็นผู้ป่วยที่ไปพบแพทย์หลังจากเริ่มมีอาการป่วยแล้วไม่เกิน 3 วัน ดังนั้น หากสงสัยว่าจะป่วยด้วยโรคนี้จะต้องรีบไปพบแพทย์ทันทีพร้อมกับเล่าประวัติเสี่ยงของการติดเชื้อเพื่อแพทย์จะได้ให้การรักษาอย่างถูกต้องเพื่อลดโอกาสเสี่ยงต่อการเสียชีวิต


กำลังโหลดความคิดเห็น