xs
xsm
sm
md
lg

กองทุน ขรก.ท้องถิ่นไร้สะดุด 4 เดือนแรกแห่ใช้สิทธิ 2.7 แสนครั้ง รวม 552 ล.บาท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กองทุนรักษาพยาบาล ขรก.ท้องถิ่นยังราบรื่น ไร้สะดุด สปสช.เผยรับเงินบริหารกองทุนงวดแรกแล้ว 2 พันล้านบาท ก.พ.เตรียมโอนให้อีก 2 พันล้านบาท พบ 4 เดือนแรกมีผู้ใช้สิทธิ 2.7 แสนครั้ง เป็นเงิน 552 ล้านบาท จี้ผู้มีสิทธิเร่งลงทะเบียนเบิกจ่ายตรง

วันนี้ (4 ก.พ.) ที่โรงแรมริชมอนด์ นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวในการประชุมชี้แจงผลการดำเนินงานของ สปสช.ในการทำหน้าที่บริหารกองทุนค่ารักษาพยาบาลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ให้แก่ผู้แทนข้าราชการ และพนักงาน อปท. ว่า สปสช.ได้รับเงินจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นงวดแรกสำหรับบริหารกองทุนแล้ว เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2556 จำนวนกว่า 2 พันล้านบาท ซึ่งผู้มีสิทธิจะได้รับสิทธิประโยชน์เช่นเดียวกับสิทธิสวัสดิการข้าราชการ ขณะเดียวกัน ได้สิทธิตามมาตรา 41 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ในการได้รับค่าชดเชยเยียวยาเบื้องต้นจากการได้รับความเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์ด้วย

นพ.วินัย กล่าวอีกว่า ผู้มีสิทธิมีทั้งหมด 687,626 คน จาก อปท. ทั้งองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เทศบาล และองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) จำนวน 7,851 แห่ง มีการลงทะเบียนเบิกจ่ายตรง 297,390 คน คิดเป็นร้อยละ 43.25 ผลการดำเนินการ 4 เดือนที่ผ่านมา พบว่า มีการใช้บริการแล้ว 272,763 ครั้ง เป็นเงิน 552.1 ล้านบาท ซึ่ง สปสช.ได้ทำหน้าที่จ่ายเงินให้แก่สถานพยาบาล แบ่งเป็น 1.กรณีเบิกจ่ายตรง คือ ผู้มีสิทธิเมื่อไปรักษาพยาบาลไม่ต้องสำรองจ่าย พบว่า มีสถานพยาบาลส่งข้อมูลเบิกจ่ายตรงเข้ามา 882 แห่ง มีผู้เข้ารับบริการทางการแพทย์ 230,679 ครั้ง จำนวนเงินเรียกเก็บทั้งหมด 462.5 ล้านบาท กรณีผู้ป่วยนอก 216,537 ครั้ง เป็นเงิน 214.7 ล้านบาท และผู้ป่วยใน 14,142 ครั้ง เป็นเงิน 247.8 ล้านบาท และ 2.กรณีผู้ป่วยสำรองเงินไปก่อนทั้งหมด 42,084 ใบเสร็จ เป็นเงิน 86.9 ล้านบาท

“ผู้ที่ลงทะเบียนเบิกจ่ายตรงแล้วไม่ต้องสำรองจ่าย เพียงแสดงบัตรประชาชน หรือบัตรอื่นที่ทางราชการออกให้มีเลข 13 หลัก กรณีเด็กอายุต่ำหว่า 7 ปีใช้สูติบัตร ที่มีผู้มีสิทธิไปใช้บริการครั้งแรกแล้วเบิกจ่ายตรงไม่ได้ อาจเป็นเพราะสถานบริการยังไม่เข้าใจระบบขอเลขอนุมัติสิทธิเบิกจ่ายตรงจาก สปสช. ซึ่งจะเร่งทำความเข้าใจต่อสถานบริการ สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้ลงทะเบียน หากไปใช้บริการต้องสำรองจ่ายแล้วนำใบเสร็จไปเบิกกับต้นสังกัดจึงจะได้รับเงินคืน หลังจากตรวจสอบความถูกต้องของเอกสาร ขอให้ผู้มีสิทธิลงทะเบียนโดยเร็วที่สุดจะทำให้ใช้บริการได้สะดวก ส่วนผู้มีหลายสิทธิ เช่น พ่อแม่มีลูก 2 คน เป็นพนักงานท้องถิ่น 1 คน และข้าราชการ 1 คน ระบบจะจัดเรียงสิทธิให้ แต่หากเป็นสิทธิของผู้มีสิทธิเองทั้ง 2 สิทธิ เช่น นายก อบต.เป็นข้าราชการบำนาญผู้มีสิทธิต้องเลือก” เลขาธิการ สปสช. กล่าว

ด้าน นายสมดี คชายั่งยืน รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กล่าวว่า ภายใน ก.พ.นี้ กรมจะดำเนินการโอนเงินค่ารักษาพยาบาลเพื่อใช้ในการบริการกองทุนแก่ สปสช.อีกงวด ประมาณ 2 พันล้านบาท อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นมีปัญหา และข้อกังวล 3 ประเด็น คือ 1.ผู้มีสิทธิยังใช้สิทธิไม่ได้ในโรงพยาบาลรัฐบางแห่ง แม้จะมีหลักฐานยืนยันการเป็นข้าราชการพนักงานท้องถิ่น 2.เมื่อนำใบเสร็จมาเบิกถูกหักค่าโอนทำให้ได้รับเงินไม่ครบตามจำนวนที่เป็นค่ารักษาจริงตามสิทธิ ซึ่ง อปท.แต่ละแห่งต้องเป็นผู้รับผิดชอบ หากไม่ได้ดำเนินการผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารกรุงไทย ที่กำหนดให้ขอยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอน จึงอยากขอความร่วมมือ สปสช.หากพบว่าต้องโอนเงินตามใบเสร็จผ่านธนาคารอื่นให้ตีกลับ และ 3.กลัวจะมีการเบิกเงินซ้ำซ้อน ด้วยการนำใบเสร็จไปเบิกกับ อปท.แล้วมาเบิกกับ สปสช.ด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น