xs
xsm
sm
md
lg

วิธีเอาตัวรอด-ช่วยเหลือคนเจ็บ เหตุเพลิงไหม้ตรุษจีน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สพฉ.แนะวิธีปฏิบัติตัวเมื่อเกิดเหตุไฟไหม้ช่วงเทศกาลตรุษจีน ย้ำหมอบคลาน ใช้ผ้าชุบน้ำปิดจมูกป้องกันอันตรายจากควัน ก่อนเปิดประตูให้สัมผัสก่อนว่าประตูร้อนหรือไม่ ถ้าร้อนต้องใช้เส้นทางอื่น พร้อมระบุวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น ทั้งไฟไหม้ สำลักควัน ถูกประทัดจนอวัยวะขาด
แฟ้มภาพเมื่อครั้งพลุระเบิดงานตรุษจีนที่สุพรรณบุรี เมื่อปี 2555
นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า ช่วงเทศกาลตรุษจีน จะมีการจุดธูปเทียน เผากระดาษเงิน กระดาษทอง จุดประทัด ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัย และมีสถิติผู้ป่วยฉุกเฉินจากเหตุไฟไหม้สูงกว่าปกติ เพื่อเป็นการป้องกัน ประชาชนจึงควรระมัดระวังในการใช้แก๊สหุงต้ม และไม่ควรจุดธูปเทียนจำนวนมากในครั้งเดียว เพราะอาจทำให้ไฟลามได้ง่าย ควรจุดธูปเทียนในภาชนะทนไฟ ดูแลดับธูปเทียนให้สนิท ควรประกอบพิธีในพื้นที่โล่งแจ้ง และห่างจากแหล่งเชื้อเพลิง นอกจากนี้ ควรเตรียมถังน้ำหรือถังดับเพลิงไว้ในบริเวณใกล้เคียงเพื่อความไม่ประมาท ส่วนการจุดประทัดควรระมัดระวัง ไม่ควรจุดครั้งละมากๆ และหากมีเด็กเล็ก ผู้ปกครองควรดูแลอย่างใกล้ชิดไม่ให้จุดประทัดเล่น เพราะอาจเกิดอันตรายได้

นพ.อนุชา กล่าวอีกว่า หากเกิดไฟไหม้ ให้ตั้งสติ โทร.199 เพื่อแจ้งดับเพลิง หากประเมินว่าไฟไหม้ในวงแคบ ให้ใช้ถังดับเพลิงดับไฟ แต่หากเพลิงไหม้ในวงกว้างให้รีบอพยพ โดยก่อนเปิดประตูทุกครั้งให้ใช้หลังมือสัมผัสประตูหรือลูกบิด หากพบว่าร้อนห้ามเปิด ให้ใช้เส้นทางอื่นแทน และควรหมอบคลานต่ำ ใช้ผ้าชุบน้ำปิดจมูก เพื่อป้องกันอันตรายจากควัน หรือการสำลักควัน ซึ่งร้อยละ 90 เป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิต อย่าใช้ลิฟต์และบันไดเลื่อนขณะเกิดเพลิงไหม้ เพราะอุปกรณ์เหล่านี้จะหยุดการทำงานเนื่องจากไม่มีกระแสไฟฟ้า ให้ใช้บันไดหนีไฟเท่านั้น หากติดอยู่ภายในอาคาร ให้ใช้ผ้าชุบน้ำอุดตามประตูหน้าต่าง เพื่อป้องกันควันไฟ และรีบโทรศัพท์ขอความช่วยเหลือ

กรณีมีผู้บาดเจ็บ หากอยู่ในพื้นที่ที่ปลอดภัยแล้วให้ดูแลเบื้องต้นโดยถอดเสื้อผ้าและเครื่องประดับที่ถูกไฟเผาไหม้ออก แต่หากถอดเสื้อผ้า หรือเครื่องประดับ และพบว่ามีการตึงรั้งควรหลีกเลี่ยง ห้ามใช้น้ำมัน โลชั่น ยาสีฟันหรือยาปฏิชีวนะทาบนแผลเด็ดขาด แต่หากพบว่ามีบาดแผลไฟไหม้วิกฤต คือมีแผลขนาดใหญ่ หรือไหม้ลวกทางเดินหายใจ และมีการอาการกลืนลำบาก เสียงแหบ หายใจลำบาก หรือมีอาการสูดควันจำนวนมาก ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว ให้รีบโทร.แจ้งขอความช่วยเหลือผ่านสายด่วน 1669 เพื่อขอความช่วยเหลือทางการแพทย์ฉุกเฉิน” เลขาธิการ สพฉ.กล่าว

นพ.อนุชา กล่าวด้วยว่า หากมีผู้ป่วยฉุกเฉินได้รับอันตรายจากเหตุประทัดจนอวัยวะใดอวัยวะหนึ่งขาด ให้รีบห้ามเลือด โดยใช้ผ้าสะอาดปิดบาดแผล พันแผลบริเวณเหนือแผลให้แน่นเพื่อป้องกันเลือดออก ทั้งนี้ไม่ควรใช้เชือก หรือสายรัด เพราะจะทำให้รัดเส้นประสาทหลอดเลือดเสียได้ นอกจากนี้ควรสังเกตอาการผู้ที่ได้รับบาดเจ็บอย่างใกล้ชิด ควรงดอาหารทางปาก และจิบน้ำได้เล็กน้อย เพราะอาจจะต้องรับการผ่าตัดด่วน ส่วนวิธีการเก็บรักษาอวัยวะส่วนที่ขาดคือ ให้นำสิ่งสกปรกออกจากส่วนที่ขาด ล้างน้ำสะอาด ใส่ถุงพลาสติก ปิดปากถุงให้แน่น แล้วนำไปใส่ในน้ำแข็ง โดยอวัยวะที่มีกล้ามเนื้อมากๆ เช่น แขน ขา ต้องได้รับการผ่าตัดต่อเส้นเลือดให้เร็วที่สุด ภายใน 6 ชม.ส่วนบริเวณที่ไม่มีกล้ามเนื้อ เช่น นิ้ว สามารถเก็บไว้ได้ 12-18 ชม.ส่วนการบาดเจ็บทางตาให้รีบล้างตาด้วยน้ำสะอาดในปริมาณมากทันที


กำลังโหลดความคิดเห็น