ภาคีหมออนามัยเผย ตรวจสาวฉันทนาพบเสี่ยงมะเร็งปากมดลูก 46 ราย จาก 4.5 พันราย อยู่ในช่วงเซลล์ผิดปกติระยะเริ่มต้น ชี้ตรวจพบเจอระยะแรกสามารถรักษาได้ เตรียมขยายตรวจคัดกรองเพิ่ม
วันนี้ (22 ม.ค.) นพ.พูลชัย จิตอนันตวิทยา ที่ปรึกษาภาคีหมออนามัยแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตามที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานประกันสังคม (สปส.) และภาคีหมออนามัยแห่งประเทศไทย เดินหน้าโครงการลดอัตราการป่วยเสียชีวิตของแรงงานสตรีจากมะเร็งปากมดลูก โดยออกตรวจคัดกรองเชิงรุกถึงโรงงานอุตสาหกรรม นำร่อง จ.สมุทรปราการ ก่อนขยายไปยังจังหวัดอื่นๆ นั้น ขณะนี้ได้ทำการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในแรงงานสตรีจำนวน 4,545 ราย จากโรงงานทั้งหมด 40 แห่ง พบว่ามีแรงงานสตรีที่มีเซลล์ผิดปกติระยะเริ่มต้นที่จะกลายเป็นมะเร็งปากมดลูก จำนวน 46 ราย จากโรงงาน 20 แห่ง ซึ่งทั้งหมดมีอายุเฉลี่ย 27-46 ปี โดยเป็นผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมทั้งหมด
“เมื่อผลการตรวจคัดกรองออกมาเช่นนี้ ก็เป็นหน้าที่ของโรงพยาบาลต้นสังกัดประกันสังคมในการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น การตรวจหา DNA ของเชื้อไวรัส การส่องกล้องเพื่อดูความผิดปกติของเนื้อเยื่อบริเวณปากมดลูก ร่วมกับการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจทางพยาธิวิทยา (Colposcope and Biopsy) พร้อมทั้งการรักษา ซึ่งส่วนใหญ่เมื่อพบระยะแรกก็จะรักษาได้” นพ.พูลชัย กล่าว
นพ.พูลชัย กล่าวอีกว่า ปัญหาของการทำโครงการเริ่มแรก คือ หลังจากพบเคสที่มีความเสี่ยงเกิดมะเร็งปากมดลูกก็จะทำการส่งตัวให้กับโรงพยาบาลในเครือข่ายของ สปส.แต่พบว่าขั้นตอนมีความยุ่งยาก เนื่องจากโรงพยาบาลเหล่านี้จะไม่เชื่อผลตรวจที่เราเข้าไปตรวจสอบให้ และต้องการให้ตรวจคัดกรองซ้ำ ซึ่งต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม ทำให้แรงงานสตรีไม่ตรวจ สุดท้ายทำให้เสียโอกาสการรักษาในระยะเริ่มแรก แต่หลังจากโครงการดังกล่าวได้มีความร่วมมือกับ สปส.และโรงพยาบาลในเครือข่าย ซึ่งทำการรักษาเป็นกลุ่ม คือ จำนวนเคสเสี่ยงป่วยมะเร็งปากมดลูกทั้ง 46 ราย จะได้รับการตรวจเพิ่มเติมและรักษาต่อเนื่องในโรงพยาบาลเปาโลเมมโมเรียล จ.สมุทรปราการ ซึ่งถือเป็นการรักษาแบบกลุ่มครั้งแรก
นพ.พูลชัย กล่าวด้วยว่า สำหรับในปีนี้จะมีการขยายตรวจคัดกรองมะเร็งในแรงงานสตรีตามสถานประกอบการที่เหลือใน จ.สมุทรปราการ อีก ซึ่งปัจจุบันมีประมาณ 2 หมื่นแห่ง อย่างไรก็ตาม สปส.อยู่ระหว่างทยอยหารือกับสถานประกอบการเหล่านี้ เพื่อขอให้แรงงานสตรีได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก เพื่อป้องกันการเกิดโรคที่นอกจากจะส่งผลต่อสุขภาพของแรงงาน ยังส่งผลต่อการทำงานอีกด้วย