ผมเคยอ่านเจอคำว่า “กงล้อประวัติศาสตร์” พยายามทำความเข้าใจว่าหมายถึงอะไร และมีความสำคัญต่อการทำนายเหตุการณ์ทางสังคมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึงจะหาทางป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์อย่างไรได้อย่างไร ก็เพิ่งจะถึงบางอ้อเมื่อไม่นานมานี่เองครับ
หลังจากการทำรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในวันที่ 20 ตุลาคม 2501 ประเทศไทยก็ว่างเว้นการเลือกตั้งทั่วไปถึง 11 ปี จนเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2512 จึงได้จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป โดยมีพรรคการเมืองส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้งสิ้น 12 พรรค โดยมีพรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรคเข้าร่วมการแข่งขัน คือ พรรคสหประชาไทย ซึ่งมีจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นหัวหน้าพรรค และพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมีหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช เป็นหัวหน้าพรรค การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นครั้งที่มีความตื่นตัวของประชาชนอย่างมาก ก่อนหน้านั้นไม่นาน ได้เกิดการรวมกลุ่มของนิสิตนักศึกษาเพื่อทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์ เช่น การรวมกลุ่มกันทำค่ายอาสาพัฒนาชนบท โดยมีทั้งการรวมกลุ่มภายในสถาบันเดียวกัน และขยายวงไปเป็นการรวมกลุ่มของนิสิตนักศึกษาต่างสถาบัน ในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2512 ได้มีการจัดตั้ง “กลุ่มนิสิตนักศึกษาอาสาสมัครสังเกตการณ์เลือกตั้ง” โดยมีนักศึกษาเข้าร่วมถึง 17 สถาบัน และต่อมาได้นำมาสู่การจัดตั้ง “ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย” หรือ “ศนท.” ในเดือนกุมภาพันธ์ 2513 โดยมีนายธีรยุทธ บุญมี เป็นเลขาธิการ ศนท.คนแรก
จอมพลถนอมบริหารประเทศได้เพียง 3 ปี ก็ทำการ “รัฐประหาร” เพื่อ “ยึดอำนาจตัวเอง” ในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2514 โดยมีคำปรารภในการยึดอำนาจตัวเองในครั้งนี้ว่า “ภัยที่คุกคามประเทศและราชบัลลังก์ สถานการณ์ภายใน ความวุ่นวายทั้งภายในและภายนอกสภานิติบัญญัติ การนัดหยุดงานของกรรมกร การเดินขบวนของนักศึกษา การแก้ไขสถานการณ์ถ้าจะดำเนินการตามวิถีทางรัฐธรรมนูญย่อมไม่ทันต่อเหตุการณ์ จึงจำเป็นต้องใช้การยึดอำนาจการปกครองเพื่อให้สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้โดยเฉียบขาดและฉับพลัน” ทั้งนี้ ได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2511 ยกเลิกรัฐสภา ยกเลิกพรรคการเมือง และประกาศห้ามมั่วสุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป การยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2511 ทำให้เกิดความไม่พอใจในกลุ่มนักศึกษาและประชาชนกระจายไปในวงกว้าง จอมพลถนอมได้ให้สัญญาว่าจะให้มีการประกาศใช้ธรรมนูญชั่วคราวและจะรีบร่างรัฐธรรมนูญถาวรโดยเร็ว แต่สุดท้ายก็ปกครองด้วยอำนาจคณะปฏิวัติต่อไปจนถึง 15 ธันวาคม 2515 จึงมีการประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร ให้ข้าราชการประจำดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้และตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งมีมติให้จอมพลถนอมเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป และธรรมนูญการปกครองฉบับนี้ได้มีการนำรัฐธรรมนูญมาตรา 17 ที่ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีเต็มที่ในการสั่งการใดๆอันเนื่องจากเหตุที่กระทบต่อความมั่นคงของราชอาณาจักร โดยไม่ต้องผ่านการพิจารณาของสภาหรือมีกฎหมายใดๆ มารองรับ ทำให้จอมพลถนอมมีอำนาจแต่เพียงผู้เดียว ประกอบกับมีการทุจริตต่างๆ เกิดขึ้นในรัฐบาลและไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุล ทำให้กระแสความไม่พอใจแพร่ขยายไปในหมู่ประชาชนและปัญญาชนในเวลานั้นอย่างกว้างขวาง
14 ตุลาคม 2516 ได้เกิดการรวมตัวของนักศึกษาและประชาชนมากกว่า 5 แสนคนเพื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญจากรัฐบาลจอมพลถนอม และนำมาซึ่งการปราบปรามผู้ร่วมชุมนุมประท้วงอย่างรุนแรง ในที่สุดจอมพลถนอมและผู้ติดตามต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ เหตุการณ์จึงได้สงบลง
เหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตยและต่อต้านเผด็จการครั้งสำคัญในประเทศไทยผ่านมาแล้ว 40 ปี “กงล้อประวัติศาสตร์” กำลังจะหมุนมาที่เดิมหรือ ประเทศไทยได้เรียนรู้อะไรจากเหตุการณ์ “มหาวิปโยค” บ้างหรือไม่ รัฐบาลของเราได้ใช้สิ่งที่เรียกว่า “ประชาธิปไตย” เพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ในแผ่นดินนี้ หรือ เพียงเพื่อประโยชน์ของตนและพรรคพวกของตน และเราได้ตีความ “ประชาธิปไตย” โดยใช้มุมมองของเราและพรรคพวกของเรา โดยได้เหลือบมองมุมมองของคนอื่นและได้เงี่ยหูรับฟังมุมมองที่แตกต่างจากเราบ้างหรือไม่
ได้แต่ภาวนาว่า ความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลายที่ยังดำรงอยู่ในสังคมไทย จะไม่ขยายวงลุกลามจนเกิดความรุนแรง ถึงขั้นที่ต้องจับอาวุธมารบราฆ่าฟันกันเอง โกรธกันอย่างไรก็ต้องไม่ลืมว่าพวกเราเป็น “คนไทย” ที่มีที่มาจาก “โคตรเหง้า” เดียวกัน ถ้าจะต้องมารบพุ่งกันเอง
“แล้วจะร้องเพลงชาติไทย ให้ใครฟัง” เล่าครับ