คอลัมน์ : จุดคบไฟใต้
โดย...ไชยยงค์ มณีพิลึก
ภาพของประชาชนจำนวนมากที่ออกมาเดินประท้วง รวมพลัง แสดงความคิดเห็น และปฏิเสธไม่เอากฎหมายนิรโทษกรรมฉบับ “สุดซอย” หรือ “เหมาเข่ง” ที่เกิดขึ้นในระยะ 2-3 วันก่อนที่วุฒิสมาชิก หรือ ส.ว.จะมีการประชุม และมีมติไม่รับร่างของ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแบบสุดซอยนี้ และภาพของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ผู้นำรัฐบาลที่ออกมาแถลงข่าวชนิด “ถอยร่นสุดซอย” แบบ “หนียะย่าย พ่ายจะแจ” แสดงให้เห็นถึง “ชัยชนะของประชาชน” ที่สามารถต่อต้าน พ.ร.บ.ฉบับอัปลักษณ์ได้สำเร็จ
ต้องยอมรับว่า ชัยชนะของประชาชนต่อรัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำนั้น คือ ความสำเร็จของพรรคประชาธิปัตย์ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า พรรคประชาธิปัตย์โดยการนำของ “เทพเทือก” อดีต ส.ส.สุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นผู้นำในการปลุกเร้าให้มวลชนเห็นถึงความอัปลักษณ์ของ พ.ร.บ.ฉบับสุดซอย หรือเหมาเข่งดังกล่าว
ภาพของพรรคประชาธิปัตย์ และภาพของสุเทพ เทือกสุบรรณ คือภาพของ “พระเอก” ในขณะที่ภาพของพรรคเพื่อไทย และแกนนำหลายคนกลายเป็น “ผู้ร้าย” ในสายตาของคนในประเทศ ซึ่งถือเป็นความสำเร็จในการเคลื่อนไหวทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ หลังจากที่พยายามขับเคลื่อนเวทีสาธารณะมาเป็นเวลานาน ตั้งแต่เวทีผ่าความจริง และเวทีสัญจรต่างๆ ที่เกิดขึ้น เวทีที่สามเสน ต่อด้วยที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
นี่ถือเป็นความสำเร็จครั้งแรก หลังจากที่ทุก “เงื่อนไข” ของพรรค และคนของประชาธิปัตย์ส่วนใหญ่กลายเป็นเรื่องของ “ฟืนเปียก” หรือ “จุดไม่ติด” มานานนั่นเอง!!
แต่หลังจากที่แกนนำรัฐบาลแก้เกมด้วยการใช้วิธีการลงสัตยาบันทางการเมืองกับพรรคร่วมรัฐบาล และการออกมารับรองการยืนยันว่า เมื่อสภาสูง หรือ ส.ว.คว่ำร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแล้ว รัฐบาลจะไม่ดำเนินการใดๆ กับ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว โดยจะปล่อยให้ตายไปตามไปภายใน 180 วัน หรือ 6 เดือน
แม้ว่าคนส่วนหนึ่งอาจจะยังไม่เชื่อ หรือยังเคลือบแคลงต่อการแสดงออก และการยืนยันการันตีของทั้ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และของแกนนำหลายต่อหลายคนของพรรคเพื่อไทยว่าจะมีการตระบัดสัตย์ หรือทำการ “ลักหลับ” เมื่อประชาชนเผลออีกหรือไม่ เพราะยังสามารถใช้วิชามารคืนชีพ พ.ร.บ.นี้ได้ภายในกำหนด 180 วัน ซึ่งความ ไม่เชื่อ ความหวาดระแวงของประชาชนกลุ่มนี้คงไม่สามารถห้ามได้
เนื่องจากพรรคเพื่อไทยเป็นพรรคที่มี “ต้นทุนทางสังคมต่ำ” ที่เป็นเช่นนี้เพราะที่ผ่านมาทั้งแกนนำ และสมาชิกของพรรคต่างมี “พฤติการณ์” ที่ทำให้สังคมไม่ไว้วางใจ?!
แต่อย่างไรก็ตาม กลุ่มประชาชน กลุ่มองค์กรที่ไม่มีเรื่องอื่นๆ เช่น การเลือกข้างอยู่ในหัวใจ เมื่อเห็นการแสดงออกของผู้นำ และของแกนนำพรรคเพื่อไทยต่อการคว่ำ พ.ร.บ.ฉบับนี้ของ ส.ว. จึงต่างพอใจ และหยุดการเคลื่อนไหว แต่ก็พร้อมที่จะออกมาคัดค้านอีกครั้งถ้าสภาผู้แทน หรือรัฐบาลออกมาขับเคลื่อน พ.ร.บ.นี้อีก ซึ่งส่วนใหญ่ของสังคมต่างเชื่อว่า บทเรียนที่พรรคเพื่อไทยได้รับในครั้งนี้จะไม่ทำทำให้เกิดความย่ามใจ หรือตระบัดสัตย์ในสิ่งที่รับปากกับประชาชนเอาไว้ค่อนข้างแน่นอน
ดังนั้น มวลชนที่ออกมาเป็นแนวร่วมกับเวทีของพรรคประชาธิปัตย์ในการไม่เอา พ.ร.บ.ฉบับสุดซอยจึงหยุดการเคลื่อนไหว เพราะพอใจกับผลที่ออกมา และพอใจต่อทางออกที่รัฐบาลออกมาให้คำยืนยัน
เมื่อเวทีของเทพเทือกประกาศยกระดับการชุมชุมต่อเนื่อง โดยมีวัตถุประสงค์ที่มากกว่าการต่อต้าน หรือการไม่เอา พ.ร.บ.ฉบับสุดซอย มวลชนกลุ่มอื่นๆ จึงทำได้เพียงให้กำลังใจ แต่ไม่เคลื่อนพลออกมาร่วมม็อบเพื่อเพิ่มจำนวนผู้ชุมนุมอย่างที่เวทีของเทพเทือกต้องการ เพราะเทพเทือก ต้องการเพียงไม่เอา พ.ร.บ.ฉบับสุดซอยเท่านั้น แต่ยังไม่ถึงขั้นที่ต้องการขับไล่รัฐบาล หรือต้องการเห็นการยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่
ยิ่งเห็นข้อเรียกร้อง 4 ข้อของแกนนำเวทีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่เสนอโดยเทพเทือก ยิ่งกลายเป็นเงื่อนไขที่สังคมส่วนใหญ่ของประเทศยังรับไม่ได้ ไม่ว่าเป็นการ “อารยะขัดขืน” โดยหยุดการทำงาน การไม่เสียภาษี และการหยุดการเรียนการสอน ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในขณะนี้
กล่าวคือ แม้ว่ารัฐบาลชุดนี้จะมีความผิด “ซ้ำหน” และมีลักษณะที่ไม่น่าไว้ใจ โดยคนจำนวนมากอยากจะเปลี่ยนรัฐบาล แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เขาจะเห็นพรรคประชาธิปัตย์เป็น “ตัวเลือก” และสิ่งที่สำคัญคือ คนส่วนใหญ่ยังต้องการเห็นความสงบสุขในบ้านเมือง รวมถึงยังต้องการให้รัฐบาลแก้ไขในสิ่งที่ผิด
ข้อเรียกร้องของ “การนัดหยุดงาน” คือเงื่อนตายที่เทพเทือกผู้เอาไว้เอง เพราะเรื่องการนัดหยุดงานนั้น สำหรับประเทศไทยแล้วเกิดขึ้นได้ยาก โดยเฉพาะกับคนระดับล่างที่ชีวิตต้องดิ้นรนแบบหาเช้ากินค่ำ รวมทั้งในระบอบทุนนิยมแบบประเทศเรานั้น ยังไม่มีนายทุนคนไหนที่เห็นว่า วิธีการนี้คือ วิธีการที่ควรสนับสนุน เพราะการนัดหยุดงานคือ การเกิดผลเสียทั้งต่อนายทุน และผู้ใช้แรงงาน
ส่วน “การไม่เสียภาษี” ต้องนึกภาพให้ออกว่า วันนี้ผู้เสียภาษีกลุ่มใหญ่ก็คือ กลุ่มทุน และผู้ประกอบการร้านค้า ซึ่งโดยธรรมชาติมีการเลี่ยงภาษี มีการโกงภาษีอยู่ตลอดเวลา และจุดอ่อนของผู้เสียภาษีคือ กลัวความผิด กลัวสรรพากรปรับ และกลัวการเก็บภาษีย้อนหลัง มากกว่ากลัวเจ้าหนี้ และเมียที่บ้านเสียอีก
แค่ 2 มาตรการนี้ก็ทำให้ข้อเรียกร้องของเวทีเทพเทือกกลายเป็นฟืนเปียกไปแล้วกว่าครึ่งกอง ส่วนในเรื่อง “การหยุดการเรียนการสอน” นั้นอาจจะเกิดขึ้นได้บ้าง เพราะอาจจะมีบางสถาบัน บางคณะในมหาวิทยาลัยที่พร้อมที่จะทำได้ ซึ่งเป็นแค่ส่วนเล็กๆ ที่ไม่สามารถสร้างพลังให้เกิดการต่อรองได้มากเท่านั้น
สิ่งที่เป็นข้อเรียกร้องของเวทีชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยก็ได้เกิดคำถามตามมาว่า ในขณะที่อดีต ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ ที่เป็นแกนนำของเวทีเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนหยุดงานอารยะขัดขืนต่างๆ นั้น ในส่วนที่เป็นธุรกิจของคนในพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะของคณะกรรมการบริหาร หรือ ส.ส. รวมถึงผู้สนับสนุนพรรค ซึ่งมีธุรกิจอยู่มากมายในภาคใต้
คนเหล่านั้นได้ทำการ “นำร่อง” ในแบบของอารยะขัดขืนให้เป็นเป็นตัวอย่างแล้วยัง?!
อย่างโรงงานอุตสาหกรรมใน จ.สงขลา กิจการประมง กิจการสวนปาล์ม สถาบันการศึกษาในหลายจังหวัดของภาคใต้ ฯลฯ เพราะสังคมต่างรับรู้ว่าเป็นของ ส.ส.บ้าง เป็นของนายก อบจ.บ้าง และเป็นของเครือข่าย ผู้สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์บ้าง ทำไมกิจการเหล่านี้ไม่เร่งทำเป็นตัวอย่างเพื่อให้ประชาชนเห็น เพื่อที่ข้อเรียกร้องอารยะขัดขืนจะได้รับการขานรับจากสังคม
บทสรุปที่ชัดเจนคือ ข้อเรียกร้องทั้ง 4 ข้อของเวทีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีอย่างน้อย 2 ข้อข้างต้นเริ่มเป็นเรื่องฟืนเปียกที่จุดติดยากแล้ว ซึ่งเทพเทือก และแกนนำบนเวทีจะต้องหาแนวทางเพื่อให้ได้รับการสนับสนุนจากมวลชน เพื่อยกระดับการขับไล่รัฐบาลต่อไป
เมื่อโดยรูปการเงื่อนไขของเทพเทือก เป็นฟืนเปียกไปแล้ว การขับเคลื่อนเวทีไล่รัฐบาลจึงยังต้องรอจังหวะและโอกาส โดยต้องรอ “ตัวช่วย” เพื่อให้เวทีการชุมนุมมีการ “ยกระดับ” ได้นั้น ในเรื่องเขาพระวิหารก็จบไปแล้ว ยังเหลือเพียงรอการตัดสินคดีที่ค้างคาอยู่ในศาลรัฐธรรมนูญ และในองค์กรอิสระอื่นๆ เช่น ป.ป.ช. กกต. ซึ่งสุดท้ายแล้วยังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่า คำตัดสินเหล่านั้นจะเป็นคุณ หรือเป็นโทษในการยกระดับสู่การขับไล่รัฐบาลหรือไม่
งานเร่งด่วนของเทพเทือก และแกนนำขับเคลื่อนมวลชนจึงคือ การเร่งหาเงื่อนไขเพื่อเผด็จศึกกับรัฐบาลโดยเร็ว หรือตามประกาศไว้ก่อนสิ้นเดือน พ.ย.นี้ กับอีกทางหนึ่งคือการหา “ทางลง” เพื่อสลายการชุมนุมว่าจะทำอย่างไรให้มวลชนกลับบ้านโดยที่ไม่ “เสียหน้า” ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่สุดของการที่จะสลายม็อบ
แน่นอนว่า วันนี้รัฐบาลพรรคเพื่อไทยไม่ใช่รัฐบาลที่ประชาชนพอใจ ขณะเดียวกันประชาชนส่วนใหญ่ก็รู้เท่าทันเหลี่ยมคูของนักการเมือง ดังนั้น ประชาชนที่รู้เท่าทันจึงไม่ยอมเป็นเหยื่อเพื่อให้นักการเมือง พรรคเมืองใช้เป็นบันไดเหยียบไปสู่อำนาจอีกต่อไป
ประชาชนส่วนใหญ่ที่ออกมาเคลื่อนไหว เขาเคลื่อนไหวเพื่อมิให้รัฐบาลทำในสิ่งที่ผิด ซึ่งประชาชนรับไม่ได้ และในบางส่วนเคลื่อนไหวเพื่อรักษาระบอบการปกครองที่ถูกต้อง เขาไม่ได้ออกมาเพื่อป้องกันรัฐบาลเพื่อไทยให้อยู่ในอำนาจ และทำผิดต่อไป และไม่ได้เคลื่อนไหวเพื่อให้พรรคประชาธิปัตย์กลับไปเป็นรัฐบาล
เพราะฉะนั้น สิ่งเหล่านี้ต่างหากที่ผู้นำม็อบจะต้องสำเหนียก เพื่อที่จะไม่ต้อง “หลงเข้าใจผิด”!!
เพราะการหลงผิดอาจจะทำให้นำพาสังคมเข้ารกเข้าพง และสุดท้ายจะพลิกจากบทของ “พระเอก” เมื่อหลายวันก่อน กลายเป็น “ผู้ร้าย” ในสายตาของของประชาชนอีกครั้ง??!!