xs
xsm
sm
md
lg

อุทธรณ์ยืนจำคุก 8 เดือน บก.เว็บประชาไท ปล่อยโพสต์หมิ่นเบื้องสูง

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจำคุก 8 เดือน ปรับ 2 หมื่น บก.เว็บประชาไท ปล่อยโพสต์ข้อความหมิ่นเบื้องสูง ศาลปรานีให้โอกาสกลับตัวเป็นคนดี โทษจำคุกจึงรอลงอาญาไว้ 1 ปี

เมื่อเวลา 10.00 น.วันนี้ (8 พ.ย.) ที่ห้องพิจารณา 711 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หมายเลขดำ อ.1167/2553 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 8 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.ส.จีรนุช เปรมชัยพร อายุ 44 ปี ผู้ดูแลเว็บไซต์ประชาไท เป็นจำเลยกระทำผิดฐาน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2550

โดยโจทก์ฟ้องเมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2553 สรุปว่า เมื่อระหว่างวันที่ 15 เม.ย. - 3 พ.ย. 2551 ต่อเนื่องกันวันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยซึ่งเป็นผู้ดูแลเว็บไซต์ประชาไท (Webmaster) ได้จงใจสนับสนุนหรือยินยอมให้มีการดำเนินการนำข้อความเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งอยู่ในความควบคุมของจำเลย อันเป็นข้อมูลมีเนื้อหาเป็นการดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ เกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร จำนวน 10 กระทู้เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งอยู่ในความควบคุมของจำเลย เหตุเกิดที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แขวงจอมพล เขตจตุจักร, แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร และทั่วราชอาณาจักรไทย เกี่ยวพันกัน จำเลยให้การปฏิเสธ

โดยคดีนี้ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2555 ว่าจำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2550 มาตรา 15 ประกอบมาตรา 14 อนุ 3 ลงโทษจำคุกจำเลยเป็นเวลา 1 ปี ปรับ 30,000 บาท ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาบ้าง ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยไว้เป็นเวลา 8 เดือน ปรับ 2 หมื่นบาท และเนื่องจากจำเลยไม่เคยกระทำผิดมาก่อน เพื่อให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดี โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษ 1 ปี ต่อมาโจทก์และจำเลยยื่นอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษากันแล้วเห็นว่า จำเลยเป็นผู้ดูแลเว็บไซต์ประชาไทมีหน้าที่เก็บรักษาข้อมูลคอมพิวเตอร์และมีความใกล้ชิดกับเนื้อหาข้อมูล แต่จำเลยกลับยินยอมให้มีการนำข้อความอันไม่เหมาะสมมาเผยแพร่ลงบนเว็บไซต์ เห็นว่าหากจำเลยใส่ใจในการตรวจสอบตามหน้าที่ หากพบข้อมูลที่ไม่เหมาะสมก็ควรจะต้องลบทิ้งออกไปตามกรอบระยะเวลาที่สมควร แต่จำเลยกลับปล่อยให้มีข้อมูลที่ไม่เหมาะสมเผยแพร่อยู่บนเว็บไซต์ถึง 9 ครั้ง รวมเป็นระยะเวลาถึง 20 วัน แม้จำเลยจะอ้างหลังการรัฐประหารปี 2549 มีประชาชนมาใช้บริการเพิ่มขึ้นเป็น 10 เท่า มีผู้โพสข้อความถึงวันละกว่า 1 ล้านข้อความ ทำให้เจ้าหน้าที่กลั่นกรองตรวจสอบไม่เพียงพอ แต่ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เจ้าหน้าที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีที เข้าตรวจสอบข้อมูลในเว็บไซต์ประชาไทพบว่ามีเนื้อหาข้อความหมิ่นสถาบันถึง 4 ครั้ง ซึ่งได้ส่งจดหมายถึงจำเลยในฐานะผู้บริหารเว็บไซต์แล้ว 4 ฉบับ อีกทั้งจำเลยเป็นผู้มีความรู้ความสามารถและประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชน จึงควรตระหนักว่าสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันหลักของประเทศชาติและสังคมไทยเพื่อไม่ให้สังคมแตกแยก การดูแลปกป้องสถาบันจึงเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน ซึ่งจำเลยควรจะต้องดูแลเอาใจใส่มากกว่านี้ โดยอาจจะจัดหาลูกจ้างผู้ดูแลเพิ่มเติมหรือโปรแกรมคัดกรองข้อความที่ไม่เหมาะสมในฐานะผู้ควบคุมดูแลเว็บไซต์ แต่จำเลยกลับไม่กระทำการดังกล่าวและยินยอมให้ข้อมูลปรากฏขึ้นบนเว็บไซต์เป็นเวลานาน จึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

ส่วนอุทธรณ์โจทก์ที่ขอให้ลงโทษจำเลยสถานหนักและไม่รอการลงโทษนั้นเห็นว่า การนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดีที่ศาลชั้นต้นลดโทษให้ 1 ใน 3 นั้น ศาลอุทธรณ์เห็นว่าจากพฤติการณ์แห่งคดีถือว่าเหมาะสมแล้ว ส่วนที่ขอให้ไม่รอการลงโทษนั้นเห็นว่า ความผิดดังกล่าวจำเลยมีความผิดในฐานะตัวกลางผู้คือให้บริการอินเทอร์เน็ต ไม่ใช่เป็นผู้กระทำผิดโดยตรง ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจควรจะติดตามจับกุมผู้ที่โพสข้อความไม่เหมาะสมมารับโทษ ประกอบกับจำเลยไม่เคยได้รับโทษมาก่อนจึงสมควรให้โอกาสจำเลยกลับตัว ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้รอการลงโทษนั้น ศาลอุทธรณ์เห็นว่าเหมาะสมแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์และจำเลยฟังไม่ขึ้น ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้นศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย พิพากษายืน

น.ส.จีรนุชเปิดเผยภายหลังว่า เนื่องจากศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาตามศาลชั้นต้น ตามกฎหมายหากจะยื่นฎีกาจะต้องขออนุญาตจากผู้พิพากษาก่อน ขณะที่ส่วนตัวไม่ติดใจที่จะยื่นฎีกาอีก ที่ผ่านมาตนต้องใช้เวลา 3-4 ปีในการมาขึ้นศาล หลังจากนี้ก็จะทำหน้าที่ของตัวเองในการดูแลเว็บไซต์ประชาไทต่อไป



กำลังโหลดความคิดเห็น