xs
xsm
sm
md
lg

“สนธิ” ยึดเจตนาปกป้องสถาบัน ศาลใช้ดุลพินิจสั่งจำคุก 2 ปี

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

สนธิ ลิ้มทองกุล
จากกรณีศาลอาญานัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีหมายเลขดำที่ อ.2066/2553 ที่พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เป็นจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 8 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 พิพากษาคดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยว่าจำเลยมีเจตนาดูหมิ่นสถาบันหรือไม่

เห็นว่าข้อเท็จจริงที่โจทก์ และจำเลยโต้แย้งกันในศาลล่างฟังได้ว่า จำเลยนำคำพูดของ น.ส.ดารณี หรือ ดา ตอร์ปิโด ที่พูดพาดพิงสถาบันเบื้องสูงมาปราศรัยที่เวทีพันธมิตรฯ ซึ่งเป็นการนำคำพูดมาหมิ่นประมาทซ้ำ ที่จำเลยอ้างว่าไม่เจตนา แต่เอาคำพูดมาปราศรัยเพื่อให้มีการดำเนินคดีต่อ น.ส.ดารณี หรือ ดา ตอร์ปิโด ศาลอุทธรณ์เห็นว่า จำเลยไม่มีความจำเป็นต้องเอาเนื้อหามาถ่ายทอดพูดซ้ำในที่สาธารณะ เพราะประชาชนบางส่วนไม่ทราบว่า น.ส.ดารณี หรือ ดา ตอร์ปิโด พูดอย่างไร ก็มาทราบจากการที่จำเลยพูด ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ ส่งผลกระทบต่อสถาบัน อันเป็นการกระทำที่ไม่ระมัดระวังอย่างเพียงพอ การกระทำเป็นการครบองค์ประกอบความผิดแล้ว จึงเป็นความผิดฐานดูหมิ่นสถาบันฯ ตาม ป.อาญา มาตรา 112 อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น ลงโทษจำคุก 3 ปี แต่คำให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษ 1 ใน 3 คงจำคุก 2 ปี

นายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ให้สัมภาษณ์หลังทราบคำพิพากษาว่า ตนไม่หวั่นไหวใดๆ และเคารพคำตัดสินของศาลอุทธรณ์ และขอต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรมในศาลฎีกาต่อไป แต่ขอตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง อันสืบเนื่องจากที่ทนายได้สืบพยานโจทก์ลงลึกไปในประเด็นรายละเอียดของเจตนาในการกระทำความผิดค่อนข้างชัดเจนมาก และทำให้เห็นว่า ตนไม่ได้มีเจตนาในการกระทำความผิดมาตรา 112

“ผมเพียงนำคำพูดของ น.ส.ดารณี หรือ ดา ตอร์ปิโด ที่พูดพาดพิงสถาบันเบื้องสูง มาปราศรัยที่เวทีพันธมิตรฯ เพียงบางส่วนเท่านั้น ไม่ได้นำมาพูดทั้งหมด อีกทั้งการที่ผมนำมาพูดนั้นเพียงต้องการให้เจ้าหน้าที่บ้านเมือง ทั้งทหาร และตำรวจ ดำเนินคดีต่อคนที่พูดจาจาบจ้วงเช่นนี้ ว่าปล่อยให้คนเหล่านี้พูดจาหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ที่เป็นที่เคารพรักของคนทั้งประเทศได้อย่างไร ศาลชั้นต้น ผม และทนายนำสืบพยานให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ผมไม่ได้มีเจตนาในการกระทำผิด ผมก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าทำไมคำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงออกมาเช่นนี้ ไม่ดูที่เจตนาในการกระกระทำความผิด ซึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา ต้องดูในข้อเท็จจริงในเรื่องของเจตนาของผู้กระทำความผิดเป็นหลัก” นายสนธิ ระบุและกล่าวอีกว่า

เชื่อว่าเกี่ยวโยงนัยยะการเมืองแน่อน คือ นัยที่ 1 ทำให้คนที่ออกมาปกป้องสถาบันรู้สึกแหยง เพราะต่อไปคนไทยจะไม่กล้าออกมาเรียกร้องใดๆ เห็นคนพูดจาจาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็จะนิ่งเฉย เพราะกลัวติดคุก เพราะขนาดสนธิมันยังติดคุกเลย คนก็จะไม่กล้าที่จะออกมาพูดอะไรกัน

นัยที่ 2 ทำให้รู้ว่าต่อไปนี้ มาตรา 112 ใครไปแตะต้องจะต้องติดคุกทันที จึงทำให้เป็นแรงบันดาลใจให้ฝ่ายตรงข้าม กับฝ่ายนิติราษฎร์ สามารถเอาเรื่องนี้มาเป็นเงื่อนไขให้ดูว่าแม้แต่ “สนธิ” ยังโดนเลย มาเพื่อล้มมาตรา 112 ทั้งๆ ที่มาตรา 112 ถ้าพิจารณาอย่างยุติธรรมและเป็นธรรมแล้ว ต้องดูที่เจตนาเป็นหลักจะไม่มีปัญหาเลย

ด้าน นายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวถึงกรณีคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ที่พิพากษากลับให้จำคุกนายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำพันธมิตร 2 ปี ฐานหมิ่นเบื้องสูงว่า โดยหลักของกฎหมายนั้น ต้องดูที่เจตนาเป็นสำคัญ การที่คำพิพากษาบอกว่า นายสนธิเอาคำพูด ดา ตอร์ปิโด มาพูดต่อก็เป็นความผิดแล้ว จะหยิบยกว่าไม่มีเจตนาไม่ได้ จะเห็นว่านายสนธิทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 70 บุคคลมีหน้าที่พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ แต่ศาลอุทธรณ์ไม่ดูที่เจตนาเลย

“คดีนี้ มันมีขบวนการเอานายสนธิเข้าคุกให้ได้ เพื่อต่อรองกับพันธมิตรฯ อย่าคัดค้านการแก้มาตรา 112 โดยจะฎีกาคำพิพากษานี้ ภายใน 30 วัน และมั่นใจว่า ศาลฎีกาจะยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ และเห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลชั้นต้น เพราะการพูดของ ดา ตอร์ปิโด กับนายสนธิ มีเจตนาต่างกัน” นายสุวัตร กล่าว

คดีหมิ่นเบื้องสูง นายสนธิ เพียงแต่มีเจตนาที่จะปกป้องสถาบัน โดยการหยิบคำพูดของผู้ที่พูดจาบจ้วงสถาบันฯ บางประโยค ออกมาจี้ต่อมสำนึกให้เจ้าหน้าที่บ้านเมืองเร่งดำเนินคดีกับผู้ที่พูดจาบจ้วงเท่านั้น... แต่กลับโดนดำเนินคดีเสียเอง คดีนี้จึงต้องสู้กันถึงชั้นศาลฎีกาเพื่อเป็นบรรทักฐานทางสังคมต่อไป

“นพวรรณ” ประชาไท หมิ่นเบื้องสูง
จำคุก 5 ปี เหตุจำนนต่อหลักฐาน

ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 914 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลนัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีหมายเลขดำที่ 1257/52 ที่พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 8 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.ส.นพวรรณ ตั้งอุดมสุข ในความผิดต่อพระมหากษัตริย์ ต่อพระราชินี ต่อรัชทายาท หรือต่อผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550

จากกรณีเมื่อวันที่ 15 ต.ค.2551 จำเลยได้พิมพ์ข้อความอันเป็นการดูหมิ่นเบื้องสูง แล้วนำไปเผยแพร่ในเว็บไซต์ประชาไท (www.prachatai.com) ให้ประชาชนทั่วไปที่ใช้บริการเว็บไซต์ดังกล่าวได้อ่าน ซึ่งการกระทำดังกล่าวอาจทำให้เกิดความเสียหายแก่เบื้องสูงได้ ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากเห็นว่า พยานหลักฐานที่เป็นไอพีแอดเดรส และเบอร์โทรศัพท์ สำหรับใช้ต่ออินเทอร์เน็ต ไม่อาจชี้ชัดได้ว่าจำเลยเป็นผู้โพสต์ข้อความดังกล่าว ต่อมาอัยการโจทก์ยื่นอุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลย

ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้วเห็นว่า มีประเด็นต้องวินิจฉัยว่าจำเลยโพสต์ข้อความดังกล่าวจริงหรือไม่ เห็นว่าแม้โจทก์จะไม่มีประจักษ์พยานยืนยันว่าจำเลยเป็นผู้โพสต์ข้อความดังกล่าว แต่โจทก์ก็มีเจ้าหน้าที่จากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) และเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ (ปอท.) เบิกความยืนยันว่า จากการตรวจสอบไอพีแอดเดรสของผู้ที่โพสต์ข้อความบนเว็บไซต์ประชาไทและตรวจสอบกับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต พบว่าไอพีแอดเดรส ตรงกับเครื่องคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กของจำเลย นอกจากนี้ ตรวจสอบการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตของจำเลย พบว่า วันและเวลา ตรงกับการกระทำผิดในคดีนี้ ซึ่งผู้เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตจะต้องมีรหัสผ่าน และใช้หมายเลขโทรศัพท์ ในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ซึ่งเมื่อตรวจสอบพบว่าข้อมูลการใช้อินเทอร์เน็ตดังกล่าวตรงกับจำเลย ที่สมัครสมาชิกไว้ตั้งแต่ปี 2550 และได้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตเรื่อยมา

อีกทั้งเจ้าหน้าที่ได้ตรวจสอบผู้ใช้งานในวันและเวลาขณะเกิดเหตุพบว่า มีผู้ใช้งานเพียงคนเดียว ซึ่งไอพีแอดเดรส ของคอมพิวเตอร์แต่ละเครื่องจะไม่ซ้ำกันและมีเพียงไอพีแอดเดรสเดียวเท่านั้น ซึ่งเจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบข้อมูลต่างๆ ได้ ไอพีแอดเดรส จึงเป็นพยานหลักฐานสำคัญ ที่ทำให้ทราบ ชื่อผู้ใช้ ที่อยู่ และเบอร์โทรศัพท์ ซึ่งตรงกับข้อมูลของจำเลย

ทั้งนี้ แม้ว่าข้อความที่โพสต์ลงบนเว็บไซต์ประชาไท จะโดนลบไปแล้ว แต่ข้อความที่โพสต์ดังกล่าวยังถูกเก็บอยู่ในเซิร์ฟเวอร์ของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต จำเลยจึงไม่อาจปฏิเสธได้ ซึ่งพยานโจทก์เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ปฏิบัติงานตามหน้าที่ ตรงไปตรงมา ไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่าจะกลั่นแกล้งจำเลย อีกทั้งความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องใช้ความละเอียดรอบคอบและความระมัดระวังในการตรวจสอบ จนทราบว่าจำเลยเป็นผู้โพสต์ข้อความดังกล่าว จึงจะดำเนินคดีตามกฎหมาย พยานหลักฐานจึงฟังได้ว่าจำเลยเป็นผู้โพสต์ข้อความหมิ่นเบื้องสูงจริง

ส่วนที่จำเลยอ้างว่าถูกบุคคลอื่นปลอมแปลงไอพีแอดเดรสนั้น เห็นว่า พยานโจทก์เบิกความยืนยันว่า การปลอมแปลงไอพีแอดเดรส และการเจาะเข้าระบบคอมพิวเตอร์ โดยใช้ไอพีแอดเดรสของจำเลยทำได้ยาก เพราะไอพีแอดเดรสของเครื่องคอมพิวเตอร์แต่ละเครื่องไม่สามารถปลอมแปลงได้ และในการโพสต์ข้อความ จำเป็นต้องใช้ชื่อและรหัสผ่านด้วย ซึ่งหากรหัสผ่านไม่ตรงกับข้อมูลของจำเลย ก็ไม่สามารถเข้าสู่ระบบได้ พยานหลักฐานจึงฟังได้ว่าจำเลยเป็นผู้โพสต์ข้อความดังกล่าวด้วยตนเอง เป็นการกระทำผิดตามฟ้อง อีกทั้งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ระบุว่า สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพรักของประชาชน และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยยังบัญญัติให้ปวงชนชาวไทยต้องมีหน้าที่พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ให้ดำรงสืบไป ผู้ใดจะมาล่วงละเมิดไม่ได้ การกระทำของจำเลยเป็นการใส่ความ ทำให้สถาบันเสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง เห็นควรให้ลงโทษจำเลยสถานหนักเพื่อไม่ให้บุคคลอื่นเอาเป็นเยี่ยงอย่าง อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย

พิพากษากลับเป็นว่า จำเลยกระทำผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 ซึ่งความผิดเป็นกรรมเดียว แต่ผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษในความผิด ตามมาตรา 112 ซึ่งเป็นบทลงโทษหนักสุด พิพากษาจำคุกจำเลยเป็นเวลา 5 ปี และให้ยึดเอกสารข้อความการกระทำผิด

แต่คดี “นพวรรณ ตั้งอุดมสุข” หมิ่นเบื้องสูง เพราะจากการตรวจสอบไอพีแอดเดรสของผู้ที่โพสต์ข้อความบนเว็บไซต์ประชาไท และตรวจสอบกับผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต พบว่าไอพีแอดเดรส ตรงกับเครื่องคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กของจำเลย ศาลจึงพิพากษาจำคุก 5 ปี เพราะจำนนต่อหลักฐาน
นพวรรณ ตั้งอุดมสุข
กำลังโหลดความคิดเห็น