xs
xsm
sm
md
lg

ผลศึกษาเรียนฟรี ร.ร.เอกชน ชี้ช่วยลดภาระ-เพิ่มยอด นร.แต่ยังมีปัญหาส่งเงินช้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เผยผลประเมินนโยบายเรียนฟรี ร.ร.เอกชน ปี 52-53 ชี้ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายทางการศึกษาแก่ผู้ปกครองเด็ก และกระตุ้นยอดผู้เรียนในสถานศึกษามากขึ้น ขณะนี้การจัดสรรเงินอุดหนุนล่าช้า ทั้งยังไม่เพียงพอต่อภาวะเศรษฐกิจ พร้อมเสนอแก้ไขทัศนคติผู้ปกครองที่เชื่อว่ารัฐหนุนเรียนฟรีแล้วไม่ต้องจ่ายค่าเiล่าเรียนเพิ่ม ระบุสร้างปัญหาในการเรียกเก็บเพิ่มเติม

รายงานข่าวจากกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ได้ทำการศึกษาประเมินผลการดำเนินงานตามนโยบายเรียนฟรี 15 ปี อย่างมีคุณภาพที่ สช.ได้ดำเนินการระหว่างปีการศึกษา 2552-2553 ซึ่งเป็นผลการศึกษาล่าสุด โดยจากผลการประเมิน พบว่า การจัดสรรเงินอุดหนุนรายหัวให้นักเรียนในโรงเรียนเอกชนที่รับเงินอุดหนุนสามารถลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองนักเรียนได้ อาทิ นักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 1 ได้ลดภาระค่าใช้จ่ายคนละ 8,112 บาทต่อปี จำแนกเป็นค่าธรรมเนียม 6,982 บาท หนังสือเรียน 200 บาท ค่าอุปกรณ์การเรียน 200 บาท ค่าเครื่องแบบ 300 บาท ค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน 430 บาท นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 ลดภาระค่าใช้จ่าย 2,633.20-3,109 บาทต่อปี จำแนกเป็นค่าธรรมเนียมการศึกษา 1,056 บาท ค่าหนังสือเรียน 347.20-823 บาท ค่าอุปกรณ์การเรียน คนละ 390 บาท ค่าเครื่องแบบนักเรียน 360 บาท และค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน 480 บาท

นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 ลดภาระค่าใช้จ่าย 3,575-3,939 บาทต่อปี จำแนกเป็นค่าธรรมเนียมการศึกษา 1,265 บาท ค่าหนังสือเรียนคนละ 560-924 บาท ค่าอุปกรณ์การเรียน 420 บาท ค่าเครื่องแบบนักเรียน 450 บาท ค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน 880 บาท มัธยมศึกษาปีที่ 4-6 ลดภาระค่าใช้จ่าย 3,968.20-4,656 บาทต่อปี จำแนกเป็นค่าธรรมเนียมการศึกษา 1,295 บาท ค่าหนังสือเรียน 763.20-1,451 บาท ค่าอุปกรณ์การเรียน 460 บาท ค่าเครื่องแบบนักเรียน 500 บาท ค่ากิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน 950 บาท เป็นต้น ทั้งนี้ผู้ปกครองและนักเรียนมีความเห็นว่านโยบายเรียนฟรี 15 ปี มีส่วนช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ในระดับมาก

รายงานข่าวจาก ศธ.กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ในส่วนการเพิ่มโอกาสทางการศึกษาและการเรียนรู้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพพบว่า ร้อยละของโรงเรียนที่มีนักเรียนเข้าเรียนใหม่เพิ่มขึ้น โดยในปีการศึกษา 2552 มีโรงเรียนเอกชน ร้อยละ 61.93 ที่มีจำนวนนักเรียนใหม่ที่เพิ่มขึ้น และปีการศึกษา 2553 มีโรงเรียนเอกชน ร้อยละ 60.40 มีจำนวนนักเรียนใหม่ที่เพิ่มขึ้น ส่วนการประเมินประสิทธิภาพคุณภาพผู้เรียนนั้น พบว่า ร้อยละของโรงเรียนที่มีผลการประเมินของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) รอบสองด้านผู้เรียนในระดับดีขึ้นไปมีโรงเรียนประเภทสามัญระดับก่อนประถมศึกษาอยู่ระดับดีขึ้นไปร้อยละ 95.51 และระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ร้อยละ 94.96 ส่วนโรงเรียนประเภทอาชีวศึกษามีผลการประเมินระดับดีขึ้นไปร้อยละ 86.36

“เมื่อดูผลกระทบและปัญหาอุปสรรค พบว่ามีอุปสรรคในการเบิกจ่ายเงินอุดหนุนล่าช้า การจัดสรรเงินซึ่งไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายเมื่อเทียบกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน เพราะผู้ปกครองเข้าใจว่าเมื่อรัฐให้การอุดหนุนตามนโยบายเรียนฟรี 15 ปีแล้วผู้ปกครองไม่ต้องเรียนค่าเล่าเรียนจึงทำให้โรงเรียนเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากผู้ปกครองได้ยาก เพราะฉะนั้น ควรจะต้องมีการเข้าแก้ไขปัญหาดังกล่าว อาทิ การเพิ่มเงินอุดหนุน การเพิ่มความรวดเร็วในการเบิกจ่าย” รายงาน ศธ.ระบุ
 


กำลังโหลดความคิดเห็น