ก.แรงงาน เผย เปิดลงทะเบียนต่างด้าวไม่ประผลสำเร็จ เพราะมีขั้นตอนยุ่งยาก ขาดความไว้ใจระหว่างนายจ้าง ลูกจ้าง เล็งดึง สปส.ดูแลสิทธิแรงงานข้ามชาติเน้นกลุ่มแรงงานภาคประมง ให้เห็นความแตกต่างระหว่างเข้าประเทศแบบถูกเเละผิดกฎหมาย
วันนี้ (19 ธ.ค.) ที่กระทรวงแรงงาน มล.บุณฑริก สมิติ รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาโครงการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติ ว่า การประชุมในวันนี้มีหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม อาทิ กรมการจัดหางาน (กกจ.) กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) สภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย สหภาพแรงงาน สมาคมการประมงแห่งประเทศไทย และมูลนิธิด้านสิทธิมนุษยชน โดยหน่วยงานต่างๆ ได้ร่วมสะท้อนปัญหาและความต้องการในการดูแลแรงงานข้ามชาติ ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงแรงงานจะเน้นในการดูแลการค้ามนุษย์ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับ 2 หน่วยงานคือ กกจ.และกสร. แต่ทิศทางการทำงานในปีหน้าจะดึงสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เข้ามาดูแลเรื่องสิทธิและการดูแลสุขภาพของแรงงานข้ามชาติ โดยถือเป็นข้อเรียกร้องของทั้ง องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) และแรงงานข้ามชาติ
ม.ล.บุณฑริก กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ทางไอแอลโอยังทำความเข้าใจกับแรงงานข้ามชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยโดยอาศัยวิธีการต่างๆ เช่น การจัดทำแอปพลิเคชัน เพื่อให้ความรู้ด้านกฎหมายและด้านสิทธิ โดยคำนึงถึงภาษาและความเข้าใจง่าย ตนเชื่อว่าทิศทางการดูแลแรงงานใน 2557 โดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานประมงจะมีความชัดเจนยิ่งขึ้น จากกฎหมายและระเบียบต่างๆ ที่รองรับ เชื่อว่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่สามารถแก้ปัญหาค้ามนุษย์ได้
ด้าน นายแม็กซ์ ทูนยอน ผู้ประสานงานอาวุโส โครงการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิแรงงานข้ามชาติ กล่าวว่า การเปิดขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมายของไทยไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรเพราะนายจ้างและลูกจ้างบางส่วนมองว่ามีความยุ่งยากในเรื่องของขั้นตอน รวมไปทั้งค่าใช้จ่ายและการมีบริษัทตัวแทนในการดำเนินการ และความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง ซึ่งจะต้องหาแกนกลางระหว่างสองฝ่าย โดยที่รัฐบาลต้องทำความเข้าใจและชี้ให้เห็นว่าการเป็นแรงงานที่ถูกกฎหมายได้รับสิทธิประโยชน์อย่างไร อีกทั้งควรจะทำความเข้าใจกับทั้งประเทศต้นทางของแรงงานและลดขั้นตอน ค่าบริการในการเข้าเมืองมาทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และอำนวยความสะดวกเพื่อให้เห็นความแตกต่างที่ชัดเจนกับการเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย
นายแม็กซ์ กล่าวถึงสิทธิของแรงงานด้วยว่า ควรทำให้นายจ้างและลูกจ้างมีอำนาจในการต่อรองอย่างเท่าเทียมกันและเพิ่มความสะดวกในการร้องเรียน ร้องทุกข์ของลูกจ้าง และเปิดช่องให้มีการเปลี่ยนนายจ้างได้ง่ายขึ้นโดยเฉพาะแรงงานในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกันเพื่อลดปัญหาแรงงานผิดกฎหมาย