สธ.เดินหน้าจับมือ “อุตสาหกรรม-เกษตรฯ” ทำมาตรฐานคุณภาพข้าวไทย ตั้งแต่การปลูก การผลิต จนถึงมือผู้บริโภค หวังสร้างความมั่นใจความปลอดภัยด้านอาหาร
วันนี้ (18 ธ.ค.) นพ.ประดิษฐ สินธวรณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารรสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมหารือร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงอุตสาหกรรม เกี่ยวกับแนวทางการยกระดับมาตรฐานข้าวสาร ว่า เป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากผลการประชุมครัวไทยสู่ครัวโลกร่วมกัน 5 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงอุตสาหกรรม สธ. กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในเรื่องสินค้าข้าว ที่จะดูแลอย่างครบวงจร ตั้งแต่กระบวนการปลูกข้าว การผลิตข้าวสาร การบรรจุ การควบคุมมาตรฐานข้าวสารที่บริโภคในตลาด รวมทั้งการตลาดทั้งในประเทศและการส่งออกจำหน่ายในต่างประเทศ โดยบูรณาการร่วมกันเพื่อให้เกิดความปลอดภัยแก่ผู้บริโภคทั้งชาวไทยและต่างประเทศ
ทั้งนี้ ได้ให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำมาตรฐานและดูแลให้เป็นไปตามมาตรฐาน โดย สธ.ได้ร่างมาตรฐานด้านคุณภาพและความปลอดภัยของข้าวสาร แบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับมาตรฐาน ระดับคุณภาพชั้นดี หรือพรีเมียม (Premium) และระดับคุณภาพชั้นดีเลิศ หรือลักซูรี (Luxury) และแบ่งหน้าที่ในการรับผิดชอบดูแลในแต่ละกระบวนการ ตั้งแต่การปลูกไปจนถึงการวางจำหน่ายในท้องตลาด
“การจัดทำมาตรฐานข้าวในครั้งนี้ เป็นการเริ่มต้นสร้างความมั่นใจแก่ประชาชนด้านความปลอดภัยอาหาร และจะขยายต่อไปในอาหารประเภทอี่นๆ เช่น อาหารทะเล ซึ่ง อย.ได้มีการสุ่มตรวจข้าวสารอย่างต่อเนื่อง และกำหนดเกณฑ์มาตรฐานความปลอดภัย เช่น ไม่มีสารตกค้างหรือการปนเปื้อน ที่ผ่านมากระบวนการทำงานของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องยังแยกส่วนกันอยู่ ยังไม่มีการคุยหารืออย่างใกล้ชิด เช่น เรื่องมาตรฐานจีเอ็มพี ขณะนี้ได้ตกลงกันว่า อย.จะออกมาตรการทางกฎหมายว่า สิ่งที่ประชาชนบริโภคจะต้องผ่านเกณฑ์ใดบ้าง 1.ผ่านผลการตรวจมาตรฐานด้านสารพิษตกค้าง สารปนเปื้อน และภาชนะบรรจุตามมาตรฐาน สธ.และ 2.กระบวนการผลิต ซึ่งบูรณาการกับกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่วัตถุดิบที่ผ่านมายังโรงสีข้าวจะต้องผ่านมาตรฐานจีเอพีเบื้องต้นของกระทรวงเกษตรฯ มาตรฐานโรงสีข้าวของกระทรวงอุตสาหกรรม มาตรฐานโรงบรรจุข้าวสาร” รมว.สาธารณสุข กล่าว
นพ.ประดิษฐ กล่าวต่อว่า ในการดำเนินการดังกล่าวในช่วงระยะเปลี่ยนผ่านจะมีระยะเวลาเพื่อให้เกษตรกร โรงสีข้าว โรงงานบรรจุข้าว มีเวลาในการปรับตัวให้เป็นไปตามมาตรฐาน เพื่อให้ประชาชนได้รับการรับรองว่าข้าวสารที่บริโภคมีความปลอดภัย เป็นการปรับตัวสู่มาตรฐานอาเซียนที่กำลังจะเกิดขึ้น เมื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 และสร้างความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งการบูรณาการการทำงานในครั้งนี้ ประชาชนผู้บริโภคได้ประโยชน์ด้านความปลอดภัย ผู้ผลิตมีการพัฒนาคุณภาพการผลิตเพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดีขึ้น จำหน่ายได้ราคาที่สูงขึ้น สร้างเศรษฐกิจให้ประเทศไทยต่อไป