xs
xsm
sm
md
lg

หมอเวชศาสตร์ย้ำดูแลผู้ชุมนุมเท่าเทียม คำนึงความปลอดภัย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“หมอเวชศาสตร์ฉุกเฉิน” ย้ำการทำงานกู้ชีพพื้นที่เสี่ยง ต้องคำนึงความปลอดภัยผู้ป่วยและทีมงาน เน้นดูแล ปชช.เท่าเทียม ทั่วถึง ปลอดภัย ชี้ไม่ตั้ง รพ.สนาม เพราะมีการเคลื่อนย้ายตลอด

นพ.จิรพงษ์ ศุภเสาวภาคย์ แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน ในฐานะผู้ประสานงานควบคุมและสั่งการการปฏิบัติงานในพื้นที่ของชุดปฏิบัติการกู้ชีพฉุกเฉิน กล่าวว่า การปฏิบัติการรองรับสถานการณ์เหตุผู้ชุมนุมในพื้นที่กทม. โดยกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมกับศูนย์เอราวัณ รพ.รามาธิบดี รพ.พระมงกุฎเกล้า กรุงเทพมหานคร มูลนิธิร่วมกตัญญู และมูลนิธิปอเต็กตึ๊ง จัดทีมกู้ชีพเข้าไปช่วยเหลือผู้บาดเจ็บและผู้ป่วยฉุกเฉินในระหว่างการชุมนุม ซึ่งได้รับความร่วมมือจากทีมกู้ชีพขั้นพื้นฐาน (BLS) ของมูลนิธิ และทีมกู้ชีพขั้นสูง (ALS) จากโรงพยาบาลในเขต กทม. ปริมณฑล และภูมิภาค ซึ่งการเข้าไปปฏิบัติงานในพื้นที่เสี่ยงจำเป็นต้องพิจารณา ประเมินสถานการณ์เกี่ยวกับความปลอดภัยของการปฏิบัติงานให้รอบครอบ เพราะอาจเกิดอันตรายต่อผู้ปฏิบัติงาน จะทำให้ทีมที่เข้าไปไม่สามารถช่วยเหลือผู้บาดเจ็บได้ ถือเป็นการเสียโอกาสช่วยเหลือผู้ป่วย

ประเด็นนี้เป็นสำคัญที่ย้ำทุกทีมทางการแพทย์ที่จะเข้าไปปฏิบัติงานในส่วนต่างๆ ให้คำนึงถึงความปลอดภัยของตนเองและทีมงานด้วย รวมทั้งพิจารณาช่องทางการนำผู้ป่วย/ผู้บาดเจ็บออกนอกพื้นที่เกิดเหตุ ส่งโรงพยาบาลเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาต่อเนื่อง เพื่อประโยชน์สูงสุดกับผู้ป่วยทุกคน เน้นดูแลประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียม ทั่วถึง และปลอดภัย” นพ.จิรพงษ์กล่าว

นพ.จิรพงษ์กล่าวอีกว่า การปฏิบัติงานครั้งนี้ที่เลือกใช้รถกู้ชีพและทีมแพทย์ฉุกเฉินออกปฏิบัติการรอบๆ พื้นที่การชุมนุม มากกว่าเปิดเป็น รพ.สนามที่ถาวรในพื้นที่ชุมนุม เนื่องจากการประเมินสถานสถานการณ์พบว่า มวลชนมีการเปลี่ยนแปลง เคลื่อนย้ายตลอดเวลา ประกอบกับโรงพยาบาลรอบพื้นที่มีการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ ทั้งนี้ หากเกิดการเจ็บป่วยระหว่างชุมนุมหรือบาดเจ็บจากการปะทะกัน ทีมกู้ชีพสามารถประสานงานกับผู้นำมวลชนกู้ชีพมูลนิธิ นำผู้ป่วย/ผู้บาดเจ็บออกนอกพื้นที่ รักษาในสิ่งที่จำเป็น เน้นการช่วยชีวิต ลดระยะเวลาการอยู่ในพื้นที่ให้น้อยที่สุด ให้ผู้บาดเจ็บมีอาการคงที่ หรือดีขึ้น ไม่เกิดการบาดเจ็บเพิ่มขึ้น นำส่งผู้บาดเจ็บเข้ารับการรักษาต่อที่โรงพยาบาลอย่างรวดเร็ว เป็นเป้าหมายที่สำคัญของการปฏิบัติการครั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด

นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ได้ให้โรงพยาบาลในสังกัดทุกแห่ง เตรียม 2 เรื่องใหญ่ คือ 1. ให้รับดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินทุกกรณีไม่ว่าจะส่งโดยใครก็ตาม หากเกินกำลังให้ประสานศูนย์บัญชาการส่วนหน้าที่โรงพยาบาลสงฆ์ เพื่อส่งรักษาต่อ 2. ให้สำรองเตียงว่างรับผู้ป่วยฉุกเฉินอย่างน้อยร้อยละ 10 ของจำนวนเตียงทั้งหมด และห้องผ่าตัด เลือด อุปกรณ์เวชภัณฑ์ให้พร้อม

ด้าน นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาสาธารณภัยด้านการแพทย์และสาธารณสุขส่วนหน้า กล่าวว่า ขณะนี้ได้แบ่งพื้นที่ปฏิบัติการรอบทำเนียบรัฐบาลออกเป็น 3 ส่วน โดยกรมการแพทย์ สธ. ดูแลทางด้านเหนือของคลองผดุงกรุงเกษม ทางฝั่งตะวันออกของถนนพระราม 5 ร่วมกับ รพ.รามาธิบดี และรพ.พระมงกุฎเกล้า ที่เหลืออยู่ในความดูแลของ รพ.วชิรพยาบาล สภากาชาด และศูนย์เอราวัณ กทม. แต่ที่เป็นห่วงคือ การลำเลียงผู้ป่วยฉุกเฉินออกจากพื้นที่จะมีความยากลำบาก จึงขอให้ประชาชนโทรแจ้งที่หมายเลขโทรศัพท์ สายด่วนกู้ชีพ 1646 ของเอราวัณ และ 1669 ของศูนย์นเรนทร กระทรวงสาธารณสุข หรือแจ้งผ่านผู้ประสานภายในกลุ่มชุมนุมหรืออาสาสาสมัคร เพื่อแจ้งตำแหน่งผู้ป่วย

"พื้นที่ของ สธ. รพ.รามาธิบดี และ รพ.พระมงกุฎเกล้า ได้ตั้งจุดปฐมพยาบาลรักษาเบื้องต้น ที่บริเวณทางขึ้นทางด่วนยมราช และเป็นจุดรับส่งต่อผู้ป่วยจากที่ชุมนุมเพื่อไปจุดที่ปลอดภัยคือไปโรงพยาบาลต่างๆ จะมีสัญญานไฟวาบแสดงไว้ หากมีผู้ชุมนุมจำนวนมากจะเพิ่มจุดที่สี่แยกวัดเบญจมบพิตร ซึ่งจะมีโรงพยาบาลรับผู้ป่วย 5 แห่ง คือ รพ.ราชวิถี รพ.รามาธิบดี รพ.พระมงกุฎเกล้า รพ.เลิดสิน และรพ.จุฬาลงกรณ์ หรือ รพ.สภากาชาด และมีทีมกู้ชีพชั้นสูงปฏิบัติการรวม 10 ทีม และมีทีมกู้ชีพระดับพื้นฐานของมูลนิธิป่อเต็กตึ้งและร่วมกตัญญูอีกเกือบ 30 ทีมเข้าไปในพื้นที่เพื่อรับผู้ป่วยออกมา หากมีความจำเป็นเพิ่ม ก็สามารถเรียกทีมแพทย์กู้ชีพชั้นสูงจากภูมิภาคได้เพิ่มอีก เช่น สมุทรสาคร สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรีเป็นต้น” ผอ.ศูนย์ส่วนหน้ากล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น