xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ปรับแผนช่วยผู้บาดเจ็บ หลังปะทะหนัก 4 จุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สธ.ปรับแผนช่วยผู้ชุมนุมบาดเจ็บ หลังเกิดเหตุปะทะหนัก จัดทีมพยาบาลเบื้องต้น 6 ทีม 2 จุดช่วยเหลือ พร้อมทีมผู้เชี่ยวชาญชั้นสูงประสานลำเลียงส่งโรงพยาบาล ด้านศูนย์เอราวัณแจ้งผู้บาดเจ็บจากแก๊สน้ำตาวันนี้ นำส่ง รพ.ต่างๆแล้วเพิ่มอีก 19 ราย ด้านวอร์รูม สธ.ขอเวลา 6 โมงเย็น แถลงยอดผู้บาดเจ็บทั้งหมด ชี้ต้องรอตรวจสอบข้อมูลจากโรงพยาบาล
แฟ้มภาพเหตุการยิ่งแก๊สน้ำตาใส่ผู้ชุมนุม
วันนี้(2ธ.ค.)นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)กล่าวว่า จากเหตุการณ์ปะทะบริเวณแยกการเรือน แยกวัดเบญฯ สะพานชมัยมรุเชษ และนางเลิ้ง ได้มีการปรับแผน คือ ทีมจัดการพยาบาลเบื้องต้นได้ส่งเพิ่ม 6 ทีม ลงพื้นที่ 2 จุด และทีมกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับกทม. หรือ ทีมผู้เชี่ยวชาญขั้นสูง จะประจำบริเวณจุดปลอดภัยเพื่อรับผู้ป่วยที่ถูกลำเลียงออกมาจากอาสาสมัครและแพทย์ทหารก่อนนำส่งโรงพยาบาลต่างๆ โดยพื้นที่การจัดการพยาบาลจะแบ่งเป็น 4 ส่วน โซนโรงพยาบาลจากสังกัดกทม.คือ รพ.วชิรพยาบาล รพ.กลาง โซนโรงพยาบาลสังกัดกรมแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข คือ รพ.ราชวิถี รพ.รามาธิบดี โซนสภากาชาดไทย คือ รพ.จุฬา และโซนศิริราชพยาบาล ทั้งหมดเท่ากับมีทีมแพทย์ฉุกเฉิน 14 ทีม แต่ละทีมมี 3-4 คน โดยมีแพทย์ประจำทุกทีม นอกจากนี้ยังทีมสำรองอีก 9 ทีมที่กระทรวงสาธารณสุข

การให้บริการไม่ได้เลือกสีหรือ เลือกข้าง จะให้บริการทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียม ส่วนกรณีที่มีข่าวว่าแพทย์ในพื้นที่ไม่เพียงพอ ความจริงบริเวณจุดปะทะถือเป็นแนวอันตราย ต้องเป็นแพทย์ทหารหรือาสาที่เชี่ยวชาญพื้นที่เท่านั้นที่จะเป็นผู้ลำเลียงผู้ป่วยออกมาให้แพทย์ที่รออยู่ที่จุดปลอดภัย ก่อนจะประเมินเพื่อส่งต่อผู้ป่วย ซึ่งถือเป็นระบบปกติในการทำงาน”นพ.ณรงค์ กล่าว

นพ.ณรงค์ อธิกุลวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ ในฐานะผู้บัญชาการศูนย์บัญชาการการแพทย์ กทม. กระทรวงสาธารณสุข (ส่วนหน้า) กล่าวถึงการดูแลผู้บาดเจ็บจากการชุมนุมว่า ขณะนี้มีผู้บาดเจ็บทั้งจากการถูกแก๊สน้ำตา กระสุนยาง กระสุนปืนจริง และแผลฉีกขาดจากการปะทะต่างๆ โดยในส่วนของผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากการยิงแก๊สน้ำตาสามารถทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้นในแนวปะทะได้โดยทีมแพทย์อาสา ทีมกู้ชีพ มูลนิธิ และทีมแพทย์กู้ชีพขั้นพื้นฐาน (BLS) แล้วจึงนำส่งออกมายังจุดที่ปลอดภัย ซึ่งเป็นจุดที่ทีมปฏิบัติการกู้ชีพขั้นสูง (ALS) ประจำอยู่ ซึ่งขณะนี้ศูนย์ส่วนหน้า รพ.สงฆ์ มีทีม ALS 14 ทีม โดยส่งไปประจำจุดที่ปลอดภัยแล้ว โดยทีมแรกได้ส่งไปยังบริเวณทางขึ้นทางด่วนนางเลิ้ง ส่วนอีกทีมส่งไปยังแยกพล 1 ตามที่ กทม.ร้องขอ ส่วนอีก 2 ชุดได้เข้าไปนำผู้บาดเจ็บออกจากบริเวณแยกวัดเบญจมบพิตร ซึ่งกำลังรอการประสานข้อมูลจำนวนผู้บาดเจ็บจากแต่ละทีมอยู่

นพ.ณรงค์ กล่าวอีกว่า พื้นที่ที่กรมการแพทย์ และ สธ.รับผิดชอบคือ พื้นที่ทางตะวันออกและทางใต้ของถนนราชดำเนิน หากเกิดเหตุอย่างไรก็พร้อมเข้าช่วยเหลือ ซึ่งที่ สธ.ยังมีทีม ALS ไว้สับเปลี่ยนกับทีม ALS ที่ รพ.สงฆ์อีกประมาณ 14 ทีม ซึ่งขอยืนยันว่าจะช่วยกันดูแลผู้ป่วยทุกฝ่าย ทั้งผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ที่ได้รับบาดเจ็บ แบบไม่เลือกข้าง ขอให้ทุกคนวางใจในเรื่องนี้ สำหรับระบบการรับส่งผู้ป่วย หากเกิดเหตุรุนแรงโรงพยาบาลแต่ละสังกัดไม่ว่าจะเป็นสังกัดกระทรวงศึกษาธิการอย่างกลุ่มโรงเรียนแพทย์ สังกัด กทม. หรือ รพ.เอกชนต้องมีส่วนร่วม อย่างเหตุการณ์ปะทะที่บริเวณ ม.รามคำแหง ก็มี รพ.เอกชนหลายแห่งที่รับส่งต่อผู้ป่วยไปดูแล

"การตรวจสอบจำนวนผู้บาดเจ็บต้องขอเวลาในการตรวจสอบข้อมูลก่อน โดยเราจะตรวจสอบเป็นรายบุคคลหลังจากที่รับตัวผู้ป่วยมายังโรงพยาบาลแล้ว ซึ่งข้อมูลจะไม่ผิดไปจากความเป็นจริง ทั้งนี้ ศูนย์ฯจะแจ้งสรุปยอดผู้บาดเจ็บอีกครั้งในเวลา 18.00 น. ทั้งนี้ ก็เพื่อให้ข้อมูลมีความชัดเจนและไม่คลาดเคลื่อน" ผู้บัญชาการศูนย์ส่วนหน้า กล่าว

ทั้งนี้ ศูนย์เอราวัณ กรุงเทพมหานคร รายงานผู้บาดเจ็บเหตุปะทะบริเวณ ม.รามคำแหง เมื่อเวลา 12.00 น. ของวันนี้ (2 ธ.ค.) ว่า มีผู้เสียชีวิต 3 ราย ผู้ได้รับบาดเจ็บ ทั้งหมด 68 ราย อยู่ รพ.รามคำแหง 8 ราย รพ.แพทย์ปัญญา 15 ราย รพ.เพชรเวช 4 ราย รพ.จุฬารัตน 9 1 ราย รพ.ราชวิถี 12 ราย รพ.วิภาราม 7 ราย รพ.รามาธิบดี 8 ราย รพ.คามิลเลียน 2 ราย รพ.นพรัตนราชธานี 1 ราย รพ.พระมงกุฏเกล้า 1 ราย สถาบันนิติเวช 1 ราย รพ.เปาโลโชคชัย 4 1 ราย รพ.จุฬาลงกรณ์ 1 ราย รพ.พญาไท 1 ราย รพ.สิรินธร 4 ราย และ รพ.ลาดพร้าว 1 ราย

สำหรับผู้บาดเจ็บจากแก๊สน้ำตา ข้อมูลเมื่อเวลา 15.20 น. พบว่าได้รับตัวผู้บาดเจ็บเพิ่ม 19 ราย นำส่งคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล 14 ราย รพ.รามาธิบดี 2 ราย รพ.หัวเฉียว 1 ราย และ รพ.ราชวิถี 2 ราย


กำลังโหลดความคิดเห็น