xs
xsm
sm
md
lg

ปราณบุรีโมเดล ศูนย์การเรียนรู้คู่ชุมชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปราณบุรีโมเดล นับว่าเป็นโครงการต้นแบบที่ ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) ร่วมพัฒนาศูนย์การเรียนรู้และวิจัยระบบนิเวศป่าชายเลน บริเวณด้านหลังโรงเรียนปากน้ำปราณวิทยา อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อให้นักเรียน นักศึกษา ประชาชนและผู้ที่สนใจใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ความหลากหลายทางชีวภาพของป่าชายเลน

สมชัย สินแท้ ผู้อำนวยการโรงเรียนปากน้ำปราณวิทยา เล่าให้ฟังว่า ทางโรงเรียนมีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาโรงเรียนในเรื่องของคุณภาพทางด้านวิชาการ ควบคู่ไปกับการสร้างอัตลักษณ์ คือ การเป็นผู้นำด้านการเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลน โดยมีการจัดการเรียนการสอนให้นักเรียนตั้งแต่ ม.1-6 โดยนักเรียนจะสามารถสำรวจ ค้นคว้าและวิจัยทรัพยากรทางธรรมชาติ แล้วนำความรู้ที่สั่งสมมาไปพัฒนาโครงงานต่างๆ ให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชนในท้องถิ่น ตลอดจนเกิดจิตสำนึกในการรักษ์ท้องถิ่นของตน นำไปสู่การต่อยอดเรื่องการเป็นยุวนักวิจัย ยุวมัคคุเทศก์ และการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เพื่อสร้างรายได้ให้หล่อเลี้ยงชุมชนอย่างยั่งยืนต่อไป

“การจัดการเรียนการสอนเราพยายามปลูกฝังให้นักเรียนเห็นคุณประโยชน์ของป่าชายเลน ถ้าป่าชายเลนเขียวขจี สัตว์น้ำนานาพันธุ์ กุ้ง หอย ปู ปลา ซึ่งเป็นแหล่งอาหารที่หล่อเลี้ยงคนในท้องถิ่นย่อมสมบูรณ์ตามไปด้วย นอกจากนักเรียนแล้วเรายังปลูกฝังคนในท้องถิ่นรักและหวงแหนทรัพยากรทางธรรมชาติ ด้วยการต่อยอดด้านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ให้คนเมืองได้สัมผัสกลิ่นอายธรรมชาติ ได้รับประทานอาหารสดๆ ที่อยู่ในท้องถิ่น”

สมชัย เล่าให้ฟังว่า กว่าจะมีผืนป่าชายเลนที่สมบูรณ์อย่างวันนี้ หรือ ปราณบุรีโมเดล ส่วนหนึ่งมาจากธนาคาร ซีไอเอ็มบี และพันธมิตรของธนาคาร 36 บริษัท ร่วมกันจัดโครงการ “ฟูมฟักรักษ์ป่า” ระดมทุนจากการจัดกิจกรรมต่างๆ แล้วนำเงินที่ได้จากการระดมทุนมาดำเนินการสร้างอาคารศูนย์การเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลน ให้นักเรียนและคนในท้องถิ่น ได้ศึกษา โดยภายในศูนย์แห่งนี้จะมีข้อมูลเกี่ยวกับป่าชายเลนและสัตว์น้ำ พร้อมทั้งชี้ให้เห็นคุณประโยชน์นานัปการของผืนป่า เพื่อให้คนในชุมชนลุกขึ้นมาช่วยกันปลูกป่าเพิ่มขึ้น อนุรักษ์ผืนป่าที่มีอยู่แล้ว ที่สำคัญไม่ตัดหรือทำลายให้เลียนเตียนโลง ถ้าหากคนในท้องถิ่นช่วยกันอนุรักษ์ผืนป่าชายเลนความอุดมสมบูรณ์จะยั่งยืนไปจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน

ประภาส ทองสุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ด้านสื่อสารองค์กร ธนาคารซีไอเอ็มบี บอกว่า โครงการกิจกรรมเพื่อสังคมไม่จำกัดอยู่เพียงแค่การมอบเงินสนับสนุนเท่านั้น แต่พลิกบทบาทช่วยเหลือสังคมสไตล์ระยะยาวและยั่งยืน โดยเน้นการช่วยเหลือและพัฒนาใน 3 ด้านหลักคือ การพัฒนาสังคม การพัฒนาด้านกีฬา และการพัฒนาด้านการศึกษา ยกตัวอย่างโครงการ “ปราณบุรีโมเดล” เราค่อยๆ ผลักดันให้เป็นแหล่งเรียนรู้คู่ชุมชน โดยได้รับความร่วมมือจากโรงเรียน วัด ชุมชน ช่วยกันออกแบบ ทั้งนี้ เพื่อให้ตรงกับความต้องการของคนในท้องถิ่นอย่างแท้จริง

ด้านการศึกษาเราจะเน้นส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับสถาบันการศึกษาในท้องถิ่นทุรกันดาร คือเรามองว่าการศึกษาของไทยยังประสบปัญหาและเกิดความเหลื่อมล้ำอยู่มาก ระหว่างต่างจังหวัดกับเมืองใหญ่ๆ จึงทำโครงการศูนย์คอมพิวเตอร์ เพื่อเชื่อมร้อยระหว่างชุมชน โรงเรียน ครู และนักเรียน รวมทั้งช่วยช่องว่างความเหลื่อมล้ำของเด็กต่างจังหวัดด้วย

ประภาส ให้แง่คิดว่า ปราณบุรีโมเดล หรือศูนย์การเรียนรู้ที่เกิดขึ้น นอกจากจะเป็นการสร้างโอกาสทางการเรียนรู้ให้แก่นักเรียนแล้ว ยังเพิ่มพูนองค์ความรู้ให้แก่คนในชุมชนและท้องถิ่นใกล้เคียง แถมยังสร้างรายได้ให้คนในท้องถิ่นด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น