xs
xsm
sm
md
lg

สอศ.เตรียมเดินสาย 4 ภาค แนะ นร.เลือกอาชีวะ ยันให้ข้อมูลจริง ไม่โฆษณาชวนเชื่อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สอศ.เตรียมเดินสาย 4 ภาค แนะแนวเด็กเรียนต่อสายอาชีพ เพิ่มผู้เรียนอาชีวะ ชี้ครูแนะแนวมีบทบาทสำคัญ ลั่นเดินสู่เป้าหมายเพิ่มเด็กสายอาชีพเป็น 51 ต่อสามัญ 49 ในปี 58 โดยให้ข้อมูลแท้จริง ไร้โฆษณาชวนเชื่อ
ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการ กอศ.
นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (เลขาธิการ กอศ.) กล่าวว่า ขณะนี้ระบบแนะแนวยังมีข้อจำกัดอยู่ โดยเฉพาะครูแนะแนว ซึ่งส่วนใหญ่จะมีอยู่ในโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดใหญ่ ส่วนโรงเรียนมัธยมศึกษาขนาดเล็ก หรือโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาแทบจะไม่มีครูแนะแนวเลย ขณะเดียวกัน แทบจะไม่มีอัตราบรรจุครูแนะแนวใหม่เพิ่มขึ้น เพราะมักจะบรรจุแต่ครูผู้สอนในเนื้อหาวิชาหลักของหลักสูตร อีกทั้งระบบแนะแนวยังอ่อนแออยู่ โดยจะมองกันว่าการแนะแนวเป็นเรื่องของครูแนะแนว แต่ความจริงแล้วเป็นหน้าที่ของครูทุกคนที่ใกล้ชิดเด็ก ดังนั้น ครูทุกคน และผู้บริหารจึงมีหน้าที่แนะแนวแก่เด็กด้วย

นายชัยพฤกษ์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ การแนะแนวจะมีอยู่ 3 อย่าง คือ แนะแนวการเรียน การปรับตัวการใช้ชีวิต และอาชีพ ซึ่งระดับ ม.ต้น จะต้องทำทั้ง 3 เรื่องให้สมดุลกัน เพราะเด็กต้องเรียนอย่างเข้มข้น ขณะเดียวกัน ก็เป็นช่วงเข้าสู่วัยรุ่น และกำลังสำรวจตัวเองว่าจะไปทำงานในด้านใด แต่เมื่อระบบการแนะแนวอ่อนแอทำให้ตัวแปรที่จะมาเลือกว่าตัวเองจะไปเรียนในสายไหนของเด็ก กลายเป็นมาจากตัวแปรนอกระบบการศึกษา ซึ่งมีอิทธิพลมาก โดยเฉพาะค่านิยมในสังคม ดังนั้น หากจะแก้ไขในจุดนี้ก็ต้องไปเคลียร์ที่สังคม ขณะเดียวกัน ระบบการศึกษาเอง จะพึ่งแต่ครูแนะแนวไม่ได้ ต้องทำให้ครูทุกคนเป็นครูแนะแนวที่ให้คำแนะนำแก่เด็กได้ อย่างไรก็ตาม เร็วๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จะจัดประชุม “โครงการเพิ่มสัดส่วนผู้เรียนอาชีวศึกษา โดยสร้างความเข้าใจในการศึกษาต่อสายอาชีพ” ใน 4 ภูมิภาค ซึ่งจะมีครูแนะแนว และผู้บริหารสถานศึกษาทุกสังกัดทั่วประเทศเข้าร่วมประมาณ 12,000 คน

“สอศ.ไม่ได้ตั้งธงไว้ว่าจะขอให้ครูแนะแนวทั่วประเทศกลับไปชี้นำ หรือชักชวนให้เด็กทุกคนต้องมาเรียนสายอาชีพ แต่เราต้องการให้ครูแนะแนวได้รู้ และตระหนักนโยบายของรัฐบาล และสภาวการณ์ความต้องการแรงงานของประเทศ และกลับไปแนะแนวตามหลักวิชาชีพของตน โดยดูว่าเด็กมีความถนัด และเหมาะสมด้านไหน และส่งเสริมสนับสนุนให้เด็กได้ไปในทางเลือกที่ดีที่สุดของเด็ก ส่วนการตัดสินใจว่าจะเลือกเรียนต่อในสายไหนเป็นสิทธิของเด็ก ทั้งนี้ เป้าหมายการเพิ่มสัดส่วนผู้เรียนสายอาชีวะต่อสายสามัญฯ เป็น 51 : 49 ในปีการศึกษา 2558 จะใช้หลักการว่าไม่มีการบังคับ และไม่โฆษณาชวนเชื่อ แต่ต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้องครอบคลุมรอบด้าน และเพียงพอที่จะให้เด็กได้ตัดสินใจในสิ่งที่ดีที่สุด และเหมาะสมที่สุด เราจะไม่ทำผิดในจรรยาบรรณวิชาชีพของความเป็นครู” นายชัยพฤกษ์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น