สุดสลด! พบผู้ป่วยจิตเวชถูกครอบครัวทิ้งคาโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น คาดทั่วประเทศกลายเป็นผู้ป่วยไร้ญาติถึง 500 คน อึ้ง! ย้ายที่อยู่หนี ให้ที่อยู่ปลอม กรมสุขภาพจิตเน้นพัฒนาทักษะผู้ป่วยให้ช่วยเหลือตัวเองได้
วันนี้ (22 พ.ย.) ที่สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยาราชนครินทร์ นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวระหว่างเป็นประธานกิจกรรมปันความรู้ “เปิดบ้านหลังคาแดง ชมพิพิธภัณฑ์จิตเวชแห่งแรก” ว่า ผู้ป่วยจิตเวชถือเป็นบุคคลที่น่าสงสาร เพราะนอกจากจะไม่ทราบถึงอาการป่วยของตัวเองแล้ว ยังไม่ทราบถึงการกระทำของตัวเองที่ทำให้ครอบครัวและคนใกล้ชิดเดือดร้อนด้วย ซึ่งในแต่ละปีมีผู้ป่วยอาการทางจิตเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเครือข่ายของกรมสุขภาพจิต ถึงกว่า 1 ล้านคน ทั้งผู้ป่วยโรคจิตเวชและผู้ที่มีอาการผิดปกติทางจิต ในจำนวนนี้ส่วนหนึ่งเป็นคนเร่ร่อน ไม่มีญาติ ไม่มีหลักฐานแสดงตัว แต่ที่น่าสงสารคือผู้ป่วยจิตเวชที่ถูกครอบครัวนำตัวมาทิ้งไว้ที่โรงพยาบาล แต่เมื่อรักษาหายแล้วกลับไม่มารับกลับ เนื่องจากสืบหาญาติพี่น้องไม่ได้ บางรายย้ายที่อยู่หรือให้ที่อยู่ปลอม คาดว่าทั่วประเทศมีผู้ป่วยจิตเวชไร้ญาติมากถึง 500 ราย ส่วนกลางเฉพาะ กทม.มีมากถึง 300-400 ราย
“จากการสำรวจที่ผ่านมา อย่าง รพ.ศรีธัญญา ซึ่งเป็นโรงพยาบาลจิตเวชขนาดใหญ่ของกรมสุขภาพจิต ต้องแบกรับภาระดูแลผู้ป่วยไร้ญาติกว่า 300 คน เฉพาะในปี 2556 มีถึง 114 คน ซึ่งส่วนใหญ่หาญาติไม่เจอ ผู้ป่วยจำบ้านตัวเองไม่ได้ ซึ่งทางโรงพยาบาลได้ประสานให้กรมประชาสงเคราะห์ รับไปดูแลจำนวนหนึ่ง ในกรณีของผู้ที่หายแล้วและไม่สร้างภาระให้กับผู้อื่น ล่าสุดได้ขอให้แต่ละโรงพยาบาลสรุปตัวเลขผู้ป่วยที่ถูกทอดทิ้งไว้ใน รพ.จิตเวช เพื่อจะได้เป็นการสำรวจสภาพปัญหาและหาทางแก้ไข อย่าง รพ.จิตเวชในต่างจังหวัด เช่น ที่ รพ.สวนปรุง ที่ จ.เชียงใหม่ พบผู้ป่วยถูกทิ้งไว้ในรพ.ในปีนี้ 38 ราย รพ.สวนสราญรมย์ 56 ราย และที่สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา เบื้องต้นทราบว่ามีร่วม 100 ราย บางรายถูกทิ้งไว้นานกว่า 30-40 ปี” อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว
นพ.เจษฎา กล่าวอีกว่า การดูแลรักษาคนไข้ทางจิต สิ่งสำคัญที่สุดคือครอบครัวและชุมชนต้องเข้ามาช่วยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการ ต้องไม่พยายามลดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ป่วย ซึ่งกิจกรรม ปันความรู้ “เปิดบ้านหลังคาแดง ครั้งนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ต้องการให้สังคมภายนอกเห็นศักยภาพของพวกเขา และทางกรมเองก็ได้พยายามที่จะพัฒนาทักษะทุกด้านเพื่อคืนผู้ป่วยจิตเวชเหล่านี้กลับสู่อ้อมกอดของครอบครัวและสังคม โดยเฉพาะการพัฒนาทักษะด้านอาชีพ เช่น งานศิลปะ การร้อยมาลัย เย็บปักถักร้อย ไปจนถึงงานช่างต่างๆ ที่พวกเขามีศักยภาพที่จะทำได้ ภารกิจของกรมสุขภาพจิตในเรื่องนี้ เราเน้นกระบวนการดูแลที่ไม่ใช่เพียงให้ผู้ป่วยหาย แต่มีเป้าหมายที่จะให้ผู้ป่วยอยู่ในชุมชนได้อย่างมีศักดิ์ศรี พึ่งพาตนเองได้ หรือมีอาชีพที่ไม่เป็นภาระต่อผู้อื่นหรือเป็นภาระให้น้อยที่สุด
นพ.เจษฎา กล่าวด้วยว่า เทคนิคง่ายๆ ในการดูแลผู้ป่วยจิตเวชหลังกลับไปอยู่ที่บ้าน นอกจากดูแลเรื่องการกินยาอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอแล้ว คนในครอบครัวและชุมชนควรหลีกเลี่ยงการตำหนิติเตียน หรือแสดงความโกรธเกรี้ยว ผู้ป่วยหลายรายที่กลับไปอยู่บ้านและมีอาการกำเริบอีก เนื่องจากถูกกดดันจากคนรอบข้าง ชุมชน สังคม บีบคั้นทั้งๆ ที่ช่วงที่รักษาหายและออกจากโรงพยาบาลยังสามารถช่วยเหลือตนเองได้ ในต่างจังหวัดบางคนออกจากโรงพยาบาลแล้วก็ไปอยู่วัด ไปช่วยงานพระ บางคนไปทำไร่ไถนา บางคนมีอาชีพเสริมจากที่ได้รับการฝึกอบรมไปจากรพ.จิตเวช
“จากงานวิจัยพบว่า 60-70% อาการทุเลา อาการอันตรายจะหายไป แต่อาการที่อาจหลงเหลืออยู่บ้าง เช่น หลงผิด หวาดระแวง หรือความเสื่อมทางด้านร่างกายโดยเฉพาะสมองยังมีอยู่ แต่ถ้ากินยาต่อเนื่อง สม่ำเสมอ ซึ่งเดี๋ยวนี้ยาที่ใช้ในการรักษาค่อนข้างดี และมีประสิทธิภาพมากกว่าในอดีตมาก ผู้ป่วยก็จะสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ” อธิบดีกรมสุขภาพจิต บอกและว่า แม้จะมีกฎหมายให้รับคนพิการเข้าทำงาน บริษัทส่วนใหญ่ก็มักเลือกกลุ่มพิการทางกาย แต่กลุ่มพิการทางจิตนี่ไม่ค่อยได้รับโอกาส ซึ่งการรักษาคนไข้ทางจิตที่ดีนั้นคือโรงพยาบาล 70% และอีก 30% ครอบครัวและชุมชนต้องช่วยกัน มีที่ให้เขายืน สังคมต้องยอมรับ ให้โอกาส ผู้ป่วยไม่ได้อยากให้สงสาร แต่อยากได้โอกาส” อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว