xs
xsm
sm
md
lg

8 วิธีดูแลตัวเองเมื่อเป็น “มะเร็งตับ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การดูแลสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ป่วยมะเร็งตับมีความพร้อมต่อการรักษา อีกทั้งยังมีส่วนช่วยลดอาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการรักษาได้ด้วย ซึ่งวิธีดูแลตัวเองให้มีสุขภาพที่ดีนั้น คู่มือเรียนรู้สู้มะเร็งตับ ได้แนะนำไว้ทั้งหมด 8 วิธี ดังนี้

1.เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยมีหลักเกณฑ์คือ

- เลือกรับประทานข้าวกล้อง ธัญพืชไม่ขัดสี แต่ไม่ควรรับประทานมากเกินไป เพราะอาจส่งผลให้แน่นท้องมากขึ้นได้

- ผักสามารถเลือกรับประทานผักใบเขียวได้ทุกชนิด แต่หากมีอาการท้องอืดมากควรเลือกผักที่ไม่มีเส้นใยมากนักคือ กะหล่ำปลี ผักกาดขาว ผักบุ้งจีน เป็นต้น

- คาร์โบไฮเดรตรับประทานได้ตามปกติและควรเลือกชนิดย่อยง่าย หากรับประทานได้น้อย อาจดื่มน้ำหวานเพิ่มเพื่อป้องกันน้ำหนักตัวลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย

- ผลไม้ ควรเลือกรับประทานที่มีเนื้อไม่แข็งหรือมีเส้นใยมากจนเกินไป เช่น กล้วย ชมพู่ หากรับประทานผลไม้สดลำบาก อาจดื่มน้ำผลไม้แทนได้ ที่สำคัญควรนำผลไม้มาปอกเปลือกเองแทนการซื้อแบบที่ปอกไว้แล้ว ซึ่งอาจทำให้ติดเชื้อได้

- โปรตีนจากเนื้อสัตว์ นม ควรรับประทานให้มากพอ สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการทางระบบประสาทที่มีผลแทรกซ้อนมาจากตับ เช่น ซึม การควบคุมตนเองผิดปกติ ควรได้รับโปรตีนในปริมาณที่จำกัดภายใต้การดูแลของนักกำหนดอาหาร

- รับประทานอาหารปรุงสุก สะอาด ปราศจากสิ่งปนเปื้อนและสารพิษ

2.แบ่งมื้ออาหารเป็นมื้อเล็กๆ แต่บ่อยครั้ง คือ จากเดิมรับประทานอาหาร 3 มื้อ เช้า กลางวัน เย็น ก็เพิ่มเป็นเช้า สาย กลางวัน บ่าย เย็น และก่อนนอน

3.ดูแลผิวหนังโดยไม่อาบน้ำที่อุ่นจัด เย็นจัด หรืออาบน้ำนานเกินไป ใช้โลชันทาตัวหลังอาบน้เพื่อไม่ให้ผิวแห้ง หากมีอาการคันมากควรแจ้งแพทย์ให้ทราบ เพื่อสั่งจ่ายยาทาหรือรับประทานแก้คันให้

4.พยายามทำตัวให้กระตือรือร้นและสดชื่นแจ่มใสอยู่เสมอ

5.ผ่อนคลายความเครียดด้วยการอ่านหนังสือ ฟังเพลง ปลูกต้นไม้ ทำสมาธิ หรืองานอดิเรกอื่นๆ รวมถึงการท่องเที่ยวในสถานที่ที่มีอากาศปรอดโปร่ง พักผ่อนให้เพียงพอ

6.หลังการรักษาควรตรวจร่างกายตามปกติ เอกซเรย์ ทีซีสแกน ฯลฯ ตามที่แพทย์นัด เพื่อเฝ้าระวังการกลับมาเป็นซ้ำ รวมถึงเพื่อกำหนดแนวทางในการลดหรือป้องกันอาการข้างเคียงจากการรักษาที่อาจเกิดขึ้น

7.หากมีอาการผิดปกติ เช่น มีไข้สูง คลื่นไส้อาเจียนมาก ท้องเสียรุนแรง มีจุดเลือดออกตามผิวหนังหรือมีเลือดออกจากอวัยวะต่างๆ ให้รีบไปพบแพทย์ทันที

และ 8.ออกกำลังกายสม่ำเสมอตามที่สภาพร่างกายเอื้ออำนวย ควรทำการบริหารข้อต่อและกล้ามเนื้อบ่อยๆ เพื่อลดอาการข้างเคียงจากปัญหาข้อยึดติด อย่างไรก็ตาม ก่อนออกกำลังกายควรทราบก่อนว่ามีอะไรที่ควรทำและไม่ควรทำ คือ

***สิ่งที่ควรทำ (Do's)***

ปรึกษาแพทย์ก่อนเริ่มแผนการออกกำลังกาย เพื่อทราบว่าร่างกายมีความพร้อมต่อการออกกำลังกายมากน้อยเพียงไร ส่วนเมื่อออกกำลังกายควรให้ครอบครัวหรือเพื่อนๆ มีส่วนร่วมด้วย นอกจากจะมีคนดูแลความปลอดภัยแล้ว ยังทำให้รู้สึกสนุกขึ้น โดยเริ่มต้นจากการออกกำลังกายอย่างช้าๆ แล้วจึงเพิ่มระยะเวลาในการออกกำลังกายให้นานขึ้นในวันต่อๆ ไป ทั้งนี้ จะต้องแบ่งช่วงพักจากการออกกำลังกายบ่อยขึ้น เช่น หากต้องการเดินเร็ว 30 นาที อาจแบ่งช่วงพักทุก 10 นาที เป็นต้น

***สิ่งที่ไม่ควรทำ (Don'ts)***

ผู้ป่วยมะเร็งตับส่วนใหญ่จะมีตับแข็ง ซึ่งอาจมีเส้นเลือดขอดที่บริเวณตับร่วมด้วย ดังนั้น การออกกำลังกายแบบใดก็ตามที่ต้องมีอาการเกร็งหน้าท้อง เช่น ซิตอัป ก็ควรหลีกเลี่ยง เพราะอาจทำให้เส้นเลือดที่ขอดแตกได้ หากมีอาการโลหิตจางก็ยังไม่ควรออกกำลังกาย ทั้งนี้ ปกติระหว่างการรักษาจะมีการเจาะเลือดเพื่อนับจำนวนเม็ดเลือด ควรถามทีมแพทย์ว่าร่างกายตัวเองมีความพร้อมแล้วหรือยัง นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการว่ายน้ำ ซึ่งมีคลอรีนทำให้ผิวหนังบริเวณที่ฉายรังสีเกิดอาการระคายเคือง เช่นเดียวกับการรับเคมีบำบัด 7-12 วัน ไม่ควรว่ายน้ำในสระน้ำสาธารณะ และหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายในที่สาธารณะ เพราะเคมีบำบัดทำให้ร่างกายรับมือกับเชื้อโรคได้น้อยลง รวมถึงหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายบนพื้นที่ขรุขระหรือลาดชัน เพราะเสี่ยงต่อการหกล้ม

อย่างไรก็ตาม แม้จะออกกำลังกายได้วันละไม่กี่นาที แต่ร่างกายก็ยังได้รับประโยชน์ ซึ่งควรออกกำลังกายอย่างค่อยเป็นค่อยไป หากวันไหนรู้สึกอ่อนเพลียไม่อยากออกกำลังกายก็ควรยืดเส้นยืดสาย เหยียดกล้ามเนื้อในท่าต่างๆ เป็นต้น
 

กำลังโหลดความคิดเห็น