xs
xsm
sm
md
lg

แค่ปรับมุมมองเปลี่ยนความคิด ช่วยลดวิกฤตความรุนแรง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดย...ปวีณรัตน์ เฟื่องสีไหม

ปัจจุบันนี้ปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเด็ก เยาวชน และสตรีนั้นมีให้เห็นเกือบทุกวันผู้กระทำความผิดลงมือทำประหนึ่งว่าบ้านเมืองไม่มีขื่อมีแป และแม้ว่าจะมีองค์กรต่างๆ เกิดขึ้นมามากมายเพื่อที่จะให้ความช่วยเหลือแต่ก็ยังพบว่าไม่สามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ให้หมดไปจากสังคมไทยที่ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองพุทธได้

...ทำไห้ต้องย้อนกลับไปมองสถาบันเล็กๆอย่างครอบครัวว่าสามารถทำหน้าที่อบรมสั่งสอน หรือให้ความอบอุ่นกับเด็กได้มากเพียงใด แม้กระทั้งวิธีการคิดของคนในปัจจัยที่มองว่าปัญหาความรุนแรงเป็นเรื่องส่วนตัวของบุคคลที่ถูกกระทำทำให้สังคมยังมองไม่เห็นและไม่ใส่ใจมากนัก 

จากข้อมูลเรื่องร้องเรียนของศูนย์ช่วยเหลือสังคมหรือ OSCC ตั้งแต่วันที่ 11 ก.ค.จนถึงปัจจุบันพบว่ามีผู้ที่ร้องเรียนเข้ามา 10,847 ราย เป็นเรื่องหลักที่ พม.ให้ความสำคัญคือความรุนแรงให้ครอบครัว758 ราย เรื่องท้องไม่พร้อม169 ราย เรื่องค้ามนุษย์ 110 ราย และค้าแรงงานเด็ก 34 ราย นอกจากนี้ยังมีร้องเรียนเข้ามาที่มูลนิธิ ปวีณาเพื่อเด็กและสตรี 6,195 ราย เฉลี่ยแล้วมีผู้ร้องเรียนเข้ามาวันละ 30 ราย โดยครึ่งหนึ่งเป็นเรื่องความรุนแรงในครอบครัว และข้อมูลศูนย์พึ่งได้ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าตั้งแต่ปี 2550-2556 มีเด็กและสตรีถูกกระทำความรุนแรงและเข้ารับบริการที่ศูนย์พึ่งได้ในโรงพยาบาลจำนวน 117,506 รายเฉลี่ยปีละ 23,501 ราย หรือก่อเหตุทุก 20 วินาที ล่าสุดปี 2554 มีเด็กและสตรีเข้ารับบริการจำนวน 22,565ราย เป็นเด็ก 11,491 ราย เป็นสตรีอายุ 18 ปีขึ้นไป 11,075 ราย โดยผู้กระทำส่วนใหญ่เป็นคนใกล้ชิด เกิดขึ้นในครอบครัว ซึ่งถูกมองว่าเป็นเรื่องส่วนตัว ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบข้อมูลของ พม.กับ สธ.พบว่าการกระทำความรุนแรงใสนครอบครัวมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น

เกี่ยวกับวิธีการหยุดความรุนแรงต่อเด็กและสตรีนั้น ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงษ์ศักดิ์ นักเศรษฐศาสตร์ ได้ให้ความคิดเห็น ว่า การที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของสังคมนั้นจะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการคิดด้านอารยธรรม ปรัชญาในการมองโลก หากสามารถเปลี่ยนได้จะทำให้เกิดการเรียนรู้ที่ยั่งยืน อย่างที่ตนเชื่อว่าเมื่อใดที่มีการคิดจะก็เกิดความรู้ และเมื่อเกิดความรู้ก็จะนำไปสู่การเริ่มต้นที่ดี เพราะฉะนั้นการที่จะก่อให้เกิดสิ่งดีๆในสังคมได้นั้น สังคมจะต้องมีความเอกภาพ ภารดรภาค และเสมอภาค ดั้งนั้น การสร้างกฎกติกาต่างๆ ขึ้นมาจึงจำเป็นที่ต้องตั้งอยู่ 3 สิ่งที่กล่าวไปข้างต้น ซึ่งทั้งหมดจะต้องอยู่บนพื้นฐานความเป็นธรรม เนื่องจากว่ามนุษย์นั้นเป็นสัตว์สังคมที่ต้องอาศัยและพึ่งพากันและกัน โดยการจะเริ่มต้นจากการพึ่งพาอาศัยคนในครอบครัวเดียวกัน ดังนั้น หากต้องการลดความรุนแรงในสังคมให้ได้จริงๆทุกคนในสังคมจะต้องมองกันแบบพี่น้อง คิดด้วยใจเป็นธรรมใช้หลักคิดเชิงปรัชญาเพื่อกำกับตนเองและผู้อื่น เพราะหากไม่เป็นเช่นนั้นแล้วพฤติกรรมที่คนในสังคมกระทำจะทำให้วัฒนธรรมล่วงหล่นได้

ด้าน ศ.(พิเศษ) จรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ให้แนวคิดเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ว่า ในการที่จะหยุดพฤติกรรมความรุนแรงของคนที่กระทำต่อเด็ก สตรีได้นั้นจะต้องมีการมองเข้าไปถึงระบบจิตใจของเขาก่อน ว่าแท้จริงแล้วการจัดการระบบจะต้องทำอย่างไร และมองไปถึงสังคม ชุมชน ค่านิยมที่อยู่รอบๆตัวเขาซึ่งอาจจะต้องสังเกตุไปถึงสิ่งแวดล้อมที่เขาเจอมา สังคมจะต้องไม่หลงผิดคิดว่าการที่จะเป็นผู้นำได้จะต้องเป็นคนที่แข็งแกร่ง ใช้ความรุนแรงในการปฏิบัติหน้าที่ เพราะหากสังคมเป็นเช่นนั้นประเทศไทยอาจจะหมดหวังในการที่จะพัฒนาเพื่อลดความรุนแรงได้ อย่างไรก็ตาม ในประเทศเองมีการสังคมออกเป็นสังคมใหญ่ สังคมขนาดกลาง และสังคมขนาดเล็กนั้นก็หมายถึงครอบครัว ซึ่งปัจจุบันพบว่ามีการใช้ความรุนแรงมากที่สุด ดังนั้นประเทศไทยจึงมีกฎหมาย พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 และพ.ร.บ.คุ้มครองผู้กระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 ขึ้นมาควบคุม

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าครอบครัว สังคม ปัจจัยแวดล้อมเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ทำให้เกิดความรุนแรงในสังคม ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมให้กระทำ หรือให้ถูกกระทำ ดังนั้นสถาบันครอบครัวจะต้องพยายามเข้าใจ และรู้ใจว่าเยาวชนในสมัยนี้ต้องการอะไร พยายามปรับพฤติกรรมลูกเมื่อเห็นว่าสิ่งที่เขาทำอยู่นั้นผิดโดยการไม่ใช้ความรุนแรงเข้าไปสอนจะต้องให้ความรักและโอกาส ด้านสังคมต้องพร้อมที่ให้ความช่วยเหลือและไม่คิดว่าเรื่องของครอบครัวเป็นเรื่องเฉพาะที่ไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวหากพบเห็นการกระทำที่รุนแรงไม่ควรจะนิ่งนอนใจหากสามารถช่วยได้ก็ควรจะทำ ร่วมทั้งคนในสังคมจะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการคิดแบบใหม่โดยเอาใจเขามาใส่ใจเราให้มากขึ้นเพียงเท่านี้ปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นในประเทศไทยก็จะสามารถทุเลาลงได้ขอเพียงแค่อย่ากลัวที่จะลงมือทำ


กำลังโหลดความคิดเห็น