xs
xsm
sm
md
lg

อีสานโพล! ชี้พิษนิรโทษสุดซอยฉุดเรตติ้ง พท.ต่ำเหลือ 34% จาก 44%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อีสานโพล มข.เผยผลสำรวจชาวอีสานไม่เห็นด้วยเร่งผ่านวาระ 3 ดัน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับสุดซอย-เหมาเข่ง ชี้ไม่เหมาะสม ฉุดคะแนนความนิยม พท.ในอีสานลง 10% จาก 44% เหลือ 34% ขณะที่ ผู้บริหาร-อาจารย์-นศ.มจธ.เดินขบวนแสดงพลังค้านนิรโทษกรรม ชี้สร้างมาตรฐานไม่ถูกต้องแก่สังคมไทย ฟากเครือข่ายศิษย์เก่า มธ.ลั่นกลองชวนลูกโดมรวมพลังวันที่ 7 พ.ย.ลานปรีดี ตั้งแต่ 09.00 น.และเดินขบวนไปอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยอ่านแถลงการณ์และเดินขบวนต่อไปยังรัฐสภา ประกาศจุดยืน

ดร.สุทิน เวียนวิวัฒน์ หัวหน้าโครงการอีสานโพล ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เปิดเผยว่าทางอีสานโพลได้ สำรวจความคิดเห็นของชาวอีสานต่อ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับสุดซอย-เหมาเข่งที่พึ่งผ่านวาระ 3 โดยสภาผู้แทนราษฎร โดยทำการสำรวจระหว่างวันที่ 1-3 พ.ย. 2556 จากกลุ่มตัวอย่างชาวอีสานอายุ 18 ปีขึ้นไป 1,190 ราย ในเขตพื้นที่ภาคอีสาน 20 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ หนองคาย ชัยภูมิ เลย อุบลราชธานี อุดรธานี นครพนม หนองบัวลำภู สุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ สกลนคร มุกดาหาร ยโสธร อำนาจเจริญ และบึงกาฬ พบว่า กลุ่มตัวอย่างชาวอีสานไม่เห็นด้วย กับ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับสุดซอย-เหมาเข่ง ที่นิรโทษกรรมคนทุกกลุ่ม ร้อยละ 46.6 เห็นด้วย ร้อยละ 31.6 และไม่แน่ใจ ร้อยละ 21.8

เมื่อถามถึงหากสามารถเลือกได้ ต้องการให้นิรโทษกรรมให้คนกลุ่มใดบ้าง โดยมีกลุ่มที่เกี่ยวข้อง 8 กลุ่มให้พิจารณา พบว่า 1.สำหรับมวลชนกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย อันดับหนึ่ง ร้อยละ 53.4 ต้องการให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม รองลงมาร้อยละ 27.9 ต้องการให้นิรโทษกรรม และอีกร้อยละ 18.7 ไม่แน่ใจ 2.สำหรับแกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ อันดับหนึ่งร้อยละ 67.7 ต้องการให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม รองลงมาร้อยละ 16.7 ต้องการให้นิรโทษกรรม และอีกร้อยละ 15.6 ไม่แน่ใจ 3. สำหรับมวลชนกลุ่มคนเสื้อแดง อันดับหนึ่งร้อยละ 46.0 ต้องการให้นิรโทษกรรม รองลงมาร้อยละ 41.0 ให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และอีกร้อยละ 13.0 ไม่แน่ใจ

หัวหน้าโครงการอีสานโพล กล่าวต่อว่า 4.สำหรับแกนนำคนเสื้อแดง อันดับหนึ่งร้อยละ 51.6 ต้องการให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม รองลงมาร้อยละ 35.9 ต้องการให้นิรโทษกรรม และอีกร้อยละ 12.5 ไม่แน่ใจ 5.สำหรับกลุ่มเจ้าหน้าที่ทหารที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุม อันดับหนึ่งร้อยละ 57.0 ต้องการให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม รองลงมาร้อยละ 22.2 ต้องการให้นิรโทษกรรม และอีกร้อยละ 20.8 ไม่แน่ใจ 6.สำหรับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อันดับหนึ่งร้อยละ 52.4 ต้องการให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม รองลงมาร้อยละ 36.7 ต้องการให้นิรโทษกรรม และอีกร้อยละ 10.9 ไม่แน่ใจ 7. สำหรับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อันดับหนึ่งร้อยละ 72.5 ต้องการให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม รองลงมาร้อยละ 14.4 ต้องการให้นิรโทษกรรม และอีกร้อยละ 13.1 ไม่แน่ใจ 8.สำหรับผู้ต้องหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ อันดับหนึ่งร้อยละ 71.5 ต้องการให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม รองลงมาร้อยละ 14.4 ต้องการให้นิรโทษกรรม และอีกร้อยละ 14.1 ไม่แน่ใจ

ดร.สุทิน กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อสอบถามความเห็นของกลุ่มตัวอย่างชาวอีสานว่า ผู้ที่ถูก คตส.และ ป.ป.ช.ดำเนินคดี จากผลพวงของการรัฐประหารเมื่อ ปี 2549 ควรถูกดำเนินการอย่างไร อันดับหนึ่งร้อยละ 36.5 เห็นว่าควรดำเนินการกระบวนยุติธรรมต่อไป รองลงมาร้อยละ 25.0 ให้นิรโทษกรรม ร้อยละ 17.5 ต้องการให้เริ่มกระบวนการยุติธรรมใหม่ทั้งหมด และอีกร้อยละ 21.0 ไม่แน่ใจ เมื่อสอบถามความเห็นของกลุ่มตัวอย่างชาวอีสานว่า การผ่านวาระ 3 อย่างเร่งรีบของร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมฉบับสุดซอย โดยสภาผู้แทนราษฎร ท่านคิดเห็นอย่างไร อันดับหนึ่งร้อยละ 44.1 คิดว่าไม่เหมาะสม รองลงมาร้อยละ 28.3 ไม่แน่ใจ และอีกร้อยละ 27.6 คิดว่าเหมาะสม และเมื่อถามความคิดเห็นว่าหากมีการเลือกตั้งครั้งใหม่คนอีสานจะเลือกพรรคการเมืองใด พบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ร้อยละ 34.4 จะเลือกพรรคเพื่อไทย (สิ้นไตรมาส 3 ปี 2556 ร้อยละ 44.3) รองลงมาร้อยละ 32.3 ยังไม่ตัดสินใจจะเลือกพรรคใดในขณะนี้ ร้อยละ 14.7 จะโหวตโนไม่เลือกพรรคใด ร้อยละ 10.4 จะเลือกพรรคอื่นๆ และอีกร้อยละ 8.2 จะเลือกพรรคประชาธิปัตย์

“จากผลสำรวจจะเห็นว่า กลุ่มตัวอย่างชาวอีสานยังไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมฉบับสุดซอย หรือเหมาเข่ง และเห็นว่าการเร่งรีบผลักดันฉบับสุดซอยผ่านวาระ 3 โดยสภาผู้แทนราษฎรเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม โดยส่วนใหญ่คนอีสานแล้วอยากให้ทุกกลุ่มเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เว้นแต่กลุ่มมวลชนเสื้อแดงที่คนอีสานจำนวนมากอยากให้มีการนิรโทษกรรมให้ เนื่องจากหลายคนกำลังติดคุกอยู่หรือหลบหนีคดีอยู่ โดย พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับสุดซอย ส่งผลให้คะแนนความนิยมของพรรคเพื่อไทยลดลงทันทีประมาณ 10% จาก 44% เหลือเพียง 34% โดยคนอีสานที่เปลี่ยนใจจากพรรคเพื่อไทยมีความเห็นว่าจะไปเลือกพรรคอื่นแทนที่ไม่ใช่พรรคประชาธิปัตย์ หรือบางกลุ่มก็เลือกโหวตโน ดังนั้นพรรคเพื่อไทยรวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องต้องรับฟังเสียงประชาชนให้มากขึ้น เพื่อปรับกลยุทธ์การสร้างความปรองดองในชาติ โดยยึดหลักนิติรัฐและนิติธรรมเพื่อให้มีข้อขัดแย้งน้อยที่สุด”ดร.สุทิน กล่าว
ภาพจาก ประชาสัมพันธ์ มจธ.
**มจธ.เดินขบวนแสดงพลังค้านนิรโทษกรรม

วันนี้ (5 พ.ย.) เมื่อเวลา 10.00 น. คณะผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากร นักศึกษา และนักศึกษาเก่า มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กว่า 500 คน ร่วมแสดงพลังคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยเริ่มเดินขบวนจาก มจธ.จนถึงหน้าด่านเก็บเงินสุขสวัสดิ์ ทางพิเศษเฉลิมมหานคร ต่อจากนั้นคณะผู้บริหารได้มีการแถลงการณ์คัดค้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม โดยมีข้อความสำคัญ ดังนี้ “คณาจารย์ บุคลากร นักศึกษา และนักศึกษาเก่า ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ยืนยันความเห็นร่วมว่า ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ซึ่งมีเนื้อหาเป็นการสร้างมาตรฐานที่ไม่ถูกต้องขึ้นในสังคมไทย เพราะจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่า การทุจริตคอร์รัปชันมิใช่สิ่งร้ายแรง และในที่สุดก็สามารถหลุดพ้นจากความผิดได้ด้วยการนิรโทษกรรม การนิรโทษกรรม การกระทำความผิดในเรื่องทุจริตคอร์รัปชันจะทำให้การต่อสู้กับปัญหาคอร์รัปชันในสังคมไทยในปัจจุบันไม่ประสบผลสำเร็จและจะเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีให้กับการกระทำในลักษณะนี้ต่อไปในอนาคต อันจะเป็นการทำลายระบบคุณธรรมและจริยธรรมของสังคมอย่างร้ายแรง ดังนั้น คณะผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากร นักศึกษา และนักศึกษาเก่า ของมหาวิทยาลัย รวมทั้งเพื่อนผู้มีจิตสำนึกต่อการดำรงอยู่ของมาตรฐานที่ถูดต้อง และความเป็นธรรมในสังคมไทย ตลอดจนมีความเชื่อมั่นในความดี และสนับสนุนให้แสดงออกในเรื่องความถูกต้อง ร่วมกัน

**ศิษย์เก่า มธ.เตรียมนัดเคลื่อนขบวนต้านนิรโทษ 7 พ.ย.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครือข่ายศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ต้านกฎหมายนิรโทษกรรม ได้นัดรวมตัวแสดงพลังประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านกฎหมายอัปยศ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในวันที่ 7 พ.ย. เวลา 9.00 น.ที่ลานปรีดี มธ.ท่าพระจันทร์ โดยได้กำหนดตารางกิจกรรม ดังนี้ ในเวลา 9.15 น.ฟัง “ธรรมศาสตร์ X-Ray กฎหมายนิรโทษกรรม” โดย ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ 9.30 น.ประกาศแถลงการณ์ “ธรรมศาสตร์ต้านพ.ร.บ.นิรโทษกรรม” โดยคุณบุญสม อัครธรรมกุล นายก อมธ.ปี 2521 นายก อมธ.รุ่นปัจจุบัน และนายกำพล รุจิวิทย์ รองอธิการบดี มธ.ศูนย์รังสิต จากนั้นเวลา 10.00 น.ออกเดินขบวนไปยังรัฐสภาผ่านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ชาวธรรมศาสตร์ประกาศแถลงการณ์ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ต่อมา 11.30-12.00 น.ขบวนทั้งหมดถึงสะพานมัฆวานรังสรรค์ ตรงไปยังรัฐสภา เพื่อยื่นแถลงการณ์ข้อเรียกร้องให้แก่ประธานรัฐสภา ยืนยันประกาศเจตนารมณ์ต่อต้าน กม.นิรโทษกรรมร่วมกัน
 



กำลังโหลดความคิดเห็น