“นิติราษฎร์” โผล่แล้ว!!! ตั้งโต๊ะแถลงค้านเหมาเข่ง ชี้จงใจอ้าง ม.30 ให้ “แม้ว” ได้ประโยชน์ เชื่อทำผิดรัฐธรรมนูญชัด ฟันธงโดนยื่นร้องแน่ ไม่วายโวยไม่ปลดคดีหมิ่นฯขัดหลักเสมอภาค ชู 4 แนวทางแก้ปมขัดแย้ง ยุ ส.ส.โหวตคว่ำก่อนแท้ง
ที่ห้องจิ๊ด เศรษฐบุตร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาเขตท่าพระจันทร์ วันนี้ (31 ต.ค.) กลุ่มอาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ในนามคณะนิติราษฎร์ ร่วมกันแถลงข้อวิจารณ์และจุดยืนต่อการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม แก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. … ที่ผ่านความเห็นชอบของกรรมาธิการเสียงข้างมาก และสภาผู้แทนราษฎรกำลังพิจารณาในวาระ 2
นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ แกนนำคณะนิติราษฎร์ กล่าวว่า การแปรญัตติในชั้นกรรมาธิการ แทนที่จะจำกัดกรอบไว้เฉพาะประชาชน กลับรวมเอาคนอีกจำนวนหนึ่งเข้ามาคือ เจ้าหน้าที่รัฐในทุกระดับ และยังรวมเอาคดีที่มีการฟ้องโดยคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อ่ให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ (คตส.) โดยเฉพาะคดีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีการอ้างว่าจะขัดต่อมาตรา 30 ของรัฐธรรมนูญ ที่ว่าด้วยความเสมอภาค จึงต้องรวมทุกคนเข้ามา ถือว่าเป็นเหตุผลที่ไม่มีน้ำหนัก และสาระสำคัญก็ไม่เหมือนกัน เนื่องจากกรณีเจ้าหน้าที่รัฐมีสาระสำคัญที่ต่างจากประชาชน เพราะถืออำนาจรัฐ จึงไม่ถือว่าขัดต่อหลักความเสมอภาค ในส่วนคดี คตส.ยิ่งไม่เกี่ยวข้อง
“พูดง่ายๆ คือ มีความพยายามนำมาตรา 30 มาอ้างเพื่อให้ครอบคลุมไปถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ส่วนตัวมองว่า ในวาระแรกตอนเสนอร่างฉบับนี้ อาจจะยังไม่คิดว่าจะให้เป็นอย่างนี้ แต่พอเพิ่มภายหลังมาจึงขัดหลักวิธีในการตรากฎหมาย เพราะการตรากฎหมายจะต้องปฏิบัติตามมาตรา 117 วรรค 3 แห่งข้อบังคับการประชุมสภา ที่ห้ามแก้ไขจนขัดหลักการแห่งร่าง พ.ร.บ.ที่สภารับมาในวาระ 1”
นายวรเจตน์ กล่าวอีกว่า หากมีการนำมาครอบคลุมเช่นนี้ สภาต้องปล่อยให้ร่างนี้ตกไป แล้วไปรับร่างในวาระ 1 ใหม่ ไม่ใช่มาสอดไส้กลางทาง ซึ่งคนที่ไม่ได้เรียนกฎหมายยังเข้าใจได้ คณะนิติราษฎร์เห็นว่าขัดรัฐธรรมนูญ เพราะในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีบทบัญญัติที่บ่งชี้ได้ว่ารัฐธรรมนูญยอมรับสถานะข้อบังคับการประชุมสภา และกำหนดให้สภาต้องปฏิบัติตามข้อบังคับการประชุมในการตราร่าง พ.ร.บ.หากไม่ปฏิบัติแปลว่ากระบวนการตรากฎหมายมีปัญหาความชอบในรัฐธรรมนูญนั่นคือ ในมาตรา 153 วรรค 3 ที่รับรองสถานะการประชุมได้ชัดเจนที่สุด
“การที่สภาฝ่าฝืนขั้นตอน ในความเห็นของคณะนิติราษฎร์มองว่า ไม่ใช่แค่การฝ่าฝืนข้อบังคับเท่านั้น แต่ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญเลยทีเดียว เชื่อว่าหากผ่านชั้นพิจารณาในวุฒิสภา ก็จะมีคนไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ” นายวรเจตน์ กล่าว
นายวรเจตน์ กล่าวว่า ในส่วนเนื้อหามาตรา 3 ของร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่ผ่านชั้นกรรมาธิการมา มีการระบุว่า การกระทำตามวรรคหนึ่งไม่รวมความผิดในประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นั้น ถือว่าขัดต่อหลักเรื่องความเสมอภาค เนื่องจากการนิรโทษกรรมคดีที่เกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมือง หมายความว่า จะต้องนิรโทษกรรมทุกฐานความผิดที่เกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง หรือมาจากความขัดแย้งทางการเมือง หากผิดกฎหมายแล้วเกี่ยวข้องทางการเมืองจะต้องได้รับการนิรโทษกรรม
ถ้ามาบอกว่า คนทำความผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ไม่เกี่ยวกับการเมือง แล้วทางกรรมาธิการรู้ได้อย่างไรว่า ผู้ที่กระทำความผิดไม่เกี่ยวกับความขัดแย้งทางการเมือง หากยังไม่ได้มีการพิสูจน์ จึงมองได้ว่า กรณีนี้จงใจตัดความผิดในมาตรา 112 ออก และขอถามว่า หากความผิดที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับความขัดแย้งทางการเมืองทำไมจึงไม่นิรโทษกรรมให้เขา อะไรคือเหตุผล ดังนั้น มาตรา 112 ต้องได้รับโอกาสเท่ากับความผิดทางอาญาฐานอื่น ถ้าไม่ให้โอกาสความผิดฐานนี้คณะนิติราษฎร์คิดว่า ต้องขัดต่อหลักการเสมอภาคแน่นอน”
นายวรเจตน์ ยังได้เสนอแนวทางแก้ปัญหา ดังนี้ 1.ต้องแยกการกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง ตลอดจนบุคคลที่ไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองแต่กระทำความผิดโดยมีมูลเหตุเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง ออกจากบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหาร
2.ให้ดำเนินการนิรโทษกรรมให้กับบุคคลที่กระทำความผิด เนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง ตลอดจนบุคคลที่ไม่ได้เข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองแต่กระทำความผิดโดยมีมูลเหตุเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง โดยไม่นิรโทษกรรมให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์การชุมนุม ตลอดจนสลายการชุมนุมไม่ว่าจะในฐานะผู้สั่งการหรือผู้ปฏิบัติการ และไม่ว่าจะกระทำในขั้นตอนใดๆ ตามรัฐธรรมนูญว่าด้วยนิรโทษกรรมและการขจัดความขัดแย้งที่คณะนิติราษฎร์ได้เคยเสนอไว้
3.สำหรับบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 ก.ย.49 ให้ลบล้างคำพิพากษา คำวินิจฉัย ตลอดจนการดำเนินกระบวนพิจารณาในทุกขั้นตอนที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากการทำรัฐประหาร ตามข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ว่าด้วยการลบล้างผลพวงรัฐประหาร 4.ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมอยู่ในระหว่างการพิจารณาในวาระที่สองของสภาผ้แทนราษฎร คณะนิติราษฎร์มีข้อเสนอให้ดำเนินการ โดยเนื่องจากคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้แก้ไขเพิ่มเติมร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว จนขัดกับหลักการแห่งร่าง พ.ร.บ.ที่สภาได้มีมติรับหลักการในวาระที่หนึ่ง ทำให้มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
ดังนั้นร่าง พ.ร.บ.ของกรรมาธิการวิสามัญฯ จึงไม่สามารถใช้เป็นฐานในการพิจารณาในวาระที่สองได้ สภาผู้แทนราษฎรจึงสมควรแก้ไขความบกพร่องดังกล่าว โดยการลงมติว่ากระบวนการตรา พ.ร.บ.นี้ ขัดกับข้อบังคับการประชุมสภาข้อ 117 วรรคสาม เพื่อให้ร่าง พ.ร.บ.ของคณะกรรมการวิสามัญฯ ตกไป และให้สภามีมติยกเลิกคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ชุดเดิม และมีมติตั้งคณะกรรมาธิการเต็มสภา
ขณะที่ นายปิยะบุตร แสงกนกกุล อาจารย์กลุ่มนิติราษฎร์ กล่าวเสริมว่า หากร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนี้ผ่าน ต่อไปในอนาคตจะเกิดปัญหาในระดับผู้บังคับใช้กฎหมาย ซึ่งแต่ละองค์กรไม่ว่าจะเป็นพนักงานสอบสวน อัยการ และศาลอาจจะตีความว่า ใครที่เข้าข่ายจะได้รับการนิรโทษกรรมที่แตกต่างกัน เอาแค่ในระดับของผู้ร่างกฎหมายยังเห็นไม่ตรงกัน คนใช้กฎหมายอาจสับสนยิ่งกว่า อย่างกรณี พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ผ่านมามีคนไปตีความหาว่าคณะนิติราษฎร์สนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ซึ่งยืนยันว่าไม่ใช่
“ในกรณีคดีความต่างๆ ของ พ.ต.ท.ทักษิณ หมายถึงการให้ไปริเริ่มคดีใหม่ตามกระบวนการปกติ ถือเป็นการลบล้างผลพวงของคณะรัฐประหาร ไม่ใช่เอามารวมกับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับนี้ ดังนั้น ถ้าอยากให้เกิดความโปร่งใส ต้องไปริเริ่มทำคดีใหม่ตามขั้นตอนปกติ”