xs
xsm
sm
md
lg

นิติฯ มธ.ออกโรงต้านนิรโทษกรรม “สมคิด” แถลงจุดยืนพร้อมถกร่วม ทปอ.พรุ่งนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดี มธ.
นิติ มธ.ต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ตั้งข้อสังเกตเร่งรัดผ่านข้ามคืน สะท้อนไม่โปร่งใส หวั่นลุกลามขัดแย้ง สร้างปัญหากระบวนการยุติธรรม ละเมิดสิทธิมนุษยชน ด้าน “สมคิด” นัดแถลงจุดยืนค้านกฎหมายนิรโทษกรรม พรุ่งนี้ รวมทั้งถกกำหนดท่าทีร่วมมหา’ลัยแกนนำใน ทปอ.ก่อนเดินหน้ายื่นหนังสือวุฒิสภาขอมีมติไม่รับร่าง ด้านศิษย์เก่านัดรวมตัว ลานปรีดี 7 พ.ย.นี้ ขณะที่ เฟซบุ๊กปรากฏเพจกลุ่มนิสิต/นศ.มหา’ลัยชื่อดังต้านนิรโทษกรรม

วันนี้ (3 พ.ย.) ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยว่า คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ออกแถลงการณ์ในนามคณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มธ.คัดค้านการออกกฎหมายนิรโทษกรรมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายรัฐบาล มีใจความสำคัญตอนหนึ่ง ว่า คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มีความไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งต่อเนื้อหาของร่างกฎหมายนิรโทษกรรมที่มีเนื้อหาขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หลักนิติรัฐและหลักการพื้นฐาน กระบวนการพิจารณาตรากฎหมายที่ขาดความโปร่งใส มีการเร่งรัด ลุกลี้ลุกลน ทั้งที่การตรากฎหมายที่มีความสำคัญและมีผลกระทบต่อสังคมเช่นนี้ ควรมีการรับฟังเสียงประชาชนอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยซึ่งมีจำนวนมากเช่นกัน ในฐานะสถาบันวิชาการที่เปิดการเรียนการสอนวิชากฎหมายที่เก่าแก่ของประเทศไทย ด้วยจิตสำนึกของการเป็นครูผู้สอนกฎหมายที่ได้รับการอบรมสั่งสอนจากบูรพาจารย์ให้ยึดมั่นในหลักความบริสุทธิ์ยุติธรรม มองเห็นปัญหาที่จะส่งผลเสียหายต่อระบบกฎหมายไทย และกระบวนการยุติธรรมของประเทศ ยิ่งไปกว่านั้นคือการละเมิดต่อหลักการสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน จึงไม่อาจนิ่งเฉยหากรัฐสภาจะปล่อยให้มีการตรากฎหมายดังกล่าวออกไป

ดังนั้น คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ ขอชี้แจงให้สังคมและประชาชนทั่วไปทราบว่า 1.ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ โดยในร่างมาตรา 3 มีการแปรญัตติแก้ไขเพิ่มเติมในชั้นคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญวาระที่สองของสภาผู้แทนฯ และสภาผู้แทนฯก็ลงมติให้ความเห็นชอบในวาระที่สาม เป็นความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญในกระบวนการตรา พ.ร.บ.อย่างร้ายแรง เนื่องจากได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาจนทำให้ผิดแผกแตกต่างไปจากหลักการเดิมของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ที่เสนอเข้าสู่การพิจารณาวาระหนึ่ง ทั้งนี้ กมธ.อาจเพิ่มมาตราขึ้นใหม่หรือตัดทอน หรือแก้ไขมาตราเดิมได้ แต่ต้องไม่ขัดกับหลักการแห่งร่าง พ.ร.บ.นั้น

2.เนื้อหาของร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้ขัดแย้งต่อหลักกฎหมายธรรมชาติ อันเป็นคุณธรรมพื้นฐานของการมีกฎหมายขึ้นเพื่อนำไปสู่ความถูกต้องเป็นธรรม รักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม ซึ่งรัฐสภาต้องตระหนักให้มาก แม้จะมีอำนาจตรากฎหมาย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะตรากฎหมายอะไรก็ได้ขึ้นมาใช้ แม้จะมีเสียงข้างมาก แต่ก็ต้องเคารพเสียงข้างน้อยและยึดมั่นต่อหลักนิติรัฐที่มิอาจก้าวล่วงได้ แม้ในอดีตประเทศไทยมีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมหลายครั้ง แต่เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมืองนั้นมี 3 ครั้ง ได้แก่ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนซึ่งกระทำความผิดเกี่ยวเนื่องกับการเดินขบวนเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2516, พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แก่ผู้ซึ่งกระทำผิดเนื่องในการชุมนุมใน มธ.ระหว่างวันที่ 4-6 ตุลาคม 2519, พ.ร.บ.นิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักรตามประมวลกฎหมายอาญาและความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ.2522 โดยกฎหมาย นิรโทษกรรมทั้ง 3 ฉบับกำหนดขอบเขตช่วงเวลาและเหตุการณ์ไม่ยาวนานนักและกำหนดนิรโทษกรรมต่อการกระทำความผิดที่เจาะจงชัดเจน

แถลงการณ์ระบุด้วยว่า สำหรับร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้ กินเวลายาวนานหลายปีตั้งแต่ที่เกิดขึ้นระหว่าง พ.ศ.2547 ถึงวันที่ 8 สิงหาคม 2556 ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนหน้าการรัฐประหารวันที่ 19 กันยายน 2549 ต่อเนื่องกันมาจนถึงปัจจุบัน และลบล้างการกระทำความผิดตามกฎหมายทุกฉบับอย่างที่เป็นอยู่ในร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้ที่เรียกกันว่าเป็นการนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่งทุกฐานความผิดและทุกกฎหมาย ซึ่งตีความได้ว่าจะรวมถึงความผิดอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง แต่เกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชัน การถูกยึดทรัพย์ตกเป็นของแผ่นดินในกรณีร่ำรวยผิดปกติ ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ตัดสินไว้แล้วหลายคดี โดยมีคดีสำคัญคือ คดีการทุจริตการจัดซื้อที่ดินที่ถนนรัชดาภิเษก ซึ่งการกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ และคดียึดทรัพย์ของทักษิณกรณีร่ำรวยผิดปกติ 46,000 ล้าน และคดีอื่นๆ ที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลและของ ป.ป.ช.ทั้งยังเปิดช่องให้บุคคลที่พ้นความผิดเกิดสิทธิในการเรียกร้องสิทธิหรือประโยชน์ใดๆ ในเรื่องอื่นตามมา ซึ่งส่งผลให้รัฐมีหน้าที่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายแก่บุคคลที่พ้นผิดด้วย ตามร่างมาตรา 5 และ 6 ซึ่งเป็นภาระงบประมาณของรัฐที่ต้องนำเงินภาษีของประชาชนมาชดเชย และไม่สามารถตอบคำถามถึงความเป็นธรรมที่รัฐบาลนำเงินภาษีของประชาชนมาชดเชยให้กับบุคคลที่เคยกระทำผิด

3.คณาจารย์นิติศาสตร์มีความเคลือบแคลงในความมุ่งมั่นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายรัฐบาล ที่เสนอร่างกฎหมายที่มีการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน และเร่งรัดการพิจารณาให้แล้วเสร็จอย่างรวดเร็วชั่วข้ามคืน สะท้อนความไม่โปร่งใส ขาดการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและฝ่ายค้าน และความไม่เป็นกลางในการทำหน้าที่ของประธานสภาผู้แทนฯ ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ของรัฐสภาไทย ทั้งสมาชิกพรรคเพื่อไทยซึ่งมีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนฯ เดินทางไปพบ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่หลบหนีคดียังต่างประเทศ หลายวาระทั้งที่เปิดเผยและไม่เปิดเผยต่อสาธารณะ และแสดงออกถึงท่าทีที่สอดคล้องกับความต้องการของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ต้องการให้มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ซึ่งบุคคลดังกล่าวเป็นที่ทราบดีในสังคมไทยและต่างประเทศว่าเป็นผู้มีอิทธิพลเหนือการตัดสินใจของรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย โดยสามารถครอบงำความคิดและบงการอยู่ฉากหลังได้ และสมาชิกสภาผู้แทนฯ พรรคเพื่อไทยก็แสดงออกยอมรับอย่างชัดเจนถึงการเป็นผู้รับใช้บุคคลดังกล่าว พฤติกรรมของ ส.ส.พรรคเพื่อไทย จึงขัดต่อ มาตรา 122 ของรัฐธรรมนูญที่ระบุว่า ส.ส.และ ส.ว.ซึ่งเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย โดยไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติ มอบหมายหรือความครอบงำใดๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์

ในแถลงการณ์ ระบุอีกว่า คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มธ.มีความห่วงกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งในสังคมไทยอันเกิดจากการตรากฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้ จึงขอเรียกร้องให้ ส.ส.และ ส.ว.และรัฐบาล ยุติความพยายามในการตรากฎหมายนิรโทษกรรมแบบเหมาแข่ง ซึ่งขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ทั้งกระบวนการตรากฎหมายและความชอบธรรมในเชิงเนื้อหาอย่างชัดเจน เพื่อรักษาไว้ซึ่งหลักนิติรัฐ และไม่เป็นผู้จุดชนวนสร้างความขัดแย้งแตกแยกของผู้คนเสียเอง ซึ่งหากมีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้น รัฐบาล และ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลจะต้องรับผิดชอบ และขอเรียกร้องประชาชนทั่วไปที่แสดงออกถึงการคัดค้านร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้ ให้ใช้สิทธิและเสรีภาพอย่างเหมาะสมตามกรอบของรัฐธรรมนูญ ขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวัง ละมุนละม่อมต่อประชาชนที่ออกมาชุมนุมคัดค้าน อย่าได้มีการใช้กำลังรุนแรงที่เกินเลยจนเกิดเหตุการณ์ที่น่าเศร้าเสียใจอย่างในอดีตขึ้นอีก

ศ.ดร.สมคิด กล่าวด้วยว่า ในวันที่ 4 พ.ย.นี้ตนพร้อมด้วยประธานสภาอาจารย์ นายกองค์การนักศึกษา และประธานสภานักศึกษา มธ.แถลงเรื่อง “การแสดงจุดยืนของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในการคัดค้านร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรม” เพื่อคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และในวันที่ 7 พ.ย.เวลา 10.00 น. ศิษย์เก่า มธ.จะนัดรวมตัวที่บริเวณลานปรีดี พนมยงค์ ก่อนจะเดินทางไปยื่นหนังสือเพื่อคัดค้านเรื่องดังกล่าวต่อประธานวุฒิสภา และตนในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) จะนัดประชุมหารือกับมหาวิทยาลัยแกนนำในกลุ่ม ทปอ.ได้แก่ มธ. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) และสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า เพื่อกำหนดท่าทีที่ชัดเจนในการคัดค้านเรื่องดังกล่าว จากนั้นจะเดินทางไปยื่นหนังสือเพื่อขอให้วุฒิสภาลงมติไม่รับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนี้ด้วย

ด้าน ผศ.ดร.นิวัต กลิ่นงาม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ(มรภ.) เพชรบุรี ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ทปอ.มรภ.) กล่าวว่า ตนได้มีการหารือกับประธานภูมิภาค ทปอ.มรภ.ทั่วประเทศแล้ว โดยขณะนี้ทุกฝ่ายต่างรวบรวมข้อมูลและประเมินสถานการณ์อย่างรอบด้านเพราะยัง ไม่เชื่อข้อมูลทางการเมืองไม่ว่าจากฝ่ายใด ทั้งนี้ข้อสรุปในเบื้องต้น ทปอ.มรภ.เห็นว่าหากการผลักดันร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้ไม่เป็นไปตามหลัก การความถูกต้องของกฎหมายอย่างเด่นชัด ทาง ทปอ.มรภ.จะมีการเคลื่อนไหวต่อไป แต่หากมหาวิทยาลัยราชภัฏแต่ละแห่ง เห็นสมควรจะดำเนินการเคลื่อนไหวใดๆ ขณะนี้ก็สามารถทำได้ให้เป็นสิทธิ์ของแต่ละสถาบันแต่ยังไม่ใช่ในนามองค์กร ทปอ.มรภ.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในสังคมออนไลน์อย่าง เฟซบุ๊กปรากฏว่ามีการตั้งเพจในนาม นิสิต นักศึกษาของมหาวิทยาลัยชื่อดังต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมด้วย อาทิ เพจ “นิสิตจุฬาฯ ไม่เอานิรโทษกรรม” ล่าสุดมีผู้เข้ามาถูกใจกว่า 21,700 คน, แฟนเพจ “นักศึกษา มจธ.คัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม” มีผู้เข้ามากดถูกใจกว่า 10,000 คน และล่าสุดในวันที่ 3 พฤศจิกายน ปรากฏแฟนเพจ “กลุ่มชาว มธ.ต่อต้าน พ.ร.บ.ล้างผิดฆาตกร” และ “นักศึกษา มจพ. มจธ สจล.คัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม คัดค้าน พ
ร.บ.นิรโทษกรรม”, ”ประชาคมทับแก้วต้านนิรโทษกรรม” เป็นต้น


ภาพ https://www.facebook.com/pages/นิสิตจุฬาฯไม่เอานิรโทษกรรม
ภาพ https://www.facebook.com/pages/นักศึกษา-มจธ-คัดค้าน-พรบ-นิรโทษกรรม
ภาพ https://www.facebook.com/tunomaokheng
กำลังโหลดความคิดเห็น