xs
xsm
sm
md
lg

มธ.แถลงการณ์ต้าน ราชสกุล-ราชนิกุลค้านทูลเกล้านิรโทษ ดาราIGถล่มแหลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (3 พ.ย.) ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เปิดเผยว่า คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ได้ออกแถลงการณ์ ในนามคณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มธ. คัดค้านการออกกฎหมายนิรโทษกรรมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายรัฐบาล มีใจความสำคัญตอนหนึ่ง ว่า คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มีความไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งต่อเนื้อหาของร่างกฎหมายนิรโทษกรรมที่มีเนื้อหาขัดต่อรัฐธรรมนูญ หลักนิติรัฐ และหลักการพื้นฐาน กระบวนการพิจารณาตรากฎหมายที่ขาดความโปร่งใส มีการเร่งรัด ลุกลี้ลุกลน ทั้งที่การตรากฎหมายที่มีความสำคัญ และมีผลกระทบต่อสังคม ควรมีการรับฟังเสียงประชาชนอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ซึ่งมีจำนวนมากเช่นกัน
ในฐานะสถาบันวิชาการที่เปิดการเรียนการสอนวิชากฎหมายที่เก่าแก่ของประเทศไทย ด้วยจิตสำนึกของการเป็นครูผู้สอนกฎหมายที่ได้รับการอบรมสั่งสอนจากบูรพาจารย์ให้ยึดมั่นในหลักความบริสุทธิ์ ยุติธรรม มองเห็นปัญหาที่จะส่งผลเสียหายต่อระบบกฎหมายไทย และกระบวนการยุติธรรมของประเทศ ยิ่งไปกว่านั้นคือ การละเมิดต่อหลักการสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน จึงไม่อาจนิ่งเฉยหากรัฐสภาจะปล่อยให้มีการตรากฎหมายดังกล่าวออกไป
ดังนั้น คณาจารย์คณะนิติศาสตร์ ขอชี้แจงให้สังคมและประชาชนทั่วไปทราบว่า
1.ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้ มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ โดยในร่าง มาตรา 3 มีการแปรญัตติแก้ไขเพิ่มเติมในชั้นคณะกรรมาธิการ(กมธ.) วิสามัญวาระที่สอง ของสภาผู้แทนฯ และสภาผู้แทนฯ ก็ลงมติให้ความเห็นชอบในวาระที่สาม เป็นความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญในกระบวนการตรา พ.ร.บ.อย่างร้ายแรง เนื่องจากได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหา จนทำให้ผิดแผกแตกต่างไปจากหลักการเดิมของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ที่เสนอเข้าสู่การพิจารณาวาระหนึ่ง ทั้งนี้ กมธ. อาจเพิ่มมาตราขึ้นใหม่หรือตัดทอน หรือแก้ไขมาตราเดิมได้ แต่ต้องไม่ขัดกับหลักการแห่ง ร่าง พ.ร.บ.นั้น
2. เนื้อหาของร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้ ขัดแย้งต่อหลักกฎหมายธรรมชาติ อันเป็นคุณธรรมพื้นฐานของการมีกฎหมายขึ้นเพื่อนำไปสู่ความถูกต้องเป็นธรรม รักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม ซึ่งรัฐสภาต้องตระหนักให้มาก แม้จะมีอำนาจตรากฎหมาย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะตรากฎหมายอะไรก็ได้ขึ้นมาใช้ แม้จะมีเสียงข้างมาก แต่ก็ต้องเคารพเสียงข้างน้อย และยึดมั่นต่อหลักนิติรัฐที่มิอาจก้าวล่วงได้ แม้ในอดีตประเทศไทยมีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมหลายครั้ง แต่เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมืองนั้น มี 3 ครั้ง ได้แก่ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน ซึ่งกระทำความผิดเกี่ยวเนื่องกับการเดินขบวนเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2516 , พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แก่ผู้ซึ่งกระทำผิดเนื่องในการชุมนุมใน มธ. ระหว่างวันที่ 4 ถึงวันที่ 6 ตุลาคม 2519, พ.ร.บ.นิรโทษกรรมผู้กระทำความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักรตามประมวลกฎหมายอาญาและความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ.2522 โดยกฎหมาย นิรโทษกรรมทั้ง 3 ฉบับ กำหนดขอบเขตช่วงเวลาและเหตุการณ์ไม่ยาวนานนัก และกำหนดนิรโทษกรรมต่อการกระทำความผิดที่เจาะจงชัดเจน
สำหรับร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้ กินเวลายาวนานหลายปี ตั้งแต่ที่เกิดขึ้นระหว่าง พ.ศ.2547 ถึงวันที่ 8 สิงหาคม 2556 ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนหน้าการรัฐประหารวันที่ 19 กันยายน 2549 ต่อเนื่องกันมาจนถึงปัจจุบัน และลบล้างการกระทำความผิดตามกฎหมายทุกฉบับอย่างที่เป็นอยู่ในร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้ ที่เรียกกันว่าเป็นการนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่งทุกฐานความผิด และทุกกฎหมาย ซึ่งตีความได้ว่า จะรวมถึงความผิดอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง แต่เกี่ยวข้องกับการทุจริต คอร์รัปชัน การถูกยึดทรัพย์ตกเป็นของแผ่นดินในกรณีร่ำรวยผิดปกติ ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ตัดสินไว้แล้วหลายคดี โดยมีคดีสำคัญคือ คดีการทุจริตการจัดซื้อที่ดินที่ถนนรัชดาภิเษก ซึ่งการกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ และคดียึดทรัพย์ของทักษิณ กรณีร่ำรวยผิดปกติ 46,000 ล้านบาท และคดีอื่นๆ ที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลและของ ป.ป.ช. ทั้งยังเปิดช่องให้บุคคลที่พ้นความผิด เกิดสิทธิในการเรียกร้องสิทธิหรือประโยชน์ใดๆ ในเรื่องอื่นตามมา ซึ่งส่งผลให้รัฐมีหน้าที่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายแก่บุคคลที่พ้นผิดด้วย ตามร่าง มาตรา 5 และ 6 ซึ่งเป็นภาระงบประมาณของรัฐที่ต้องนำเงินภาษีของประชาชนมาชดเชย และไม่สามารถตอบคำถามถึงความเป็นธรรม ที่รัฐบาลนำเงินภาษีของประชาชนมาชดเชยให้กับบุคคลที่เคยกระทำผิด
3. คณาจารย์นิติศาสตร์มีความเคลือบแคลงในความมุ่งมั่นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายรัฐบาล ที่เสนอร่างกฎหมายที่มีการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน และเร่งรัดการพิจารณาให้แล้วเสร็จอย่างรวดเร็วชั่วข้ามคืน สะท้อนความไม่โปร่งใส ขาดการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และฝ่ายค้าน และความไม่เป็นกลางในการทำหน้าที่ของประธานสภาผู้แทนฯ ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ของรัฐสภาไทย ทั้งสมาชิกพรรคเพื่อไทย ซึ่งมีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนฯ เดินทางไปพบ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่หลบหนีคดียังต่างประเทศ หลายวาระ ทั้งที่เปิดเผยและไม่เปิดเผยต่อสาธารณะ และแสดงออกถึงท่าทีที่สอดคล้องกับความต้องการของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ต้องการให้มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ซึ่งบุคคลดังกล่าวเป็นที่ทราบดีในสังคมไทย และต่างประเทศว่า เป็นผู้มีอิทธิพลเหนือการตัดสินใจของรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย โดยสามารถครอบงำความคิด และบงการอยู่ฉากหลังได้ และสมาชิกสภาผู้แทนฯ พรรคเพื่อไทยก็แสดงออกยอมรับอย่างชัดเจนถึงการเป็นผู้รับใช้บุคคลดังกล่าว พฤติกรรมของ ส.ส.พรรคเพื่อไทย จึงขัดต่อ มาตรา 122 ของรัฐธรรมนูญที่ระบุว่า ส.ส. และส.ว.ซึ่งเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย โดยไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติ มอบหมายหรือความครอบงำใดๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์
ในแถลงการณ์ ระบุอีกว่า คณาจารย์ คณะนิติศาสตร์ มธ. มีความห่วงกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งในสังคมไทยอันเกิดจากการตรากฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้ จึงขอเรียกร้องให้ ส.ส. และ ส.ว. และรัฐบาล ยุติความพยายามในการตรากฎหมายนิรโทษกรรมแบบเหมาแข่ง ซึ่งขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ทั้งกระบวนการตรากฎหมายและความชอบธรรมในเชิงเนื้อหาอย่างชัดเจน เพื่อรักษาไว้ซึ่งหลักนิติรัฐ และไม่เป็นผู้จุดชนวนสร้างความขัดแย้งแตกแยกของผู้คนเสียเอง ซึ่งหากมีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้น รัฐบาล และ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล จะต้องรับผิดชอบ และขอเรียกร้องประชาชนทั่วไปที่แสดงออกถึงการคัดค้านร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้ ให้ใช้สิทธิและเสรีภาพอย่างเหมาะสมตามกรอบของรัฐธรรมนูญ ขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวัง ละมุนละม่อมต่อประชาชนที่ออกมาชุมนุมคัดค้าน อย่าได้มีการใช้กำลังรุนแรงที่เกินเลย จนเกิดเหตุการณ์ที่น่าเศร้าเสียใจอย่างในอดีตขึ้นอีก

** นัดศิษย์เก่ามธ.รวมพลังที่ลานปรีดี 7 พ.ย.
ศ.ดร.สมคิด กล่าวด้วยว่า ในวันที่ 4 พ.ย.นี้ ตนพร้อมด้วยประธานสภาอาจารย์ นายกองค์การนักศึกษา และประธานสภานักศึกษา มธ.แถลงเรื่อง “การแสดงจุดยืนของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในการคัดค้านร่างพ.ร.บ. นิรโทษกรรม” เพื่อคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และ ในวันที่ 7 พ.ย. เวลา 10.00 น. ศิษย์เก่ามธ. จะนัดรวมตัวที่บริเวณลานปรีดี พนมยงค์ ก่อนจะเดินทางไปยื่นหนังสือเพื่อคัดค้านเรื่องดังกล่าวต่อประธานวุฒิสภา และตนในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย(ทปอ.) จะนัดประชุมหารือกับมหาวิทยาลัยแกนนำในกลุ่ม ทปอ. ได้แก่ มธ. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) และสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า เพื่อกำหนดท่าทีที่ชัดเจนในการคัดค้านเรื่องดังกล่าว จากนั้นจะเดินทางไปยื่นหนังสือเพื่อขอให้วุฒิสภา ลงมติไม่รับ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนี้ด้วย
ด้าน ผศ.ดร.นิวัต กลิ่นงาม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) เพชรบุรี ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ (ทปอ.มรภ.) กล่าวว่า ตนได้มีการหารือกับประธานภูมิภาค ทปอ.มรภ. ทั่วประเทศแล้ว โดยขณะนี้ทุกฝ่ายต่างรวบรวมข้อมูล และประเมินสถานการณ์อย่างรอบด้านเพราะยัง ไม่เชื่อข้อมูลทางการเมืองไม่ว่าจากฝ่ายใด
ทั้งนี้ข้อสรุปในเบื้องต้น ทปอ.มรภ.เห็นว่า หากการผลักดันร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้ไม่เป็นไปตามหลักการ ความถูกต้องของกฎหมายอย่างเด่นชัด ทาง ทปอ.มรภ. จะมีการเคลื่อนไหวต่อไป แต่หากมหาวิทยาลัยราชภัฏแต่ละแห่ง เห็นสมควรจะดำเนินการเคลื่อนไหวใดๆ ขณะนี้ก็สามารถทำได้ ให้เป็นสิทธิ์ของแต่ละสถาบัน แต่ยังไม่ใช่ในนามองค์กร ทปอ.มรภ.

** คณาจารย์มธ.578 คนลงชื่อร่วมต้าน
วานนี้ (3 พ.ย.) คณาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 578 คนร่วมลงนาม ออกจดหมายเปิดผนึก ระบุว่า ตามที่ได้มีการเสนอ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร และสภาผู้แทนราษฎรได้มีการแก้ไขเนื้อหาของร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว ให้ครอบคลุมไปถึงการนิรโทษกรรมไม่เพียงแต่การกระทำของประชาชนอันเกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองและการแสดงออกทางการเมืองเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงการกระทำอื่นๆ ที่ไม่ใช่การกระทำของประชาชน รวมทั้งการกระทำที่เข้าข่ายการทุจริตและคอร์รัปชันทั้งหลายของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วย
การนิรโทษกรรมครั้งนี้จึงเป็นการยกเว้นความผิดในทุกกรณีซึ่งไม่ถูกต้องตามหลักนิติธรรมและหลักแห่งการนิรโทษกรรมที่จะต้องมีเหตุผลและขอบเขตที่ชัดเจน และยังเป็นตัวอย่างให้ผู้กระทำผิดทั้งหลายโดยเฉพาะคดีทุจริตคอร์รัปชันไม่เกรงกลัวกฎหมายของบ้านเมือง อีกทั้งมิได้ทำให้ข้อขัดแย้งทางการเมืองลดลงสมดังเจตนารมณ์ของการออกกฎหมายแต่ประการใด จึงขอคัดค้านร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้และขอเรียกร้องให้วุฒิสภาแสดงออกถึงความรับผิดชอบต่อสังคมไทย ยืนหยัดด้วยหลักนิติธรรมด้วยการลงมติไม่เห็นชอบในร่างกฎหมายที่นำมาซึ่งความแตกแยกอย่างรุนแรงในสังคมไทย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในสังคมออนไลน์อย่าง เฟซบุ๊กปรากฏว่า มีการตั้งเพจในนาม นิสิต นักศึกษาของมหาวิทยาลัยชื่อดังต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมด้วย อาทิ เพจ “นิสิตจุฬาฯ ไม่เอานิรโทษกรรม” ล่าสุดมีผู้เข้ามาถูกใจกว่า 21,700 คน ,แฟนเพจ “นักศึกษา มจธ. คัดค้าน พรบ. นิรโทษกรรม” มีผู้เข้ามากดถูกใจกว่า 10,000 คน และล่าสุดในวันที่ 3 พฤศจิกายน ปรากฎแฟนเพจ “กลุ่มชาว มธ ต่อต้าน พรบ ล้างผิดฆาตกร” และ “นักศึกษา มจพ. มจธ สจล คัดค้าน พรบ.นิรโทษกรรม คัดค้านพรบ.นิรโทษกรรม”,”ประชาคมทับแก้วต้านนิรโทษกรรม”เป็นต้น

**"ราชสกุล-ราชนิกุล"ค้านทูลเกล้าฯ นิรโทษ

เมื่อเวลา 10.00 น.วานนี้ (3พ.ย.) ที่โรงเรียนนาชาติ บางกอก เพรพ พล.ต.ม.จ.จุลเจิม ยุคล ได้นัดประชุมตัวแทนราชสกุล เพื่อหารือสถานการณ์ทางการเมือง อาทิ ราชสกุลยุคล ราชสกุลเสนีวงศ์ ราชสกุลจักรพันธุ์ ราชสกุลดิศกุล ราชสกุลพึ่งบุญ ราชสกุลทองแถม ฯ ราชนิกุล และบุคคลสำคัญทางการเมือง อาทิ น.ต. ประสงค์ สุ่นศิริ อดีต เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) นายชิงชัย มงคลธรรม หัวหน้าพรรคความหวังใหม่ นายบวร ยสินธร ประธานเครือข่ายราษฎรอาสาปกป้อง 3 สถาบัน นายคมสันต์ โพธิ์คง แกนนำสยามประชาภิวัฒน์ ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี อนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาลด้านพลังงานของ วุฒิสภา นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ แกนนำเสื้อหลากสี และมวลชนกลุ่มกองทัพนิรนามกว่า 10 คน
น.ต.ประสงค์ กล่าวว่า ได้รับเชิญให้มาประชุมเพื่อร่วมรับฟัง และให้ข้อมูลและสถานการณ์ต่างๆ โดยแนวทางในการต่อสู้ขณะนี้ ทุกฝ่ายที่รักชาติ รักสถาบัน จะต้องร่วมใจกันเพื่อก้าวไปสู่เป้าหมายเดียวกัน สำหรับแนวทางทุกกลุ่มต้องประสานงานกันเพื่อกำหนดยุทธวิถีเพื่อที่จะเดินไปพร้อมๆ กัน และเชื่อว่าเป้าหมายจะสำเร็จ ตนไม่เห็นด้วยกับ ร่าง พ.ร.บ.นิโทษกรรม เพราะเป็นกฎหมายที่เห็นแก่ตัว ไม่เคารพกติกาหลักนิติรัฐ หลักนิติธรรม ความปรองดอง ซึ่งความสามัคคีจะเกิดขึ้นได้ ต่อเมื่อคนที่ทำผิดต้องยอมรับผิดและถูกลงโทษ ไม่ใช่เอาคนดีกับคนเลว หรือขาวกับดำมาจับมือกัน แล้วบอกว่าให้เซตซีโร่ ให้ล้างความผิดไม่ได้ คนผิดต้องสำนึก
จากนั้นเวลา 11.30 น . พล.ต.ม.จ.จุลเจิมพร้อมด้วย ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รองปลัดกระทรวงมหาดไทย แถลงว่า ในการประชุมของราชสกุลที่เกิดในราชวงศ์จักรี ไม่ว่าจะเป็นวังหน้า วังหลัง วังหลวง เรามาทำความเข้าใจร่วมกัน เพื่อขอฉันทามติว่า จะอยู่เฉยๆ หรือจะเดินหน้าเพื่อปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ เนื่องจากขณะนี้มีการกระทำที่จาบจ้วง บังอาจเกินไป เหมือนพระมหากษัตริย์เป็นเพื่อนเล่น โดยเฉพาะละครที่เล่นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 13 ต.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งมีเนื้อหาส่อนัยยะ ก็มีประชาชนมาถามตนว่า ทำอะไรอยู่ ทำไมคนในราชสกุลอยู่เฉย ปล่อยให้มีการใส่ร้ายและบิดเบือน ปล่อยให้ชาวบ้านที่นอนกลางดิน กินกลางทรายมาปกป้องแทน
พล.ต.ม.จ.จุลเจิม กล่าวว่า ยืนยันว่าการเคลื่อนไหวครั้งนี้จะไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง และการชุมนุมของเวทีต่างๆ ซึ่งแนวทางการเคลื่อนไหวอาจจะทำจดหมายเปิดผนึกให้รัฐบาลออกมาทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยเฉพาะเว็บไซต์ หากมีการจับกุมหรือดำเนินคดีไปแล้ว ขอให้มีการออกข่าวเพื่อเผยแพร่ให้ประชาชนได้รับทราบ วันนี้เป็นการปรึกษาหารือกัน ที่ราชสกุลมาช่วยกันโดยร่วมกับประชาชน ที่มีความจงรักภักดี ขอแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ จากคนไทย 65 ล้านคน ประมาณ 1 ล้านกว่ามาร่วมกัน
พล.ต.ม.จ.จุลเจิม กล่าวต่อว่า เราจะไม่พูดเรื่องการเมือง และคดีของพรรคประชาธิปัตย์ แต่ในเรื่อง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม หลังจากผ่านรัฐสภาแล้วเมื่อถึงปลายน้ำ ตนจะหาแนวทางเพื่อคัดค้านการยื่นทูลเกล้าฯ เนื่องจากกฎหมายฉบับนี้ มีคนไม่เห็นด้วยจำนวนมาก เป็นของที่ไม่ดี ไม่บริสุทธิ์ แล้วยังไปทูลเกล้าฯ ก็ถือว่าเป็นเรื่องไม่บังควร เพราะตนไม่อยากให้เป็นการกดดันพระองค์
"พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เหมือนกับน้ำป่าที่ซัดเข้ามาอย่างรุนแรง ผมก็เหมือนฝ้ายน้ำล้น กันได้ก็ได้ ไม่ได้ก็ให้เบาลง อย่าพยายามโยงผมกับการเมือง แต่เราออกมาปกป้องสถาบันฯ เพราะรู้สึกไม่สบายใจที่รัฐบาลไม่เหลียวแล เรายอมไม่ได้แล้ว ใครมาด่าเราทุกวัน มาตบหน้าเราจนหน้าเราบวม เราก็ทนไม่ได้ จึงอยากจะขอตบกลับบ้าง" พล.ต.ม.จ.จุลเจิม กล่าว
จากนั้นเวลา 13.45 น. พล.ต.ม.จ.จุลเจิม ยุคล กล่าวภายหลังการประชุม ถึงแนวทางการเคลื่อนไหว ว่า ในวันที่ 10 พ.ย. นี้ ตนพร้อมด้วยราชสกุล จะเดินทางไปสักการะ พระบรมราชานุเสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 เพื่อถวายสัตย์ปฏิญาณตนว่า จะปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยขอเชิญชวนประชาชนผู้ที่จงรักภักดีเข้าร่วม ไม่ว่าจะเป็นสีแดง สีเหลือ สีน้ำเงิน เข้าร่วม ส่วนแนวทางการจัดตั้งเวที ตนจะไม่ทำ โดยแนวทางการเคลื่อนไหว หลังวันที่ 10 พ.ย. จะจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อหารือแนวทางการเคลื่อนไหวต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการทำจดหมายเปิดผนึก และการดำเนินคดีกับผู้ที่ละเมิดสถาบัน
เมื่อถามว่า ผู้ที่มาร่วมประชุมในครั้งนี้ จะเข้าร่วมเคลื่อนไหวด้วยใช่หรือไม่ พล.ต.ม.จ.จุลเจิม กล่าวว่า ก็น่าจะชัดเจน ขอให้เป็นคนที่มีใจจงรักภักดี ก็สามารถร่วมได้ ส่วนที่จะถูกมองว่าจะโยงเป็นเรื่องการเมืองนั้น ตนยืนยันว่าไม่เกี่ยว แต่ก็คงจะไปห้ามคนคิดไม่ได้

**คนบันเทิงไม่เอา พ.ร.บ.นิรโทษฯ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในสายคนบันเทิง ก็ออกมาแสดงตนร่วมคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษ กันเป็นจำนวนมาก เพราะเป็นที่แน่ชัดแล้วว่ารัฐบาลทำไปเพื่อผลผลประโยชน์ของ“ทักษิณ ชินวัตร”เพียงคนเดียว ทั้งในเรื่องของการลบล้างความผิดต่างๆ รวมถึงการคืนเงินที่เจ้าตัวได้จากการคอร์รัปชัน กว่า 4.6 หมื่นล้านบาท โดยไม่สนใจว่าจะทำลายหลักกฎหมายของบ้านเมืองรวมถึงผลกระทบในด้านลบที่จะตามมาเป็นลูกโซ่อีกมากมาย

โดยล่าสุดมีดารา ผู้จัดคนเก่ง "หน่อย" บุษกร วงศ์พัวพัน, "หนุ่มแทค" ภรัณยู โรจนวุฒิธรรม รวมถึงดาราสาว "โมเม" นภัสสร บูรณศิริ ฯ ที่ต่างก็ขึ้นในอินสตาแกรมของตนเอง เพื่อคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับสุดซอยที่ว่านี้ พร้อมชักชวนให้คนเข้าไปร่วมลงชื่อคัดค้าน พ.ร.บ.ดังกล่าวที่ www.change.orgด้วย
ขณะที่นักแต่งเพลงชื่อดังของบ้านเราอย่าง "เป็ด" มนต์ชีพ ศิวะสินางกูร ก็ได้ออกมาแสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กของตนเองถึงเรื่องนี้เช่นกัน โดยที่เจ้าตัวได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับคนแดนไกล อดีตผู้นำประเทศหนึ่งว่า ทุกสิ่งที่อีกฝ่ายทำไปโดยไม่สนใจว่าประเทศชาติของตนเองจะวุ่นวายเพียงใด ก็เพราะต้องการเงินหลายหมื่นล้านคืนมากกว่า นอกจากนี้เจ้าตัวยังแสดงความเห็นใจไปยังน้องสาวคนแดนไกลด้วยว่า ต้องมารับหน้าเสื่อแทนพี่ชาย จนถูกประชาชนด่าทอ ค่อนขอดไม่เว้นแต่ละวัน ก่อนบอกว่าปัญหาทุกอย่างจะยุติแน่นอนหากคนแดนไกลที่ว่าจะสำนึกได้ ในสิ่งที่ตนเองกระทำลงไป
“กม.ผ่านแล้วจะกล้ากลับบ้านเหรอครับพี่ ไม่กี่ปีมานี้ก็มีผู้นำประเทศนึง โดนคล้ายๆ พี่นี่แหละ แล้วก็ได้นิรโทษ ก็กลับบ้าน ยังไม่ทันพ้นสนามบิน ก็เป็นไข้โป้งตาย ผมเดาว่าพี่เล็งจะเอาคืนไอ้หลายหมื่นล้านของพี่มากกว่า ถ้าได้แล้วก็คงเปิดตูดไม่กลับมาหรอก โห เงินหลายหมื่นล้านมันเป็นยังไงครับ นึกยังไงผมก็นึกไม่ออก มันทำให้พี่นอนหลับสบายทุกคืนหรือเปล่า เออ แล้วกับน้องสาวพี่อ่ะ ถูกพี่หลอกใช้ด้วยป่าว ผมเห็นบางทีก็สงสาร เมื่อก่อนทำธุรกิจอยู่ดีๆ ก็รวย ก็สวย ปูยังงั้น ปูยังงี้ ดูน่ารักดี ตอนนี้ต้องมาเก๊กมาดเข้ม พูดผิดๆถูกๆ ให้ชาวบ้านด่าค่อนขอดอยู่ทุกวัน หน้างี้แก่เชียว ลูกผัวไม่รู้มีเวลาให้รึเปล่า ปล่อยวางบ้างเถอะพี่ ผมขอร้องพี่อย่างจริงใจ ถ้าพี่ยังคิดอยู่ว่ากูถูกแกล้ง ต้องคืนความยุติธรรมมาให้กู ผมก็อยากสะกิดพี่ว่าแล้วที่พี่เอาเปรียบคนอื่นมาตั้งเท่าไหร่ พี่ก็รู้แก่ใจ ไอ้ที่ว่า set zero ผมว่าเริ่มจากพี่เองแหละ พี่สงบ ทุกอย่างก็สงบ นะพี่นะ”
เช่นเดียวกับอีกหนึ่งคนในแวดวงดนตรีรุ่นใหญ่อย่าง "ดี้ นิติพงษ์ ห่อนาค" ก็ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กตนเองที่ https://www.facebook.com/nitipong.honark โดยระบุว่าตนเชื่อว่านี่ไม่ใช่การร่างกฏหมายเพื่อการปรองดอง แต่เป็นการกระทำเพื่อให้ใครบางคนรอดกลับบ้านได้นั่นเอง.

**“กกร.” ถกค้านพ.ร.บ.นิรโทษฯวันนี้
ส่วนในภาคธุรกิจ นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า จะมีการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่ประกอบด้วย ส.อ.ท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ในวันนี้( 4 พ.ย.) และจะมีการหารือนอกรอบร่วมกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เกี่ยวกับ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่มีการเคลื่อนไหวคัดค้านเกิดขึ้นในขณะนี้ด้วย ซึ่งยอมรับว่าจะมีผลกระทบทางเศรษฐกิจ พร้อมกับการหารือ เตรียมพร้อมการเดินทางร่วมคณะ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ไปประเทศรัสเซีย ระหว่าง 8-11 ธ.ค.นี้
นายวัลลภ วิตนากร รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า การหารือนอกรอบเกี่ยวกับการแสดงจุดยืนของ กกร. ร่วมกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันในเวลา 11.00 น. เนื่องจากก่อนหน้านี้ไม่เคยหารือกันเรื่องนี้อย่างเป็นทางการ ซึ่งจะมีการยื่นหนังสือ หรือดำเนินการอย่างไรต่อไป ก็ต้องดูการประชุมอีกครั้ง จากนั้นค่อยจะเป็นการประชุม กกร. ซึ่งเป็นการประชุมประจำเดือนพฤศจิกายนในเวลา 12.00 น.
นายเกรียงไกร เธียรนุกูล รองประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า กกร.อาจจะมีการหยิบยกประเด็นการคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษฯ มาหารือเพื่อประเมินสถานการณ์ และกำหนดบทบาทและท่าทีของภาคเอกชนร่วมกัน รวมถึงการประเมินผลกระทบต่อทิศทางเศรษฐกิจ ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าหากการคัดค้านมีการยืดเยื้อมากเท่าใด ก็จะยิ่งกระทบต่อความเชื่อมั่นในการลงทุนมากเท่านั้น แต่ในแง่ของพ.ร.บ.นิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง ขณะนี้เองก็มองได้ว่าเกินความจำเป็นที่อาจกระทบด้านจริยธรรม และการยอมรับการดำเนินธุรกิจของไทยในสายตาโลกได้เช่นกัน
“ปัญหาความขัดแย้งของบ้านเมืองเราดำเนินมาช้านานมากแล้ว หากจบเร็วได้เศรษฐกิจก็จะเดินหน้าต่อไปได้เสียที ที่ผ่านมาความขัดแย้งไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจเลย ส่วนภาคเอกชนเองคงไม่อยากเห็นการยืดเยื้อ เพราะช่วงเวลานี้เศรษฐกิจไทยเองก็แย่ ทั้งการส่งออกและการบริโภคในประเทศก็ชะลอตัวมาก”นายเกรียงไกร กล่าว
นายสมมาต ขุนเศษฐ รองประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า ภาคธุรกิจคงไม่สามารถจะนอนรอดูการคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมได้ จำเป็นต้องออกมาแสดงบทบาท เพราะขณะนี้ถือเป็นปัญหาความขัดแย้งของประชาชนมากขึ้น และนั่นย่อมกระทบต่อเศรษฐกิจชาติ หากเศรษฐกิจมีปัญหานักธุรกิจก็ย่อมได้รับผลกระทบไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และรัฐบาลเองควรจะต้องฟังเสียงคนของประเทศที่คัดค้านด้วย ไม่ใช่อ้างเสียงส่วนใหญ่ที่เลือกตั้งมาแล้วจะทำอะไรก็ได้ เพราะระหว่างการบริหารประเทศการเมืองยังจำเป็นต้องฟังเสียงประชาชนจากทุกส่วนอยู่
“การเมืองอย่าลุแก่อำนาจมากไป พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จะสร้างความแตกแยกของประชาชนมากขึ้น ขืนยังดึงดันเดินหน้าประเทศชาติลำบากแน่ เพราะแม้ว่ามาเลเซีย สิงคโปร์ จะเป็นเผด็จการรัฐสภา แต่ภาพรวมเขาทำเพื่อประชาชนและประเทศชาติเป็นหลักแต่รัฐสภาไทย กำลังเผด็จการเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง เวลานี้ราคาสินค้าแพงมาก พี่น้องก็เดือดร้อน เอกชนเคยเตือนรัฐบาลไว้แล้วว่า อย่าขึ้นค่าแรง 300 บาทต่อวันทั่วประเทศ แล้ววันนี้การไม่ฟังเสียงใครเลยแก้ไขอะไรได้หรือไม่ และคนที่เดือดร้อนก็คือพี่น้องคนไทย ถ้าวันนี้ยังดึงดัน แล้วทำให้เศรษฐกิจแย่ คุณกำลังท้าทายประชาชน”นายสมมาต กล่าว
นายธนิต โสรัตน์ เลขาธิการ ส.อ.ท. กล่าวว่า เชื่อว่าคนไทยทุกคนก็ห่วงในกรณีดังกล่าว ว่าจะทำให้ประเทศไทยถึงทางตัน เพราะขณะนี้การเมืองมาถึงยุคที่ทุกพรรคไม่เชื่อมั่นในระบบรัฐสภา ปฏิเสธระบบนิติรัฐ และการแก้กฎหมาย หรือการ ออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ก็เพื่อผลประโยชน์ของใครคนใดคนหนึ่งเท่านั้น ทำให้นโยบายปรองดองการปรองดองเดินมาถึงทางตันที่ไม่มีใครรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ซึ่งจะทำให้ภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทย ที่อยู่ในภาวะเปราะบางตามภาวะเศรษฐกิจโลกไม่สามารถฟื้นตัวได้.
กำลังโหลดความคิดเห็น