“ศรีสุวรรณ” ร้องศาล ปค.เพิกถอนคำมติเถรสมาคม ยกวัดเลียบ จ.บุรีรัมย์ เป็นวัดที่มีพระจำพรรษา
วันนี้ (29 ต.ค.) ที่ศาลปกครอง นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กับพวกรวม 91 คน เข้ายื่นฟ้องสำนักงานงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงานพุทธศาสนาจังหวัดบุรีรัมย์ มหาเถรสมาคม เจ้าคณะ อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ เจ้าคณะบุรีรัมย์ สำนักงานที่ดิน จ.บุรีรัมย์ สาขานางรอง ผู้ว่าราชการ จ.บุรีรัมย์ และอธิบดีกรมที่ดิน เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-8 ต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้สำนักงานที่ดิน จ.บุรีรัมย์ ผู้ว่าฯบุรีรัมย์ และอธิบดีกรมที่ดิน ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ของวัดกุดหรือวัดเลียบ (วัดร้าง) ให้กลับมาเป็นที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามเดิม และให้ชาวบ้านได้กลับมาใช้ประโยชน์ในการทำแปลงเกษตร พืชผักสวนครัว ประปา สนามกีฬา สระน้ำ พิพิธภัณฑ์ชุมชนได้ต่อไปทั้งหมด และขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่ง หรือนิติกรรมใดๆ ในการยกวัดเลียบ (วัดร้าง) จ.บุรีรัมย์ เป็นวัดที่มีพระอยู่จำพรรษา หรือเพิกถอนคำสั่ง หรือมติของมาเถรสมาคม เรื่องการยกวัดเลียบ (วัดร้าง) จ.บุรีรัมย์ ขึ้นเป็นวัดที่มีพระภิกษุอยู่จำพรรษา
นายศรีสุวรรณ กล่าวว่า ในอดีตชาวบ้าน อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ ได้ใช้พื้นที่ว่างดินรกร้างว่างเปล่ากว่า 16 ไร่ ซึ่งเป็นสมบัติของแผ่นดิน ทำมาหากินด้วยการทำแปลงเกษตร ปลูกพืชผักสวนครัว ตามเศรษฐกิจพอเพียง สืบทอดรุ่นต่อรุ่น รวมระยะเวลานาน 60 ปี ตั้งแต่ยุคสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี โดยที่ไม่มีผู้ใดประสงค์จับจองครอบครองที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเอง แต่ในเดือน ส.ค.ปี 2534 ชาวบ้านในพื้นที่ดังกล่าวได้ไปขุดพบวัตถุโบราณหลายชนิด กว่า 60 รายการ ซึ่งเชื่อว่าน่าจะเป็นศิลปกรรมยุคขอมโบราณ หรือเป็นเทวสถานในยุคขอม หรืออาจจะเป็นวัดมาก่อน ชาวบ้านจึงเล็งเห็นความสำคัญของวัตถุโบราณดังกล่าวหากปล่อยไว้โดยไม่รักษา ก็อาจจะสูญหายได้ ชาวบ้านจึงช่วยเรี่ยรายเงินเพื่อสร้างอาคารขึ้นบริเวณที่ดินที่ขุดพบเจอวัตถุโบราณ แต่ต่อมากลับมีพระที่ยึดถือลัทธิธรรมกาย นำโดยพระไพภูมิ วิชชุปัญโญ และคณะ เข้ามาขอใช้พื้นที่ขอสร้างกุฏิขนาดเล็กให้พระสงฆ์อยู่จำพรรษา ไม่เกิน 3 หลังๆ ละไม่เกิน 4 เมตร ซึ่งเบื้องต้นชาวบ้านเห็นชอบด้วย แต่ปรากฏว่ามีการฝ่าฝืนข้อตกลง โดยทำการก่อสร้างกุฏิ ศาลาการเปรียญขนาดใหญ่และขยายอาณาเขตลุกล้ำพื้นที่แปลงเกษตรของชาวบ้าน ทำให้เกิดความเสียหาย ซึ่งการกระทำดังกล่าวทำให้ชาวบ้านเกิดความไม่พอใจ และได้ทำหนังสือร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ เพื่อขอให้เข้ามายุติปัญหา แต่ก็ไม่ได้เป็นผลแต่อย่างใด กลับมีการขยายพื้นที่ปลูกสร้างอาคารเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งมีความพยายามเดินเรื่องเพื่อขอยกฐานะวัดร้าง (วัดเลียบ)ขึ้นเป็นวัดที่มีพระภิกษุอยู่จำพรรษาจนเถรสมาคมให้ความเห็นชอบเมื่อต้นปี 2556 ที่ผ่านมา
นายศรีสุวรรณ กล่าวต่อว่า การยกฐานะวัดเลียบ (วัดร้าง) ขึ้นมาเป็นวัดมีภิกษุจำพรรษา เป็นการดำเนินการที่ผิดต่อกฎหมาย โดยเฉพาะกฎกระทรวง ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2538) ออกตามความ พ.ร.บ.สงฆ์ พ.ศ.2505 ที่กำหนดเงื่อนไขไว้ชัดเจนว่า จะต้องมีชาวบ้านสนับสนุน จะต้องอยู่ห่างไกลจากวัดเดิมที่มีพระจำพรรษาอยู่แล้วกว่า 2 กิโลเมตร แต่ข้อเท็จจริงพื้นที่ดังกล่าวมีระยะทางห่างจากวัดจอมปราสาทเดิมเพียง 500 เมตรเท่านั้น อีกทั้งชาวบ้านเกือบทั้งหมู่บ้านต่อต้านและคัดค้านมาโดยตลอด เนื่องจากมีการบุกรุกพื้นที่ทำการเกษตรของชาวบ้าน และร้องเรียนต่อหน่วยงานต่าง ๆ แต่ไม่เป็นผล ดังนั้น จึงต้องเดินทางมายื่นฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อขอความเป็นธรรม