xs
xsm
sm
md
lg

กรมศิลป์เร่งคืนชีพ “เวียงกุมกาม”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
กรมศิลป์ยันปรับพื้นที่ “เวียงกุมกาม” เสร็จ 15 พ.ย. เตรียมเชื่อมโยงเส้นทางแหล่งเรียนรู้ ด้านวิทยาลัยนาฏศิลป เชียงใหม่ ถ่ายทอดการฟ้อนเวียงกุมกามให้ชาวบ้าน

นายเอนก สีหามาตย์ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ได้จัดทำโครงการพัฒนาเวียงกุมกาม จ.เชียงใหม่ เป็นพื้นที่วัฒนธรรมเพื่อการท่องเที่ยว โดยกรมศิลปากรได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบในด้านการปรับปรุงโครงสร้างภูมิทัศน์ การพัฒนาระบบสาธารณูปการ สาธารณูปโภค การจัดพื้นที่ร้านค้าขายของที่ระลึก อาคารจอดรถ โดยได้มอบหมายให้ สถาปนิกของกรมศิลปากร ร่วมกับ สถาปนิกล้านนา ร่วมกันดำเนินการ โดยใช้งบประมาณ 34 ล้านบาท ทั้งนี้จากการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานในภาพรวม พบว่า มีความคืบหน้าร้อยละ 60 มีการปรับปรุงพัฒนาศูนย์บริการนักท่องเที่ยว อาคารจัดแสดงโบราณวัตถุ การวางระบบไฟฟ้า น้ำประปา การจัดสร้างห้องน้ำและอื่นๆ คาดเสร็จทันตามกำหนด 15 พ.ย.นี้

นอกจากนี้ กรมศิลปากรยังมีแผนการเชื่อมโยงเส้นทางแหล่งโบราณคดี เวียงกุมกาม กับแหล่งเรียนรู้อื่นๆ เพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องประวัติศาสตร์ให้กับนักท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ ซึ่งได้มีการจัดแสดงโบราณวัตถุชิ้นสำคัญที่ขุดพบในพื้นที่เวียงกุมกามมากมาย โดยชิ้นที่พิเศษสุด คือ ส่วนยอดเจดีย์จำลอง ศิลปะล้านนา พุทธศตวรรษที่ 21-22 ทำจากแก้วส่วนบัลลังก์และปล้องยอดไฉนหุ้มด้วยทองคำ ซึ่งได้จากการขุดแต่งที่วัดอีค่าง และ แหวนสำริด หัวแหวนทำเป็นรูปมังกร นอกจากนี้ยังมีเศียรพระพุทธรูป ลวดลายปูนปั้นประดับสถาปัตยกรรมเวียงกุมกาม เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมอบหมายให้พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่ จัดกิจกรรมพิเศษอื่นๆ ตามประเพณี และเทศกาล รองรับนักท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นการแสดง การจัดขันโตก เพื่อให้พิพิธภัณฑ์มีชีวิต และให้บริการประชาชนได้อย่างหลากหลาย

ดร.กษมา ประสงค์เจริญ ผอ.วิทยาลัยนาฏศิลป (วนศ.) เชียงใหม่ กล่าวว่า นศ.เชียงใหม่ ได้รับมอบหมายในส่วนการจัดแสดงประกอบแสงสีเสียง ทุกวันศุกร์ถึงอาทิตย์ กำหนดการแสดง 3 รายการ ได้แก่ การฟ้อนราชสำนักล้านนา การแสดงฟ้อนเวียงกุมกามบูชาพระยาเม็งราย การแสดงกลุ่มชาติพันธุ์กับพื้นบ้านล้านนา ซึ่งนอกจากให้นักศึกษามาร่วมจัดการแสดงแล้ว ยังได้จัดครูนาฏศิลป์มาฝึกสอนให้แก่ชาวบ้านในชุมชนสารภีที่ผ่านการคัดเลือกมาแล้ว 300 คน ซึ่งจะทำให้ชาวบ้านได้มีส่วนร่วม และสามารถบริหารจัดการได้ด้วยตนเองอย่างยั่งยืน ขณะเดียวกันจะเป็นการแสดงมีเอกลักษณ์ที่นำแสดงโดยคนในพื้นที่


กำลังโหลดความคิดเห็น